xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญอังกฤษเผยใช้ "สัตว์ทดลอง" แต่น้อย มีคุณภาพกว่าใช้พร่ำเพรื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Nude mouse เป็นสัตว์ทดลองที่ถูกสร้างขึ้น ไม่มีต่อมไทมัสและมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้ไม่มีปฏิกิริยาปฏิเสธอวัยวะแปลกปลอม นิยมใช้ศึกษาในเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะ และการรักษามะเร็ง
เป็นความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการพัฒนางานวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้ "สัตว์ทดลอง" ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนายารักษาโรคสำหรับมนุษย์หรือเรียนรู้ระบบภายในของสัตว์เหล่านั้นเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนร่วมสายพันธุ์ตัวอื่นๆ ต่อไป แต่ชีวิตที่ขาดอิสระและถูกกำหนดให้พลีชีพเพื่องานวิจัยนั้นควรจะได้รับสิ่งใดตอบแทนบ้างหรือไม่

การใช้สัตว์ทดลองอย่างมีจริยธรรมจึงอาจเป็นคำตอบหนึ่งสำหรับคำถามดังกล่าว ทั้งนี้ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" มีโอกาสพูดคุยกับวิทยากรต่างชาติซึ่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาฝึกอบรมการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ให้แก่บุคลากรไทยในสายงานวิทยาศาสตร์ซึ่งจำเป็นต้องใช้สัตว์ทดลอง อาทิ แพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกร เป็นต้น จำนวน 36 คน ในหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับผู้ฝึกอบรม (Training for Trainers) ณ สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม ระหว่างวันที่ 15-30 ก.ย.นี้

สำหรับภาพรวมของการใช้สัตว์ทดลองในอังกฤษนั้น ดร.เจอรัลด์ คลาฟ (Dr.Gerald Clough) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงและออกแบบอาคารสำหรับสัตว์ทดลองของหน่วยบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสัตว์ทดลองอลานันน์ (Alanann Consultancy Services) ในอังกฤษ กล่าวว่าการใช้งานสัตว์ทดลองนั้นต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ ทั้งนี้อังกฤษมีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทารุณสัตว์ตั้งแต่ปี 2419 และต่อมาในปี 2529 ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ทดลอง โดยจะมีผู้ตรวจการดูแลการใช้สัตว์ทดลอง และผู้ที่จะเลี้ยงสัตว์เพื่อการทดลองต้องขออนุญาตรัฐบาล

พร้อมกันนี้สตีเฟน บาร์เนตต์ (Stephen Barnett) รองประธานสถาบันเทคโนโลยีสัตว์ (Institute of Animal Technology) แห่งอังกฤษกล่าวเสริมว่ากฎหมายอังกฤษระบุให้ยุติการทดลองทันทีหากสัตว์ทดลองได้รับความทุกข์ทรมาน แต่หากจำเป็นต้องทดลองสัตว์ให้รับการทดลองอย่างในการพัฒนายารักษาโรคต่างๆ นั้น นักวิจัยต้องขออนุญาตจากรัฐบาลโดยจะได้รับอนุมัติภายใน 1-4 สัปดาห์ ขณะเดียวผู้ตรวจการก็มีสิทธิที่จะเข้าไปสังเกตการทดลองของนักวิจัยเมื่อใดก็ได้

"ทุกสถาบันที่ใช้สัตว์ทดลองต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำอย่างน้อย 2 คนเพื่อทำให้หน้าที่ในตำแหน่งศัลยแพทย์สัตว์และเจ้าหน้าที่ดูแลสวัสดิการสัตว์ ภายหลังการทดลองแล้วต้องฆ่าสัตว์ทั้งหมดเพื่อไม่ให้สัตว์ทรมาน หากมีสัตว์เหลือจากการทดลองจะถือเป็นเรื่องผิดจริยธรรมและทำให้นักวิทยาศาสตร์คนนั้นเสียประวัติได้ หากใช้สัตว์ในการทดลองน้อยแสดงให้เห็นว่าคนนั้นออกแบบงานวิจัยได้ดีและมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าใช้สัตว์จำนวนมากแสดงว่านักวิจัยคนนั้นไม่มีฝีมือ" ดร.คลาฟและบาร์เนตต์ช่วยกันเสริม

ทั้งนี้หลักการใช้สัตว์ทดลองอย่างมีจริยธรรมคือ 3R ได้แก่ การใช้วิธีอื่นทดแทนสัตว์ทดลอง (Replacement) เช่นใช้เนื้อเยื่อสังเคราะห์แทนการใช้สัตว์หรือเลือกการทดลองที่ไม่ใช้สัตว์หากผลที่ได้ไม่ต่างกัน แต่หากจำเป็นต้องใช้สัตว์ก็ต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ (Refinement) โดยสถานที่ต้องไม่คับแคบ ปลอดเชื้อ มีอาหารและน้ำเพียงพอ และข้อสุดท้ายคือพยายามลดจำนวนสัตว์ทดลองที่ต้องใช้ให้มากที่สุด (Reduction)

