เนคเทคแถลงผลงานเด่นในรอบปี 49 ชี้กำลังยื่นจดสิทธิบัตร 26 งานวิจัย เปรยหลายชิ้นงานนำไปปรับใช้ได้ดี อาทิ ระบบตรวจวัดดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก และเทคโนโลยีระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะผ่านเว็บไซต์ ย้ำทิศทางต่อไปจะนำไอซีทีไปรับใช้สังคม ภาคอุตสาหกรรม และความมั่นคงของประเทศ
ย่างเข้าสู่ปีที่ 22 ของการดำเนินการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดงาน "วันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 21 ปี" ของศูนย์ขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผอ.เนคเทค กล่าวว่าในรอบปีที่ผ่านมา ทางศูนย์ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ของประเทศใน 4 ด้านด้วยกันคือ ด้านการวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงการวิจัยเชิงนโยบาย
ทั้งนี้ ผลงานเด่นของศูนย์ในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาระบบตรวจวัดสำหรับเตือนภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากด้วยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวที่สามารถรายงานผลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา การพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะผ่านเว็บไซต์ traffic.thai.net ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับด้วยคลื่นความถี่วิทยุหรืออาร์เอฟไอดี (RFID) เพื่อใช้ในงานปศุสัตว์และสายการผลิตสินค้าอาหาร เป็นต้น
"ในรอบปีที่ผ่านมา เนคเทคมีผลงานที่กำลังยื่นจดสิทธิบัตรประมาณ 26 ชิ้นจากผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรทั้งหมดของ สวทช.ประมาณ 80 ชิ้น แบ่งเป็นกำลังยื่นจดในประเทศ 24 ชิ้นและกำลังยื่นจดในต่างประเทศอีก 2 ชิ้น โดยในปีต่อไปหวังว่าจะมีชิ้นงานยื่นจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 30 ชิ้น" ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าว
นอกจากนั้น เนคเทคยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้วย อาทิ การทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินการจัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งเวลานี้ได้ตราเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว
"เป้าหมายที่สำคัญของเนคเทคคือการมุ่งวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศ โดยในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ของเนคเทคปีนี้จะเน้นไปที่การพัฒนากำลังคนมากขึ้น และความร่วมมือกับภาคเอกชนให้เกิดระบบการผลิตที่ดีขึ้น ซึ่งเราจะช่วยทำให้เขาเห็นว่าเทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยในการผลิตของเขาได้อย่างไร" ผอ.เนคเทค กล่าว
ส่วนทิศทางการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ในก้าวต่อไป ดร.พันธฺศักดิ์ ชี้ว่า จะเน้นไปยังการบริหารจัดการการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้โดยไร้อุปสรรคในยุคที่การใช้งานเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์จะมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น
ขณะที่ด้านอื่นๆ เช่น การเร่งส่งเสริมให้มีการใช้งานโปรแกรมโอเพ่นซอร์สเพื่อสนับสนุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม การสนับสนุนให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการข้อมูลจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไปตอบสนองความมั่นคงของชาติ เป็นต้น