“คนไทยเก่งทำคนเดียว แต่ด้อยทีมเวิร์ก” เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน และเป็นอุปสรรคสำคัญของการวิจัย แต่ก็มีหลายหน่วยงานที่ร่วมมือวิจัยจนประสบความสำเร็จมาแล้วไม่น้อย โดยเฉพาะในวงการแพทย์ที่ต้องอาศัยความร่วมมือเป็นสำคัญ เพราะมีชีวิตคนเป็นเดิมพัน
ศ.นพ.ปิยทัศน์ ทัศนาวิวัฒน์ ผู้อำนวยการเครือข่ายวิจัยคลินิกสหสถาบัน (CRCN) เปิดเผยว่า ประเทศพัฒนาแล้วจะมีศักยภาพด้านการวิจัยมากกว่า ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็ต้องพึ่งพึงเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่การลงทุนวิจัยในประเทศไทยก็ยังมีไม่มาก และคงหลีกไม่พ้นที่จะต้องปรับแนวทางด้านการวิจัย เพื่อให้มีพัฒนาการของงานวิจัยเร็วขึ้น ซึ่งต้องอาศัยทั้งงบประมาณและความรวดเร็วเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการวิจัยด้านการแพทย์ เพราะประเทศไทยต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
“การศึกษาวิจัยทางด้านคลินิก ส่งเสริมการใช้ยาหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาล เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเร่งพัฒนาอย่างยิ่ง” ศ.นพ.ปิยทัศน์ กล่าว และเสริมว่า สถาบันแพทยศาสตร์ในประเทศไทยมีการแข่งขันกันหลายด้าน รวมทั้งการวิจัย ซึ่งก็เป็นผลดีด้านหนึ่ง แต่ไม่เหมาะกับงานวิจัยที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสถาบัน
“ควรนำบทเรียนความสำเร็จจากต่างประเทศมาใช้ ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การทำงานเป็นทีม” ศ.นพ.ปิยทัศน์ แนะ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการทำงานของเครือข่ายวิจัยคลินิกสหสถาบันที่ให้บริการ การพัฒนา และบริหารจัดการโครงการวิจัยคลินิกสหสถาบัน ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของนักวิจัยจากองค์กรวิชาชีพแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับและคาดหวังของสังคม และมีเป้าหมายเดียวกันที่ต้องการสร้างผลงานวิชาการไว้เป็นข้อมูลของประเทศ
ศ.นพ.ปิยทัศย์ กล่าวอีกว่า แพทย์เป็นผู้ที่เห็นปัญหาของการรักษาโรค ฉะนั้นจึงเหมาะสมแล้วที่แพทย์จะเป็นผู้วิจัยเอง ซึ่งจะทำให้นำผลวิจัยไปใช้ได้จริงนอกเหนือจากการตีพิมพ์เผยแพร่เพียงอย่างเดียว และการทำงานเป็นทีมควรมีการตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนถึงการบริหารจัดการในทุกๆ เรื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างดำเนินการ หากตกลงกันไม่ได้ตั้งแต่ต้นก็ไม่ต้องเริ่มงาน เพราะถึงดำเนินการต่อไปก็จะเกิดผลเสียมากกว่า
ด้าน นพ.เพชร รอดอารีย์ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึมภาควิชาอายุรศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล แนะว่า ก่อนเริ่มทำวิจัย ต้องแน่ใจก่อนว่ามีเงินทุนจากหน่วยงานที่สนับสนุนแน่นอน ส่วนการเลือกหัวข้องานวิจัยต้องเป็นเรื่องที่เป็นที่ยอมรับในสังคม ผลงานที่ได้ต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และที่สำคัญต้องมีการระดมความคิดของนักวิจัยที่ร่วมโครงการเดียวกัน
