xs
xsm
sm
md
lg

สทส.รุกสร้างภาพ"พืชจีเอ็ม"โชว์แปลงปลูกกำแพงแสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์รุกสร้างภาพพืช "จีเอ็ม" พานักข่าวลงแปลงทดลอง "มะละกอ" ที่ ม.เกษตรกำแพงแสน พร้อมนำเกษตรกรในเครือข่ายหนุนเทคโนโลยีชีวภาพ ร้องภาครัฐหันมาใส่ใจความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยและพืชจีเอ็มโอมากขึ้น

สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.) พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการปลูกมะละกอจีเอ็มโอทั้งในโรงเรือนตาข่ายและโรงเรือนกระจกที่มีประตู 2 ชั้น พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางชีวภาพของสถาบันดูแลอีกชั้นหนึ่ง อีกทั้งยังได้เตรียมพื้นที่การทดสอบภาคสนามไว้แล้วประมาณ 2 ไร่ในละแวกเดียวกัน

แปลงทดลองดังกล่าวมีพื้นที่รวม 10 ไร่ จัดสรรเป็นพื้นที่ปลูกมะละกอที่ไม่ใช่จีเอ็มพันธุ์แขกดำและปลักไม้ลายจำนวน 140 และ 120 ต้นตามลำดับ เพื่อศึกษาระยะการติดเชื้อไวรัสใบด่างจุดวงแหวนของมะละกอตามธรรมชาติ ซึ่งมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะโรค

ส่วนพื้นที่ของโรงเรือนตาข่ายที่ปลูกมะละกอจีเอ็มต้านทานไวรัสจะอยู่ห่างกันราว 50 เมตร โดยเป็นโรงเรือนตาข่ายช่องถี่ 32 ช่องต่อ 1 ตร.ซม. ล้อมรอบทุกด้าน ซึ่งมีการปลูกทั้งมะละกอจีเอ็มควบคู่มะละกอพันธุ์ธรรมดาเพื่อใช้เป็นชุดควบคุม โดยทั้งหมดปลูกในถังปูนก้นตันสูงประมรณ 1 เมตรถังละหนึ่งต้น

ในถังปลูกดังกล่าวประกอบด้วยชั้นหน้าดินหนา 50 ซม.ซึ่งจะให้ธาตุอาหารแก่พืชตามปกติ ถัดลงมาเป็นชั้นหิน ทราย และหินหนาชั้นละ 15 ซม.โดยถังปูนก้นตันจะตั้งอยู่บนแผ่นพลาสติก ซึ่งพื้นล่างยังประกอบด้วยพื้นทราย ดิน และหินอีกอย่างละชั้นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีรากพืชหรือส่วนใดๆ ของพืชที่เล็ดลอดออกนอกโรงเรือนได้ปะปนกับดิน แมลง หรือจุลินทรีย์ในดินได้

ขณะเดียวกันวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดที่สัมผัสกับมะละกอจีเอ็มอาทิ ดิน ถุงพลาสติก และกระถางปลูก จะถูกทำให้มีชิ้นเล็กลงก่อนอบด้วยความร้อนสูงเพื่อทำลายเชื้อโรคหรือสารอินทรีย์ที่ปนเปื้อนออกทั้งหมด ก่อนนำไปฝังใต้ดินทั้งหมด โดยไม่มีการนำมากลับใช้ใหม่อีก

นอกจากนี้ ยังได้นำนายสุริยา ศรสังข์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซับเสือแมบ ต.นิคม อ.เมือง จ.ลพบุรี เล่าประสบการณ์การเยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวโพดจีเอ็ม ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 28 -31 ส.ค.50 มาเปิดเผยว่า อยากให้รัฐบาลไทยอนุมัติให้มีการทดสอบภาคสนามพืชจีเอ็มในประเทศไทยได้

ทั้งนี้ ตัวเขาเองเป็นเกษตรกรผู้หนึ่งที่เลิกปลูกมะละกออันเป็นผลจากการระบาดของโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวนเมื่อ 2 -3 ปีก่อน แต่เพิ่งทำความรู้จักพืชจีเอ็มโอเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ก่อนหน้าเคยกลัวเพราะมีการนำเสนอภาพลักษณ์ที่น่ากลัวมาโดยตลอด อาทิ จากสื่อและจากบุคคลรอบข้าง

อย่างไรก็ดี จากการเยี่ยมชมแปลงปลูกดังกล่าว พืชจีเอ็มโอถือเป็นพืชที่ให้ผลผลิตดีกว่าพืชธรรมดา แถมยังช่วยลดการใช้สารเคมีในแปลงเกษตรลงได้มาก จึงเกิดผลดีต่อสุขภาพเกษตรกรตามมา

"เดิมทีการปลูกข้าวโพดของฟิลิปปินส์ จะได้ผลผลิตต่ำกว่าของไทยประมาณ 200 กก./ไร่ คือแปลงปลูกของไทยจะมีผลผลิตเฉลี่ย 800 กก./ไร่ ขณะที่ข้าวโพดท้องถิ่นของฟิลิปปินส์จะให้ผลผลิตเพียง 600 กก./ไร่ แต่เมื่อมีการนำข้าวโพดบีทีไปปลูกก็ทำให้ได้ผลผลิตอย่างต่ำที่สุด 1,100 กก./ไร่ และอาจสูงสุดถึง 1,440 กก.ไร่ แถมยังใช้การดูแลรักษาน้อยและค่าใช้จ่ายต่ำลง" นายสุริยา ว่า

นายสุริยา เล่าต่อว่า ในส่วนของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรจากประเทศจีน เขายังได้ทราบถึงปัญหาการใช้สารเคมีมหาศาลในแปลงปลูกฝ้ายด้วย

