“ผมใช้ชีวิตอยู่กับกล้องดูดาวค่อนข้างมาก พยายามทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ถ้าสุขภาพยังให้ก็จะทำต่อไป พวกรุ่นน้องที่เป็นเบาหวานตามหลังผมเขาตายกันไปนานแล้ว ส่วนผมเป็นเบาหวานมา 21 ปี คิดว่าอย่างเก่งคงอยู่ได้ไม่เกิน 10 ปี ที่ยังฮึดสู้อยู่ เพราะมีกำลังใจ ผมยังไม่ตายอาจเป็นเพราะการดูดาวนี่ก็ได้...2 ปีต่อไปนี้ เว็บไซต์ภาพถ่ายดาวหางของญี่ปุ่นจะเต็มไปด้วยชื่อของผม”
วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ชาวบ้าน -คนบ้าดาวหาง จาก ต.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา คนนี้อาจมีอะไรให้น่าติดตามมากกว่าที่หลายคนคิด
ความฝันที่ตื่นมาเจอใกล้รุ่ง
“ก๊อกๆ ก๊อกๆๆ” เสียงเคาะข้างฝาเบาๆ จากแม่ค้าเขียงหมูละแวกตลาดบางบ่อ แปดริ้วดังเป็นจังหวะ เข็มนาฬิกาบอกเวลาตี 3-ตี 4 ของเช้ามืดวันหนึ่งในเดือนตุลาคม ปีพ.ศ.2508 ที่ผืนฟ้ายังคงขึงผ้าม่านสีดำมืดสนิทไว้ตึงเปรี๊ยะ ดวงจันทร์งดทำหน้าที่ในคืนเดือนแรม แต่ท้องฟ้ายังระยิบระยับดารดาษไปด้วยแสงดาวนับหมื่นพัน เป็นอาณัติสัญญาณเริ่มแรกที่ปลุกให้เด็กหนุ่มวัย 13 ปีตื่นจากหลับใหล
หากใครที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเขาหรือมากกว่า คงทราบดีว่าปีนั้น ดาวหาง “อิเคยะ –เซกิ” (Comet Ikeya-Seki) ดาวหางที่สุกสว่างที่สุดดวงหนึ่งในศตวรรษที่ 20 และสว่างกว่าดวงจันทร์นับสิบเท่าได้แวะเวียนมาเยือนโลกตามสัญญาทุกๆ 880 ปี โดยการมาครานั้น ได้พาความฝันของเด็กหนุ่มบ้านนอกจากครอบครัวคนจีนที่มีฐานะไม่ดีให้โชติช่วงตามไปด้วย
“เจ๊แกขายหมู อาชีพแกต้องตื่นเช้า ก็เห็นว่าดาวหางมันสวยเลยชวนผมขึ้นมาดู แต่ส่วนตัวคงตื่นแต่เช้าขึ้นมาดูเองไม่ได้อยู่แล้ว แกก็มาเคาะปลุก อิเคยะ-เซกิเป็นดาวหางที่อยู่ค้างฟ้าเป็นเดือนๆ แต่ละคืนจะขยับไปนิดนึงๆ ใหญ่มาก และเป็นดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ ท้องฟ้ามืดมากๆ มืดจนมองไม่เห็นอะไรเลย แต่วันที่แกปลุกขึ้นมา ผมเห็นแล้วตกตะลึงเลยว่า โอ้โฮ สวย!” วรวิทย์ ในวัยย่างสู่ปีที่ 56 เล่า ซึ่งคืนนั้นเขาเห็นเส้นสีขาววาดยาวบนท้องฟ้า ส่วนหัวอยู่ชิดติดขอบฟ้าตะวันออก หางทอดอยู่กลางฟ้า
“หากใครได้มาเห็นก็จะหลงรักเหมือนผม คำว่าหางครึ่งฟ้านี่ยังจำมาจนถึงปัจจุบัน โอ้โฮ มันครึ่งฟ้านะเนี่ย หางยาวมาก และสีขาวเป๊ะๆ ฟ้าเดือนตุลาคมก็ดีด้วย ตอนนั้นยังไม่รู้จักเลยว่าดาวคืออะไร แต่ภาพที่เห็นเต็มตา ตกตะลึงว่ามันคืออะไรกันแน่ พอหลังจากนั้นมาก็ไม่ต้องปลุกแล้ว พยายามลุกขึ้นมาดูเองบนหลังคาบ้านมืดๆ บางคืนเห็นหางงอได้ หรือแตกเป็น 2 หางก็ได้ คือช่วงที่เลี้ยวเข้าดวงอาทิตย์ จะตีแยก หางฝุ่นไปทาง หางแก๊สไปทาง” วรวิทย์เล่า น้ำเสียงตื่นเต้น สีหน้าดูสนุกสนาน เชื่อว่าเป็นใบหน้าเดียวกับครั้งที่ได้เห็นอิเคยะ–เซกิ
