xs
xsm
sm
md
lg

"ไฮบริด" ชักเก่าไป มีลูกผสมพันธุ์ใหม่เรียก "ไซบริด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นิวส์ไซเอินติสท์ - คำว่า “ไฮบริด” เป็นที่รู้จักกันดีว่าหมายถึง ลูกผสม ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ได้ลูกที่เกิดมามีดีเอ็นเอของพ่อและแม่อย่างละครึ่ง เช่น ล่อ เกิดจากการผสมกันระหว่างม้ากับลา แต่เมื่อไม่นานมานี้มีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นในวงวิชาการอีกแล้ว นั่นคือคำว่า “ไซบริด”

เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้อนุมัติให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างตัวอ่อนที่เป็นลูกผสมระหว่างคนกับสัตว์ เช่น กระต่าย หรือ วัว เป็นต้น เพื่อใช้ในการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ได้ ภายใต้การควบคุมของสำนักงานการเจริญพันธุ์มนุษย์และตัวอ่อนวิทยา (Human Fertilisation and Embryology Authority) แต่วิธีการสร้างตัวอ่อนลูกผสมที่ว่านี้ต่างออกไปจากเดิมที่เป็นการผสมระหว่างอสุจิกับไข่ต่างสายพันธุ์ ซึ่งตัวอ่อนที่ได้มีพันธุกรรมที่รับมาจากพ่อและแม่อย่างละครึ่ง ที่เรียกว่า “ไฮบริด” (hybrid)

ส่วนวิธีที่นักวิจัยอังกฤษใช้สร้างตัวอ่อนลูกผสมระหว่างคนกับสัตว์นั้น ไม่ได้นำเอาอสุจิของสัตว์มาผสมกับไข่ของคน หรือนำอสุจิของคนไปผสมกับไข่ของสัตว์ หากแต่เป็นการนำดีเอ็นเอของคนไปหลอมรวมเข้ากับเซลล์ไข่ของสัตว์ที่เอานิวเคลียสออกไปแล้ว คงเหลือแต่ดีเอ็นเอส่วนของไมโตคอนเดรียที่ยังอยู่ในไซโตพลาส

เมื่อการผสมด้วยวิธีดังกล่าวเจริญเป็นตัวอ่อน จะได้ตัวอ่อนที่มีดีเอ็นเอของคน 99.9% ส่วนอีก 0.1% เป็นดีเอ็นเอของสัตว์ เรียกตัวอ่อนนี้ว่า “ไซบริด” (cybrids) ซึ่งต่างไปจากตัวอ่อนที่เรียกว่า ไฮบริด

ที่ผ่านมามีนักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการสร้างตัวอ่อนไซบริดบ้างแล้ว เช่น ทีมของหุยเจินเซิง (Hui Zhen Sheng) มหาวิทยาลัยเซเคินด์ เมดิคอล เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Second Medical University) ประเทศจีน เคยรายงานผลการวิจัยการสร้างสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนไซบริดระหว่างคนกับกระต่าย และฉีดกลับเข้าไปในกล้ามเนื้อและเซลล์ประสาทได้ในวารสารเซลล์รีเซิร์ช (Cell Reserch) และยังมีตัวอ่อนไซบริดคนกับวัวที่เจริญจนถึงระยะบลาสโตซิสท์ (blastocyst) อีกด้วย

ขณะที่ทีมของบ็อบ ลานซา (Bob Lanza) จากสถาบัน แอดวานซ์ เซลล์ เทคโนโลยี (Advanced Cell Technology) เมืองวอร์เชสเตอร์ (Worcester) มลรัฐแมสซาชูเซ็ตส์ กลับล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง เขาสร้างตัวอ่อนลูกผสมได้ถึงระยะ 16 เซลล์ แล้วหลังจากนั้นตัวอ่อนก็หยุดการเจริญ ลานซาคาดว่าเป็นเพราะสารพันธุกรรมของสัตว์ที่ยังอยู่ในไมโตคอนเดรียไม่ทำงานร่วมกับสารพันธุกรรมของมนุษย์ที่ใส่เข้าไป ซึ่งกรณีนี้ย่อมเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันสักเท่าใด อย่างกระต่ายกับคน แต่หากมีพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกันอย่างวัวกับกระทิง

อย่างไรก็ดี การสร้างตัวอ่อนลูกผสมระหว่างคนกับสัตว์ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ยังเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบถึงผลที่จะได้ และความถูกต้องตามหลักจริยธรรมกันต่อไป ซึ่งหากอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ก็อาจมีผลดีมากกว่าเสีย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายและนโยบายของแต่ละประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น