"ผู้แทนเกษตรกรจากจีนบอกว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จีนจะเป็นผู้นำการปลูกและส่งออกฝ้ายอันดับหนึ่งของโลกด้วยฝ้ายบีที ต่างจากเมื่อก่อนที่ยังไม่มีฝ้ายบีที ที่เกษตรกรจีนจะรู้สึกว่าการเดินเข้าไปในพื้นที่ปลูกจะเหมือนเดินเข้าไปในม่านหมอกของสารเคมีก็ไม่ผิด แต่เมื่อใช้ฝ้ายบีที เกษตรกรจีนกลับลดใช้สารเคมีได้เกือบครึ่งหนึ่ง และแทบไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลงเลย สุขภาพเกษตรกรจีนจึงดีกว่าอดีตมาก" ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซับเสือแมบเผย

นายสุริยา ยังเรียกร้องไปยังภาครัฐด้วยว่า อยากให้รัฐบาลหันมาใส่ใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยและพืชจีเอ็มโอมากขึ้น อีกทั้งอยากให้ฝ่ายต่อต้านพืชจีเอ็มโอออกมาพูดคุยกันอย่างเปิดเผย และช่วยให้เหตุผลด้วยว่าเพราะเหตุใดจึงต่อต้านพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือแม้แต่ทุกภาคส่วนในสังคมที่มีความกังวลในพืชจีเอ็มโอก็ควรออกมาร่วมหาทางออกด้วยกัน เพราะการเกษตรของประเทศถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกคน

"พืชผลปัจจุบันส่งออกไปก็มีปัญหาสารเคมี พอมีอะไรดีกว่าก็ไม่เอากัน ผมว่าน่าจะมีเวทีที่ทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายที่เดือดร้อนมาพูดกันจะดีที่สุด ผมไม่ได้บอกว่าจีเอ็มโอจะเป็นทางออกเดียวของเวลานี้ แต่ย้อนถามกลับไปว่ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ไหม" นายสุริยา ทิ้งท้าย

ด้านนายสายใจ พุทธวัน หมอดินอาสา จาก ต.ชอนสมบูรณ์ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี อีกหนึ่งผู้ร่วมดูงาน ณ ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า เขาเป็นผู้หนึ่งที่รู้จักพืชจีเอ็มโอจากการศึกษาด้วยตัวเองมานานกว่า 5 -6 ปีแล้ว แม้ทีแรกก็รู้สึกกริ่งเกรงพืชจีเอ็มโอเหมือนคนอื่นๆ เช่นกัน แต่ระยะหลังก็พบว่าคนเริ่มเข้าใจมากขึ้น

จากการเยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวโพดบีที ณ ประเทศฟิลิปปินส์ นายสายใจ เผยว่า ทำให้รู้สึกเช่นเดียวกับนายสุริยา คือพืชจีเอ็มมีศักยภาพให้ผลผลิตมากกว่าพืชธรรมดามาก คนฟิลิปปินส์เองก็ชอบพืชจีเอ็มมากเพราะไม่ต้องกังวลกับโรคและแมลง ควบคุมวัชพืชได้ง่าย ผลผลิตต่อไร่สูง มีแต่ข้อดีและแทบไม่มีข้อเสียเลย

"ผมได้ไปดูแปลงข้าวและข้าวโพดของเกษตรกรที่มีการปลูกพันธุ์ปกติ และพันธุ์เทคโนโลยีชีวภาพ มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เกษตรกรของเขาถ้าเปรียบเทียบกับเกษตรกรไทยแล้ว เกษตรกรไทยมีเครื่องมือการเกษตรที่ทันสมัยกว่า แต่เรื่องเมล็ดพันธุ์เราเทียบเขาไม่ได้ ไทยยังล้าหลังอีกมาก" นายสายใจ เกษตรกรผู้ที่ปัจจุบันปลูกฝ้ายและข้าวโพดส่งขายกล่าว

ทั้งนี้ นายสุริยาและนายสายใจ เป็นเกษตรกร 2 จาก 20 คนในโครงการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อการเผยแพร่ความรู้เรื่องเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่และความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับเกษตรกร จ.ลพบุรี จัดโดยสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยนำร่องกับเกษตรกรจาก 3 ตำบลของ จ.ลพบุรี คือ ต.นิคม อ.เมือง, ต.ชอนสมบูรณ์ อ.หนองม่วง และ ต.วังทอง อ.โคกเจริญ มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร จ.ลพบุรี เป็นผู้คัดเลือกเกษตรกรร่วมโครงการ

สำหรับโครงการดังกล่าวได้เน้นการให้ความรู้ความเข้าใจพืชดัดแปลงพันธุกรรมแก่เกษตรกรในเชิงวิทยาศาสตร์ผ่านการอบรมเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.-1 ก.ค.50 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ก่อนที่แต่ละคนจะนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดต่อแก่เกษตรกรในภูมิลำเนา

ผลต่อเนื่องจากโครงการ ทั้งคู่ยังเป็น 2 ใน 5 เกษตรกรระดับผู้นำ จ.ลพบุรี ที่จะสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้สนับสนุนพืชเทคโนโลยีชีวภาพร่วมกับเกษตรกรระดับผู้นำจากจังหวัดอื่นๆ ต่อไปใน 1 -2 ปีข้างหน้าด้วย อาทิ เกษตรกรจาก จ.สระบุรี จ.นครสวรรค์ จ.พิษณุโลก จ.อุบลราชธานี และ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งทุกจังหวัดล้วนมีศักยภาพปลูกพืชจีเอ็มได้







กำลังโหลดความคิดเห็น