น้ำมันเติมตะเกียง และกล้องดูดาวทำเองตัวแรก
แต่เวลานั้น น้อยคนจะเชื่อว่าดาวหางห่างไกลบนท้องฟ้าเฉียดๆ 1 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 150 ล้านกิโลเมตร ได้เติมเชื้อเติมไฟชีวิตให้กับเด็กหนุ่มรายนี้เข้าแล้ว และเปลี่ยนเขาไปทั้งชีวิต สิ่งที่ยืนยันได้ดีคือการหมั่นขวนขวายหาความรู้เพื่อเติมเชื้อไฟในตะเกียงอย่างต่อเนื่อง
ทว่าการด่วนจากไปของ “พ่อ” อันเป็นเสาหลักของครอบครัวตั้งแต่วรวิทย์อายุไม่ถึง 10 ขวบปี ก็ทำให้เส้นทางสู่โรงเรียนต้องหยุดลง แม้จะเป็นคนเรียนดี แต่ก็ต้องทิ้ง เมื่อจบชั้น ป.7 แล้วช่วยค้าขายใน “ล.ภูษา” ร้านขายเสื้อผ้า ชุดนักเรียน และรองเท้า มรดกหนึ่งเดียวของพ่อ
“หลังจากครั้งแรกที่ได้เห็นดาวหางอิเคยะ-เซกิ ผมก็ศึกษาเองมาตลอด ไปหาซื้อตำราดาราศาสตร์ง่ายๆ ของอาจารย์สิงโต ปุกหุต เล่มละ 5 บาท เป็นหนังสือที่ดีมากไม่น่าเชื่อ ดีกว่าตำรารุ่นใหม่ มีเรื่องไรต์แอสเซนชัน (Right Ascension) และเดคลิเนชัน (Declination) หรือพิกัดศูนย์สูตรฟ้า ที่ถ้าเป็นแผนที่จะเป็นละติจูดกับลองติจูด"
"ที่ผมหาดาวหางได้เก่งๆ ก็เพราะรู้จักเส้นศูนย์สูตรฟ้า เพราะตั้งใจอ่านทีหลังจึงเข้าใจและเข้าทางเลย เวลาได้กล้องตัวใหญ่ๆ หรือแผนที่ใหญ่ๆ มาก็เข้าใจง่าย หนังสือเล่มนี้จึงเป็น 5 บาทแต่คุณค่าสูงส่ง ยังมีอยู่ เล่มเดิม และเล่มเดียว จะซีรอกแจกก็ได้ ผมไม่หวง” วรวิทย์ว่า
อย่างไรก็ดี เส้นทางของคนบ้าดาวหางก็ไม่หยุดด้วยความยากลำบากในการทำมาหากินเท่านั้น จากนั้นเพียง 5 ปี วรวิทย์ในวัยหนุ่มได้ประดิษฐ์กล้องดูดาวกำลังขยาย 20-30 เท่าด้วยตัวเองจากกระบอกใส่ลูกแบดมินตัน และเลนส์กระจกแว่นตาของแม่ เพื่อต้อนรับการมาเยือนของดาวหางเบนเนตต์ (Bennett Comet) ในปีพ.ศ.2513 เป็นครั้งแรกที่นักดูดาวตัวน้อยรู้จักสร้างอุปกรณ์สังเกตปรากฏการณ์ง่ายๆ
“แม่มีอาชีพด้านเย็บผ้า เป็นนักสอยรังดุมอันดับหนึ่งเลย มีแว่นตาหลายอัน ผมก็เล็งหาแว่นที่มีโฟกัสยาวๆ ของแม่มาส่องดู พอรู้หลักการของกาลิเลโอมาบ้าง เอาแว่นขยายอันนึงเป็นเลนส์ใกล้ตา และเอาแว่นตาเป็นเลนส์วัตถุ ขยายได้ใหญ่ก็ได้ความเลย ขโมยแว่นแม่มา แม่ก็หาเหมือนกันนะ ที่เคยบอกว่าขอ จริงๆ ไม่ได้ขอหรอก เอาแว่นไปหักขาทิ้ง ถ้าบอกละก็โดนตีแน่”
นักดูดาวบนหลังคาบ้าน และสิ่งที่ได้จากการถูกหลอก
ปราชญ์ชาวบ้าน–นักดูดาว เสริมว่า จากดาวหางเบนเนตต์นี้เอง ที่ต่อมาได้ตัดสินใจเป็นนักดูดาวสมัครเล่น ผู้ยึด “ลมเย็นๆ ฟ้าโปร่งๆ” บนหลังคาบ้านดูดาวจริงจัง แต่ไม่ถึงขั้นดูทุกคืน