“การร่วมวิจัยศึกษาโรคเบาหวาน ต้องมีมาตรฐานในการวัดค่าตัวแปรต่างๆ ให้เหมือนกันทุกสถาบัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและนักสถิติในการออกแบบการเก็บข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นวิจัย และเทียบเคียงมาตรฐานระหว่างสถาบัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดี มีความชัดเจน ทำให้ตอบโจทย์ได้ การวิจัยเป็นไปอย่างต่อเนื่องและง่ายขึ้น สามารถติดตามผู้ป่วย ศึกษาสาเหตุและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเบาหวาน และยังเป็นประโยชน์กับการวิจัยระยะยาวด้วย” นพ.เพชร อธิบาย
นพ.เพชร แนะเพิ่มเติมว่า หากเกิดปัญหาขึ้นระหว่างการวิจัย ทุคนต้องปรึกษากันและรีบแก้ไขปัญหาทันที และควรมีคนตรวจสอบการทำงาน เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นให้นักวิจัยทำงานถูกต้อง ทันเวลา ได้มาตรฐาน ทำให้นักวิจัยในโครงการหลงใหลงานวิจัย และรับผิดชอบต่องานอย่างคงที่ตลอดการทำวิจัย ซึ่ง นพ.เพชร เน้นย้ำว่า “ก่อนตัดสินใจทำงานวิจัย ต้องแน่ใจว่ามีทรัพยากรพอเพียง” ทั้งบุคลากรและเงินทุนวิจัย
ขณะที่ รศ.พญ.สายบัว ชี้เจริญ ประธานโครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยมะเร็งปากมดลูก กลุ่มศึกษามะเร็งนรีเวชไทย หรือ กศนท. (Thai Gynecologic Oncology Collaborative Group: TGOC) มีความเห็นว่า ก่อนเริ่มต้นงานวิจัยต้องทำแผนที่ทิศทางการวิจัยเสียก่อน
“มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสำคัญของผู้หญิงในประเทศไทย แม้จะมีองค์ความรู้มากมาย แต่ก็ยังควบคุมโรคนี้ไม่ได้ ฉะนั้นโจทย์ของการวิจัยก็เพื่อหาทางควบคุมมะเร็งปากมดลูกให้ได้” รศ.ดร.สายบัว กล่าว ซึ่งสิ่งแรกสุดที่ รศ.ดร.สายบัว คิดว่าต้องทำก่อนการวิจัย คือ ทำแผนที่วิจัย จากนั้นจึงสำรวจข้อมูลสถานพยาบาลในประเทศไทยที่ให้การรักษาหรือมีการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก แล้วเชิญชวนให้มาเข้าร่วมกลุ่มเพื่อร่วมกันวิจัย
รศ.ดร.สายบัว กล่าวต่อว่า เมื่อรวมกลุ่มนักวิจัยได้แล้วก็ดำเนินการของทุนวิจัย ซึ่งขั้นตอนนี้ถือเป็นเรื่องยากพอสมควรและมักไม่เป็นไปตามคาดหมาย จึงต้องอาศัยความอดทนและความพยายามในการหาแหล่งทุน ในที่สุด กศนท. ก็ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยในตอนแรกเริ่มจากการสร้างเครือข่ายให้เป็นการวิจัยแบบสหสถาบัน และพัฒนามาสู่การประสานงานกันในเรื่องของคุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย ต่อมาด้วยการร่วมมือกันในการทดลองทางคลินิกเพื่อรักษาผู้ป่วย และมุ่งหมายไปสู่การทำงานด้วยกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน นั่นคือ การควบคุมมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยได้
รศ.ดร.สายบัว ให้ข้อสรุปการวิจัยแบบสหสถาบันหรือการร่วมกันทำวิจัยให้ประสบผลสำเร็จอย่างสะดวกราบรื่นว่า จะต้องมีการวางแผนที่ดี มีเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสื่อสารที่ดีระหว่างกัน จริงใจและซื่อสัตย์ต่อกัน มีเงินทุนวิจัยที่สมเหตุสมผล ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ข้อตกลงร่วมกันก่อนเริ่มการวิจัย และคาถาสู่ความสำเร็จที่ว่า “ศรัทธา ให้เวลา ทุ่มเท และอดทน”