บาร์เนตต์ให้ข้อมูลอีกว่าอังกฤษไม่ใช้สัตว์ทดลองเพื่อทดสอบเครื่องสำอางแล้ว เนื่องจากไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปเพราะทราบว่าสารแต่ละชนิดคืออะไรและชนิดไหนไม่ควรใช้กับเครื่องสำอาง แต่งานวิจัยด้านยารักษาโรคจำเป็นต้องใช้สัตว์ทดลอง 99% โดยสัตว์ที่ใช้ทดลองส่วนใหญ่เป็นสัตว์กัดแทะ และหากจำเป็นต้องใช้ลิงจะเป็นลิงไพรเมท (primate) และลิงมาโมเสท (mamoset) ซึ่งยังมีวิวัฒนาการไม่มากนัก แต่ไม่ใช้อุรังอุตัง ซิมแปนซี กอริลลาซึ่งมีวิวัฒนาการไกลมากแล้ว ส่วนจำนวนสัตว์ทดลองที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับโครงการวิจัยนั้นๆ

ทางด้าน ศ.ดร.ทิโม โอลาวี เนวาไลเนน (Prof.Dr.Timo Olavi Nevalainen) จากห้องปฏิบัติการศาสตร์และสวัสดิภาพสัตว์ (Laboratory Animal Science and Welfare) แห่งมหาวิทยาลัยคัวปิโอและเฮลซิงกิ (Universities of Kuopio and Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเดินทางมาเป็นวิทยากรอบรมครั้งนี้ด้วยกล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์ใช้สัตว์ทดลองในฟินแลนด์ว่าไม่ถึงกับเข้มงวดเหมือนอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความเข้มงวดกับการใช้สัตว์ทดลองมากที่สุดในยุโรป แต่ประเทศต่างๆ ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

"ในยุโรปมีกฎควบคุมคุณภาพสัตว์ทดลองจาก 2 ประเทศคือประเทศเบลเยียมซึ่งออกกฏเป็นมาตรฐานขั้นต่ำว่าควรทำอะไรบ้าง กับประเทศฝรั่งเศสซึ่งออกแนวทางปฏิบัติในการดูแลสัตว์ทดลองแต่ไม่ใช่ข้อบังคับ ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ในยุโรปก็กำลังพัฒนากฎหมายเรื่องสัตว์ทดลองของตัวเองอยู่ ตอนนี้ก็มีอังกฤษที่ออกฏหมายอย่างเข้มงวดที่สุด" ศ.ดร.เนวาไลเนนกล่าว พร้อมทั้งชี้แจงว่าขั้นตอนการขออนุญาตใช้สัตว์ทดลองของฟินแลนด์นั้นคณะกรรมการจะตรวจสอบว่ากระบวนการใช้สัตว์ทดลองนั้นเป็นขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์จริง จากนั้นพิจารณาต่อว่าการใช้สัตว์ทดลองมีจริยธรรมตามหลัก 3R

กลับมาดูการใช้สัตว์ทดลองในประเทศไทยบ้าง ดร.ประดน จาติกวณิช ประธานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ กล่าวว่าสถานการณ์สัตว์ทดลองในเมืองไทยยังไม่ดีนักเพราะยังขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ขาดสถานที่สำหรับเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้องตามจริยธรรม และขาดบุคลากรที่มีความรู้ในใช้สัตว์ทดลองอย่างถูกต้อง จึงจัดการอบรมครั้งนี้ขึ้น โดยภายในการอบรมครั้งนี้จะเป็นการบรรยายในภาคเช้าทั้งหมดโดยไม่มีภาคปฏิบัติ และจะเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในช่วงกลางคืนโดยจะเป็นผู้ช่วยสรุปและตอบปัญหาการบรรยายของวิทยากรต่างชาติทั้ง 3 คน

ส่วนเหตุผลที่เลือก ศ.ดร.เนวาไลเนน ดร.คลาฟและบาร์เนตต์มาเป็นผู้อบรมการใช้สัตว์ทดลองซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ดร.ประดนชี้แจงว่าเนื่องจากทั้ง 3 คนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทดลองระดับโลก โดย ศ.ดร.เนวาไลเนน นับเป็นผู้เชี่ยวชาญอันดับหนึ่งในยุโรปด้านการพิจารณาโครงการวิจัย และเคยมาเมืองไทยเมื่อปี 2531 จึงได้ชวนให้มีช่วยงานที่เมืองไทยหากมีโอกาส ส่วน ดร.คลาฟมีความสามารถด้านการเลี้ยงสัตว์และออกแบบอาคารทดลองที่เหมาะแก่สัตว์ทดลอง ส่วนบาร์เนตต์มีความเชี่ยวชาญในการฝึกอบรมและจัดทำหลักสูตรในการดูแลสัตว์ทดลอง

นอกจากนี้ไทยยังมีแผนกลยุทธ์แห่งชาติว่าด้วยการพัฒนางานสัตว์ทดลอง พ.ศ.2550-2553 ซึ่งได้รับการอนุมัติในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ ดร.ประดนกล่าวว่าสถานการณ์สัตว์ทดลองในเมืองไทยก็ยังไม่ดีขึ้นมาก ทั้งนี้ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
ซ้ายไปขวา  ศ.ดร.ทิโม โอลาวี เนวาไลเนน ดร.เจอรัลด์ คลาฟ และสตีเฟน บาร์เนตต์   3 ปรมาจารย์ด้านสัตว์ทดลองจากยุโรปที่เดินทางมาเป็นวิทยากรให้กับผู้ที่ต้องใช้สัตว์ในงานวิทยาศาสตร์ที่เมืองไทย

การฝึกอบรมการใช้สัตว์ทดลองให้กับผู้รับช่วงฝึกอบรมต่อไปครั้งแรกของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น