“พอมืดหน่อยก็จะแอบดูฟ้าแล้ว และนิสัยส่วนตัวที่ไม่เที่ยว ตั้งแต่เด็กจนแก่ที่เที่ยวน้อยมาก ไปงานวัดหรือไปจีบผู้หญิงมีน้อยมาก เพื่อนบ้านจะรู้ดี ดูฟ้ารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็อาศัยความนานเข้าว่า อะไรที่หนักๆ ก็จดไว้แต่ไม่ต้องจำ จำเฉพาะเรื่องท้องฟ้าและดวงดาวเลย ดูของจริงดีกว่า คือผมไม่มีโอกาส แต่ผมมีห้องเรียนดี เป็นต่อ ต่างจากเด็กกรุงเทพฯ ที่เรียนเก่ง โอกาสดี แต่ห้องเรียนไม่ดี จะดูทีก็ต้องไปหาที่ดู มันเหนื่อยกว่าผมมากที่จะดูก็ขึ้นบนหลังคาเลย ผมมีห้องเรียนเหนือกว่าเยอะ”
วรวิทย์ ว่า พอทำกล้องดูดาวเป็น การส่องหาดาวพฤหัสบดี ก็เป็นเรื่องธรรมดาทั่วๆ ไป เหมือนการดูดาวเหนือ หลุมอุกาบาตบนดวงจันทร์ หรือส่องดูดาวศุกร์ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็นวงแหวนของดาวเสาร์สักครั้ง
“ผมไปเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ในปีพ.ศ. 2514-2515 ที่งานวัดหลวงพ่อโสธร หลังเบนเนท 1-2 ปี เขามีตั้งกล้องดูดาว ดูดาวเสาร์ 10 บาท ดูดวงจันทร์ 5 บาท สมัยก่อนก๋วยเตี๋ยว 3 บาท ค่ารถ 2 บาท ค่าตั๋วงานวัด 3 บาท แป๊ปเดียวผมฟาดไป 15 บาท เงินหมดกระเป๋าเลยนะ แล้วยังโดนหลอกด้วย คือมันเป็นสไลด์ ดาวเสาร์มันดวงใหญ่มาก..กกก (ลากเสียงยาว) และมีสีขาวด้วย เอาสไลด์ไปติดข้างใน เต็มตาผมเลย ตอนหลังมีกล้องดูดาวผมถึงรู้ว่าโดนหลอก”
วรวิทย์พูดพลางขบขันอย่างอารมณ์ดีว่า ปัจจุบัน หอดูดาวบัณฑิตแบบหลังคาสไลด์ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2543 โดยการต่อเติมบ้าน 2 ชั้นให้เป็นตึก 4 ชั้นพร้อมติดตั้งกล้องดูดาวด้วยงบประมาณราว 3 ล้านบาทเศษ ซึ่งเลื่อนหลังคาของหอดูดาวเก็บได้หมด ทำให้มีพื้นที่ดูดาวอย่างน้อย 4 คูณ 4 เมตร ก็ยังมองเห็นดาวเสาร์ได้ไม่ใหญ่เท่างานวัดครั้งนั้น แทนที่จะเอาเงินไปเที่ยวสนุกอย่างเด็กหนุ่มคนอื่นๆ แถมยังดูได้แป๊บเดียวเพราะมีคนต่อเยอะ ไม่กล้าดูนาน
“ส่วนดวงจันทร์นี่ผมก็ว่ามันน่าจะเป็นสไลด์ เพราะมันจันทร์วันเพ็ญ ข้างๆ มีดาวดวงนึง ก็ถามเขาคือดาวอะไร เขาก็บอกว่าเป็นอุกาบาตกำลังจะชนดวงจันทร์ ผมก็ว่าไอ้ชิบหายแล้ว วันนี้โชคดีเว้ย ได้ดูอุกกาบาตวิ่งชนดวงจันทร์ด้วย ผมดีใจมาก ที่จริงมันก็คือสไลด์อีกอันนึง ซึ่งกล้องของเขาก็ไม่ได้โตอะไร ขนาดประมาณ 4 นิ้ว และไม่มีมอเตอร์ตามดาว” วรวิทย์เล่าต่อ อย่างไรก็ดี สิ่งที่เขาได้กลับมาคือความรักในดวงดาวมากขึ้น
“ก็ได้ความรักไง ได้ความรักว่าวันหนึ่งฉันจะต้องมีกล้องดูดาวเสาร์เป็นของตัวเอง ไม่เสียหลาย คุ้ม ก็ได้เชื้ออะไรมามากมาย แม้จะรู้ทีหลังว่าได้ดูแผ่นสไลด์” วรวิทย์ พูดยิ้มๆ
ผมเป็นเบาหวานมา 21 ปี
ถัดจากนั้น เขายังมีโอกาสดูดาวหางฮัลเลย์ (Halley) ในปีพ.ศ.2527 ผ่านกล้องดูดาวหมุนได้ที่ทำเองเป็นตัวที่ 2 ซึ่งเวลานั้น เขากำลังเริ่มต้นสร้างชีวิตคู่
“ก็ตั้งแต่ดาวหางฮัลเลย์เป็นต้นมา ช่วงนั้นต้องทำมาหากินหนัก หนักมาก ต้องทำงานสู้ชีวิต กำลังสร้างครอบครัว มีแฟนตอน 29 ยังไม่มีลูก แต่หลังจากนั้นก็เริ่มเก็บเงินซื้อกล้องดูดาว” เขาเล่า พร้อมบอกว่าการทำงานหนักในวัยหนุ่มทำให้สุขภาพไม่ดีนัก และมีเหตุให้ต้องหยุดคิดและมองไปยังเด็กๆ ที่จะเป็นอนาคตของชาติบ้าง การดูดาวจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เพื่อสังคมที่เขาอยู่ด้วย
“กระทั่งรู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานจึงอยากสละเวลามาสอนเด็กๆ ให้รู้จักเรื่องดาราศาสตร์ตามบ้าง ซึ่งการไปค่ายของผมกับทางสมาคมดาราศาสตร์ไทย โรงเรียนไหนไม่มีสตางค์ก็ไม่ต้องให้ เหมือนเด็กๆ ผมไม่มีโอกาส เมื่อผมโตขึ้นมาจึงอยากให้โอกาสคนอื่นบ้าง”
“แต่อยากทำค่ายที่มีเด็กๆ มากหน่อย หลายๆ คน ไม่ใช่แค่คน–สองคน อย่างการมาตั้งกล้องสังเกตปรากฏการณ์ที่ทำมาตลอดในช่วงเกือบ 10 ปีนี้ ผมทำแล้วมีความสุข ควักเนื้อก็ยอม ไม่เป็นไร ได้ จะเรียกว่าตอนนี้รวยก็ไม่เชิง แต่แบบว่าเราก็กลัววิชาจะสูญหาย อย่างตอนนี้ผมสามารถหาดวงหางได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยหาดาวหางแล้ว” ชายร่างเล็กวัย 55 เผย ซึ่งหนึ่งในเคล็ดลับส่วนตัวของเขาที่บอกแก่เด็กๆ คือ การอยู่กับห้องเรียนกลางแจ้งนานๆ เพื่อซึมซับประสบการณ์จริง แต่ก็ปฏิเสธว่ายังไม่ใช่นักดูดาวมืออาชีพ
“ผมยังเรียกตัวเองว่าเป็นนักดูดาวสมัครเล่น แต่คนอื่นจะเรียกอย่างไรก็อีกอย่างหนึ่ง รูปถ่ายอะไรผมก็ถ่ายไว้เยอะมาก คนก็ยกย่องว่าเป็นมือโปร แต่ผมเห็นว่าจักรวาลมันใหญ่มาก เราตัวเล็กนิดเดียว ของที่จะถ่ายยังมีอีกเยอะ” เขาเผยน้ำเสียงถ่อมตัว แม้วรวิทย์ ในวันนี้จะไม่ได้มีดีกรีเพียง “ป.7” เหมือนในอดีตอีกแล้ว
เพราะเขาพยายามหาช่องทางเรียนต่อนอกโรงเรียน (กศน.) ในหลักสูตร ม.ต้น–ม.ปลายจนจบ และสภาวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรายังยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ “ปราชญ์ชาวบ้าน” ได้รับปริญญาบัตรกิตติมาศัพท์มหาบัณฑิตสาขาหลักสูตรการเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ พร้อมพ่วงตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทยมากว่า 3 สมัย
สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นนายพล
