บีบีซีนิวส์/ดิอินดิเพนเดนท์ – นักวิทยาศาสตร์เผยตรวจดีเอ็นเอด้วยวิธีใหม่จะช่วยให้รู้ได้ว่าเจ็บป่วยเพราะสารเคมีจริงหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในโรงงานและเหมืองแร่ ใช้เป็นหลักฐานเรียกร้องค่าเสียหายจากนายจ้างได้
ในแต่ละปีมีประชากรอังกฤษกว่า 3,000 คน ต้องเสียชีวิตด้วยโรคที่มีต้นเหตุมาจากแร่ใยหิน และคาดว่าจะมีผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกถึง 10,000 คนในปี 2563 ดร.บรูซ กิลลิส (Dr. Bruce Gillis) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยรัฐอิลลินอยส์ (University of Illinois) สหรัฐฯ จึงพัฒนาวิธีการตรวจสอบดีเอ็นเอผู้ที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากการสัมผัสแร่ใยหินหรือสารเคมีต่างๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการเรียกร้องสิทธิค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยหรือนายจ้างได้ตามกฏหมาย
วิธีตรวจดีเอ็นเอที่ ดร.กิลลิส พัฒนาขึ้นเรียกเทคนิคนี้ว่า “เอ็มเอสดีเอส1” (msds1) สามารถอ่านดีเอ็นเอตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างจำเพาะเจาะจง เมื่อได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายโดยตรงต่อดีเอ็นเอบริเวณนั้น โดยนำดีเอ็นเอของผู้ป่วยไปเปรียบเทียบกับลายพิมพ์ดีเอ็นเอของบุคคลที่สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงและไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆ เลย แต่ ดร.กิลลิส ยังบอกด้วยว่า การตรวจดีเอ็นเอด้วยวิธีดังกล่าวยังต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้ตรวจได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและมีค่าใช้จ่ายถูกลง
กลุ่มบุคคลที่ทำงานในโรงงานหรือเหมืองแร่เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากสารเคมีและมลพิษมากมายในโรงงาน แต่เมื่อคนงานเหล่านั้นล้มป่วยลง นายจ้างอาจไม่เชื่อว่าเกิดจากสารเคมีในโรงงาน หรือในทางกลับกัน ลูกจ้างอาจใช้เหตุผลดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากนายจ้างได้ ซึ่งการตรวจดีเอ็นเอจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า สารเคมีในโรงงานเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยของลูกจ้างจริงหรือไม่
เทคนิคที่ ดร.กิลลิส พัฒนาขึ้น เคยนำไปใช้บ้างแล้วหลายกรณี รวมถึงการเรียกร้องสิทธิของประชาชนที่เจ็บป่วยเนื่องจากได้รับสารพิษที่มาจากโรงผลิตไฟฟ้าของบริษัทพีจีแอนด์อี (Pacific Gas & Electric: PG&E) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีอีริน บรอคโควิช (Erin Brockovich) เป็นตัวแทนของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรม ในที่สุดเธอก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้เดือดร้อนได้ถึง 333 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 10,656 ล้านบาท) ซึ่งเรื่องราวของเธอโด่งดังจนมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อเดียวกันกับชื่อเธอ
ดร.กิลลิส ยังยกตัวอย่างอีกกรณี ที่ลูกจ้างในบริษัทผลิตยางรถยนต์แห่งหนึ่งในอังกฤษฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายจ้างโดยอ้างว่าเขาป่วยเพราะได้รับสารเคมีในโรงงาน ซึ่งนายจ้างก็ให้ตัวแทนจากบริษัทประกันภัยประจำบริษัทออกค่าใช้จ่ายในการตรวจดีเอ็นเอของลูกจ้างคนดังกล่าว ผลปรากฏว่าเขาไม่ได้ป่วยเพราะสารเคมีแต่อย่างใด จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายที่มากมายถึง 1 ล้านปอนด์ (64 ล้านบาท)
“หรืออีกกรณีที่ชายคนหนึ่งได้รับสารเคมีที่ผสมกันอยู่ 8 ชนิดจนป่วยเป็นมะเร็งในถุงน้ำดี แม้ว่าสารเคมีทั้ง 8 ชนิดจะไม่มีสารใดเป็นสารก่อมะเร็งเลย แต่มันก็บ่งชี้ว่าเมื่อมันมารวมกันแล้วมันก็สามารถกระตุ้นให้ยีนผิดปกติจนเป็นมะเร็งได้เหมือนกัน” ดร.กิลลิส ชี้แจง