xs
xsm
sm
md
lg

ฐานข้อมูล “ดีเอ็นเอบาร์โค้ด" ปักเป้าพิษ-ไม้เถื่อน แปรรูปแค่ไหนก็จับได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี/เอเยนซี – ทีมวิจัยนานาชาติร่วมมือทำ “ดีเอ็นเอบาร์โค้ด” ของสิ่งมีชีวิตเกือบ 2 ล้านชนิด หวังใช้เป็นเครื่องมือตรวจหาเนื้อปลาปักเป้า และตรวจสอบความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่วางขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งยังใช้ตรวจหาเฟอร์นิเจอร์ไม้เถื่อนได้ด้วย

ผู้บริโภคอาจต้องเสี่ยงชีวิตกับผลิตภัณฑ์อาหารที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตบางชนิด โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้าเนื้อปลาปักเป้าและนำมาวางขายปะปนกับเนื้อปลาอื่น หรือฉลากอาหารที่อาจไม่ตรงตามส่วนประกอบจริงที่อยู่ในอาหาร ซึ่งเหล่านี้ไม่สามารถแยกได้ด้วยตา แต่ใช้การตรวจดีเอ็นเอช่วยได้ จึงเกิดเป็นโครงการจัดทำฐานข้อมูล “ดีเอ็นเอบาร์โค้ด” ที่ร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์เกือบ 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงผลตรวจดีเอ็นเอชิ้นส่วนสิ่งมีชีวิตต้องสงสัย

“เรากำลังสร้างห้องสมุดบาร์โค้ดดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตไว้เป็นฐานข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้ทั่วโลก สำหรับยืนยันผลการตรวจสอบดีเอ็นเอของผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย” เดวิด สคินเดล (David Schindel) เลขาธิการฝ่ายบริหารของซีบีโอแอล (Consortium for the Barcode of Life: CBOL) และนักวิจัยจากสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institute) สหรัฐฯ ชี้แจง ทั้งนี้ สถาบันสมิธโซเนียนเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนโครงการจัดทำบาร์โค้ดของสิ่งมีชีวิตซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2546

ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจสอบดีเอ็นเอจากตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงในห้องปฏิบัติการ ก็สามารถแยกแยะได้ว่ามาจากสิ่งมีชีวิตชนิดใด โดยค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบแต่ละตัวอย่างประมาณ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 64 บาท) ซึ่งเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (Food and Drug Administration: FDA) ได้นำวิธีนี้ไปใช้ตรวจสอบเนื้อปลานำเข้าจากประเทศจีน ก็พบว่ามีเนื้อปลาปักเป้าปะปนอยู่ด้วย ซึ่งพิษในปลาปักเป้าอาจทำให้ผู้บริโภคเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ดีเอ็นเอบาร์โค้ดยังมีประโยชน์ในการตรวจสอบดีเอ็นเอของไม้จากเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือนและของแต่งบ้านที่ทำจากไม้ เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นไม้ชนิดใด และได้มาจากการลักลอบตัดไม้หรือไม่

“ต้นไม้ที่ผ่านการแปรรูปเป็นไม้กระดานแล้ว หากไม่มีกิ่งไม้ รากไม้ หรือเปลือกไม้หลงเหลืออยู่ ก็ยากที่จะตรวจสอบและระบุชนิดของไม้ได้ แต่ดีเอ็นเอบาร์โค้ดสามารถช่วยเราได้” สคินเดล อธิบาย

นอกจากนี้ ยังใช้ตรวจสอบดีเอ็นเอของนกอพยพที่มักถูกเครื่องบินชนและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในแต่ละปี จนน่าเป็นห่วงว่าจะทำให้นกอพยพลดจำนวนลง การตรวจสอบดีเอ็นเอของนกเหล่านี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษา เส้นทางและฤดูกาลที่นกอพยพเริ่มออกเดินทาง เพื่อจะได้เป็นข้อมูลให้เครื่องบินโดยสารเลี่ยงเส้นทางนั้น หรือการจัดทำดีเอ็นเอบาร์โค้ดของยุงและแมลงพาหะนำโรคต่างๆ จะช่วยให้หาวิธีการกำจัดได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยับยั้งโรคระบาดอย่างมาลาเรียและไข้เลือดออกได้ รวมทั้งประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การคะเนคุณภาพน้ำจากดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้น

อย่างไรก็ดี โครงการจัดทำดีเอ็นเอบาร์โค้ดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆนั้น ทีมวิจัยได้เริ่มต้นไปบางส่วนแล้ว ขณะนี้จัดทำไว้แล้วประมาณ 30,000 ชนิด จากทั้งหมดราว 1.8 ล้านชนิด ซึ่งหากจะให้ได้ครบทุกชนิดก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี โดยนักวิจัยตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ได้ 500,000 ชนิดภายใน 5 ปีนี้ ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการทำดีเอ็นเอบาร์โค้ดของพืชนั้นยากกว่าของสัตว์

กำลังโหลดความคิดเห็น