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เจ้าฟ้านักการศึกษาของไทย” ยังทรงสนพระทัยศึกษาดาราศาสตร์อย่างต่อเนื่อง หากมีปรากฏการณ์ธรรมชาติคราใด พระองค์จะทรงเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามทอดพระเนตรตลอด และหลายครั้งที่วรวิทย์และสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้มีโอกาสถวายงานสนองเบื้องพระยุคลบาทเป็นการส่วนพระองค์ ณ ดาดฟ้าอาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา ด้วย
“สมเด็จพระเทพฯ ท่านเป็นขวัญกำลังใจอย่างหนึ่งให้พวกเรา เปรียบเป็นนายพล ท่านชอบใจ ดีใจ เราก็พอใจแล้ว เป็นความภูมิใจ” วรวิทย์ว่า
ผลงานที่ประทับใจมากที่สุดของวรวิทย์ นอกจากจะเป็นการสนองงานแล้ว การถ่ายภาพปรากฏการณ์ “สุดหิน” ด้วยเครื่องมือธรรมดาๆ ที่มีอยู่ก็เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจด้วย
วรวิทย์ยกประสบการณ์ตอนถ่ายภาพเนบิวลา 3 แฉก โดยต้องประคองกล้องนานเกือบชั่วโมงเพื่อหมุนตามดาวไม่ให้หลุดกึ่งกลางโฟกัส ถ้ากล้องสั่นเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ภาพเสียได้
ขณะที่ประสบการณ์ที่ไม่อยากจำ เขาบอกว่า คือ อาการ “แห้ว” เมื่อเตรียมตัวเป็นวันๆ แต่ไม่เห็นปรากฏการณ์ดังคาด เช่นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ทั้ง วรวิทย์และเด็กนักเรียนโรงเรียนไผ่แก้ววิทยาซึ่งอยู่ใกล้ๆ บ้านกว่า 150 คนต้องอดไปตามๆ กัน แต่เขาก็ยังบอกว่า ความผิดหวังเป็นเรื่องปกติของการสังเกตปรากฏการณ์ที่พอทำใจได้
“ดูดาว” ความสุขหนึ่งเดียวของชีวิต
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า “ดูดาวมาตลอดชีวิตแล้วได้อะไรกลับคืนมาบ้าง” วรวิทย์ ซึ่งทุ่มเทชีวิตและทรัพย์สินแทบทั้งหมดกับการดูดาว ตอบแบบไม่ต้องคิดว่า ทีแรกไม่เคยคิดเลยว่าจะได้อะไรจากการดูดาว แต่ทำด้วยใจรัก เพราะรู้ดีว่าการดูดาวต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ และค่าใช้จ่ายมากมาย ตรงกันข้ามกับช่องทางหารายได้ที่แทบไม่มีอยู่เลย
“ตอนแรกผมไม่เคยคิดว่าจะได้อะไรจากการดูดาวเลย ไม่เคยคิด ถ้าใครคิดจะยุ่งนะ เพราะใช้จ่าย ซื้อนู้นนี่ ต้องเอาคืนใช่ไหม เหมือนค้าขาย ผมไม่เคยจด ไม่เคยคิดว่าจะได้อะไร เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่เคยคิดว่าจะได้อะไร ได้แต่ภาพสวยๆ ซึ่งภาพดาราศาสตร์ขายไม่ค่อยได้ น้อยมากที่จะได้อะไร เมื่อ 2 ปีก่อนเคยมีคนขอซื้อภาพไปทำปฏิทินก็ไม่คุ้ม จนเรียกว่าเป็นอาชีพไม่ได้ ที่ทำก็เพราะใจรัก” นักดูดาวปริญญาบัตรกิตติมาศัพท์มหาบัณฑิตเผย
