หากเปรียบการคมนาคมในรูปแบบต่างๆ แล้ว การเดินทางทางอากาศนับว่าปลอดภัย และเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าการคมนาคมประเภทอื่น แต่อุบัติเหตุทางเครื่องบินกับสร้างความสะเทือนใจให้ผู้คนทั่วได้มากกว่า และเป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งขึ้นเมื่อสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นขณะที่ผู้โดยสารกำลังจะถึงที่หมายแล้ว
เว็บไซต์ 1001 แครช ดอทคอม รายงานสถิติเกิดอุบัติเหตุทางอากาศจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ระหว่างปี 2538-2547โดยไม่รวมอุบัติเหตุจากเครื่องบินของสหภาพโซเวียต พบว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในช่วงเครื่องบินกำลังลงจอด (landing) มากที่สุดถึง 51% ของโศกนาฏกรรมทั้งหมด
รองลงมาคือ ช่วงที่เครื่องบินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า (take-off) เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขั้นนี้ 20% ของอุบัติเหตุทางการบินทั้งหมด
ส่วนช่วงที่เกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด คือ ช่วงที่เครื่องบินกำลังลอยอยู่กลางอากาศ โดยมีสถิติเพียง 5% รองลงมาเป็นช่วงเครื่องบินเคลื่อนไปตามลานบิน (taxi) ก่อนทะยานขึ้นซึ่งเกิดอุบัติเหตุ 6% ส่วนช่วงที่เครื่องบินไต่ระดับเพดานบินและลดระดับเพดานบินทำให้เกิดอุบัติเหตุเท่าๆ กันคือ 9%
หากแต่อุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด กลับเป็นช่วงที่เครื่องบินไต่ระดับขึ้นไป ซึ่งมีสถิติผู้เสียชีวิตมากถึง 28% รองลงมาเป็นช่วงที่เครื่องบินทะยานขึ้น 25%
ไล่ๆ กับสถิติอุบัติเหตุขณะเครื่องบินลดระดับเพดานบิน 21% ขณะที่อุบัติเหตุตอนลงจอดทำให้มีผู้เสียชีวิตเพียง 16% และอีก 10% เป็นสถิติอุบัติเหตุขณะเครื่องบินลอยลำอยู่กลางอากาศ
ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดขณะเครื่องบินเคลื่อนไปตามลานบินก่อนทะยานขึ้นยังไม่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเลย
ส่วนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้น ตามสถิติที่ 1001 แครช ดอทคอม รวบรวมไว้ พบว่า 56% มาจากลูกเรือของเที่ยวบินนั้นๆ ขณะที่สภาพของเครื่องบินมีผลต่ออุบัติเหตุ 17% ส่วนสภาพอากาศและทัศนวิสัยทำให้เกิดสถิติอุบัติเหตุ 13%
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจิปาถะอื่นๆ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ 6% สำหรับสภาพสนามบินหรือการควบคุมจราจรทางอากาศนั้นทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ 4% เท่ากับสาเหตุเกี่ยวกับการบำรุงรักษาสภาพเครื่องบิน
ทั้งนี้ นับจากปี 2502 จนถึงปี 2544 การเติบโตของการจราจรทางอากาศเพิ่มอย่างน่าตกใจ แต่หลังจากเหตุการก่อวินาศกรรมทางอากาศยานชนอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ (World Trade Center) ของสหรัฐอเมริกาทำการจราจรทางอากาศชะลออัตราการเติบโต เนื่องจากเผชิญความยากลำบากทางด้านการเงิน หากแต่ช่วง 2 ปีให้หลังมานี้การเดินทางทางอากาศก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ในปี 2547 บนท้องฟ้ามีเครื่องบินของสายการบินต่างๆ บิน รวมกันมากถึง 34.1 ล้านชั่วโมงบิน และความน่าจะเป็นของอุบัติเหตุบนเครื่องบินจะเกิดขึ้นทุก 1 ล้านชั่วโมงบิน ซึ่งนับว่าต่ำมาก
ทั้งนี้ นับจากปี 2502-2547 มีอุบัติเหตุเครื่องบิน 1,402 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 25,664 ราย เฉพาะในช่วง 10 ให้หลังคือปี 2538-2547 เกิดอุบัติของเครื่องบิน 376 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตจากกรณีเหล่านี้ 5,612 ราย
สถิติช่วง 10 ปีหลังของสายการบินพาณิชย์ที่บรรทุกผู้โดยสาร (ข้อมูลระหว่าง 2538-2547) มีเที่ยวบินทั้งหมด 1.45 แสนล้านเที่ยว โดยทุกๆ 1 ล้านเที่ยวจะเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ย 0.88 ครั้ง
ขณะเดียวกัน เที่ยวบินประเภทอื่นๆ อาทิ เที่ยวบินฝึกซ้อม เที่ยวบินเหมาลำ เที่ยวบินขนส่ง เป็นต้น ที่ในช่วง 10 ปีเดียวกัน มีเที่ยวบินทั้งหมด 25.5 ล้าน มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ย 2.55 ครั้งต่อ 1 ล้านเที่ยวบิน
เว็บไซต์ดังกล่าวสรุปว่า จำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่รู้จบ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราอุบัติที่มีลดลง ทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินยังคงปลอดภัยมากที่สุด
ทว่า เครื่องบินที่ยิ่งทันสมัยยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้น ส่งผลให้อุบัติเหตุทางเครื่องบินแต่ละครั้งมีจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย