xs
xsm
sm
md
lg

ส่องสถานการณ์เพื่อนบ้านไทย บริโภคพลังงานล้นหลามเล็งศึกษา "นิวเคลียร์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในต่างประเทศ (ภาพจาก www.insc.gov.ua)
ส่องสถานการณ์พลังงานประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนามเผยเวลานี้ยังต้องพึ่งพิงน้ำมันและถ่านหินมากที่สุด เชื่อในอนาคตก็ยังไม่ต่างกันนัก ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่แน่ แม้จะมีการศึกษามากกว่าเพื่อนบ้าน ด้านอินโดนีเซียรับแผนพลังงานอีก 20 ปีอาจมีนิวเคลียร์ร่วมเอี่ยว ส่วนพม่ายังเดินหน้าตามวิถีเดิม ขยายสายส่งไฟไปทั่วประเทศ

ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวด้านพลังงาน “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ “ไทย” ให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างการศึกษาเตรียมความพร้อม รวมถึงดูความเป็นไปได้ของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศ

การสัมมนา “เติมพลังงานให้อาเซียน: เทคโนโลยีและนโยบาย” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มีการบรรยายสถานการณ์พลังงานในประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย และพม่า ด้วย

นายเจิ่น ห่ง เหวียน (Tran Hong Nguyen) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์เชื้อเพลิงพลังงานของเวียดนามอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ในอนาคตเวียดนามอาจต้องนำเข้าพลังงานด้วย โดยปี พ.ศ.2548 เวียดนามพึ่งพิงน้ำมันในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากที่สุด 40.3% รองลงมาคือถ่านหิน 29.4% ก๊าซธรรมชาติ 18.1% และพลังงานน้ำ 11.7%

ภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามเป็นส่วนที่ต้องการใช้กระแสไฟฟ้ามากที่สุด 44% ของกำลังการผลิต ภาคการขนส่ง 29.7% และภาคครัวเรือน 16.2% อย่างไรก็ดี จากนโยบายมุ่งพัฒนาไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ รัฐบาลเวียดนามเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีขยายความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในอนาคต

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีแผนระยะยาวลดการพึ่งพิงพลังงานน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ลงด้วย โดยให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงานคือ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติมากขึ้น และในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นถูกเสนอขึ้นเป็นหนึ่งในทางเลือกด้านพลังงานของเวียดนามเท่านั้น

อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่า ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าเวียดนามจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จริง ซึ่งขณะนี้ เวียดนามกำลังอยู่ระหว่างเริ่มการออกแบบเท่านั้น โดยอาจมีการก่อสร้างจริงในอีก 5 -6 ปีข้างหน้า

ส่วนสถานการณ์พลังงานในอินโดนีเซีย ดร.ฮาร์วิน ซัพโทดิ (Harwin Saptoadi) นักวิจัยแผนกวิศวกรรมช่างกลและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยแกดจาห์ มาดา (Gadjah Mada University) ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2548 อินโดนีเซียผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินถึง 43% ของทั้งหมด รองลงมาคือน้ำมัน 22% ก๊าซธรรมชาติ 19% และน้ำ 10% โดยไม่มีพลังงานนิวเคลียร์รวมอยู่เลย

ทว่าแผนการผลิตกระแสไฟฟ้าในปี พ.ศ.2568 อินโดนีเซียจะพึ่งพิงการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ด้วยราว 4% ของทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ มากนัก ขณะที่แหล่งพลังงานหลักคาดว่ายังคงเป็นถ่านหิน 58% ก๊าซธรรมชาติ 27% โดยน้ำมันจะมีส่วนแบ่งเหลือเพียง 3% เท่านั้น

ส่วนนายจอ ทิน (U Kyaw Tin) รมว.พลังงานพม่า กล่าวว่า ปัจจุบันพม่าพึ่งพิงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนมากที่สุด 44% รองลงมาคือก๊าซธรรมชาติ 32% และน้ำมันดีเซล 5% โดยแผนพลังงานระยะต่อไปคือการขยายสายส่งไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือติดประเทศจีนที่กระแสไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง
นายเจิ่น ห่ง เหวียน
ดร.ฮาร์วิน ซัพโทดิ
นายจอ ทิน
กำลังโหลดความคิดเห็น