“ผมคงอยู่ได้ไม่นาน ก่อนไปก็ขอดูจักรวาลให้ทั่วก่อน ก็คิดอย่างนั้น เงินก็นำมาใช้ ซื้อกล้อง ซื้อความสุขส่วนตัวเหมือนที่คนอื่นๆ เอาเงินไปเที่ยวได้ ของผมก็เอาเงินมาใช้ตรงนี้ เหมือนได้ท่องจักรวาล มองผ่านเลนส์นี่มันสวยงาม ได้ความสุขส่วนตัวอะไรบ้าง” วรวิทย์ ว่าเบาๆ แต่ตอนหลังมานี้ สิ่งที่ได้จากการดูดาวด้วยคือเยาวชนไทยที่ได้มารู้จักการดูดาวด้วย
“ผมกำลังจะตกแล้ว รู้ตัวเองว่าเคยโด่งขึ้นไปแล้ว จะตกแล้ว สิ่งที่ต้องการตอนนี้คือถ่ายทอดความรู้ ให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้นำไปขยายต่อ ซึ่งผมไม่เคยกั๊กความรู้ หรือไปหวงเครื่องมือเด็กๆ เลย แม้แต่เทคนิคลับมากๆ แต่ละอัน แต่ใครอยากรู้ขอให้ถ่ายทอดด้วยตัวเอง อย่างการอบรมสอนให้เด็กได้ตั้งกล้องดูดาวเป็น ถ่ายภาพปรากฏการณ์ได้ด้วยเอง” วรวิทย์ เผย
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนสนับสนุนให้วรวิทย์ ทำสิ่งตัวเองรักได้เต็มที่ แม้จะมีหน้าร้าน “ล.ภูษา” ให้ต้องดูแล ปัจจัยที่ว่าคือ แม่บ้านและลูกๆ ทั้ง 3 คน คือ “มาลัย” ผู้เป็นภรรยา “เอกชัย –นันทกานท์ –รณภพ” ลูกๆ ชายหญิง โดยเอกชัย ลูกชายคนโตยังนิยมการดูดาวเหมือนพ่อ และเป็นแรงหนึ่งในการจัดทำเว็บไซต์หอดูดาวบัณฑิต www.geocities.com/bundid_observatory/
จึงไม่แปลกที่เวลาทำการของคนบ้าดาวอย่าง วรวิทย์ และพวกพ้องจะเป็นเวลาที่ใครๆ ต่างหลับใหล แต่ทุกทีที่ วรวิทย์ กดกริ่งประตูยามดึก แม่บ้านหรือลูกๆ ก็จะกุลีกุจอมาเปิดประตูรับพ่อพร้อมแขกอย่างเต็มใจ ไม่มีสีหน้าเหนื่อยหน่ายปรากฏบนดวงหน้า
“ผมตื่นสายได้ แม่บ้านดี แม่บ้านยอมปล่อยให้นอนตื่นสายได้ ผมเป็นพวกนอนยากแต่พอนอนแล้วไม่อยากตื่น จะตื่นก็ตอน 11 โมงหรือเที่ยงนู่น” วรวิทย์กล่าวอย่างครึ้มใจ
สุดท้ายนี้ วรวิทย์ ฝากบอกว่า อยากให้คนไทยช่วยกันพัฒนาวงการดาราศาสตร์ให้มากขึ้น โดยพยายามให้ความรู้เด็กๆ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นการงมงาย เช่นการเกิดจันทรุปราคา ซึ่งต้องตั้งกล้องดูดาวให้เด็กๆ ได้สัมผัสโดยตรง เพื่อจุดชนวนให้ได้สนใจตาม เหมือนอย่างที่ตัวเองมีเจ๊ขายหมูข้างบ้านเป็นคนจุดประกาย และต้องทำควบคู่กันไปทั้งภาคทฤษฎีและภาคสนามอย่างเต็มที่ ซึ่งคนไทยมีศักยภาพประดิษฐ์กล้องดูดาวอย่างง่ายได้ในราคาที่ถูกกว่าต่างชาติมาก
“หรือแม้แต่การซื้อเลนส์มาประกอบก็ตามที ซึ่งหากขยายในส่วนนี้ได้ โอกาสเข้าถึงดาราศาสตร์ของเด็กๆ ก็จะติดตามมาเอง” วรวิทย์ ปราชญ์ดูดาว –คนบ้าดาวหาง ทิ้งท้ายก่อนบ่ายหน้าไปยังกล้องติดตามดาวหางตัวใหม่ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเพื่อล่าดาวหางที่เขาหลงรักต่อไป