xs
xsm
sm
md
lg

ราชบัณฑิตวิทย์เสนอ “พลังงานน้ำ” ตัวเลือกพลังงานอีก 5 พันเมกะวัตต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟรอยเดอเนา เขื่อนพลังน้ำในออสเตรีย
ในหลากหลายแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีการเอ่ยถึง “พลังงานน้ำ” เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ยิ่งกับประเทศไทยที่มีแม่น้ำและลำคลองมากมาย อย่างที่มีคำกล่าวว่า “ไทยคือเวนิชตะวันออก” แล้ว ศ.ดร.ปรีดา ราชบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ ระบุว่าประเทศไทยยังมีพลังงานน้ำเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจอีกแหล่งหนึ่ง

ในการสัมมนา “เติมพลังงานให้อาเซียน: เทคโนโลยีและนโยบาย” เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) “พลังงานน้ำ” เป็นแหล่งพลังงานอันดับต้นๆ ที่เป็นหัวข้อหลักเรื่องหนึ่ง

ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ราชบัณฑิตสาขาวิศวกรรมศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน ผู้สนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนขนาดเล็ก เผยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพขยายกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยน้ำได้อีกอย่างน้อย 5,000 เมกะวัตต์ด้วยกัน
 
"เฉพาะชายแดนไทย –ลาวทางฝั่งแม่น้ำโขงที่มีศักยภาพผลิตไฟฟ้ากว่า 5,000 เมกะวัตต์ แต่ยังไม่มีการหารือกันของภาคีลุ่มน้ำโขงอย่างจริงจัง" ศ.ดร.ปรีดา ว่า

ศ.ดร.ปรีดา กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งสิ้น 33,348 เมกะวัตต์ โดยมีพลังงานน้ำอยู่เพียง 11% หรือ 3,424 เมกะวัตต์เท่านั้น จากศักยภาพที่เชื่อว่ายังอาจขยายได้ถึงอีกกว่า 10,000 เมกะวัตต์ เพื่อตอบรับกับความต้องการพลังงานที่จะเพิ่มอีกเท่าตัวในอีก 14 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ การสร้างเขื่อนเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ศ.ดร.ปรีดา เผยว่า จะเป็นเขื่อนขนาดเล็กที่คร่อมระหว่างลำน้ำ ไม่มีอ่างเก็บน้ำ และมีความสูงของสิ่งก่อสร้างน้อยกว่า 10 เมตร ทำให้การคมนาคมในแม่น้ำยังทำได้ และไม่มีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำหรือวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ หากมีแผนดำเนินการจริงก็สามารถทำได้ในทันที โดยการเก็บข้อมูล ออกแบบ และก่อสร้างด้วยเงินลงทุนจะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปตามความเหมาะสม

ศ.ดร.ปรีดา บอกอีกว่า สำหรับประเทศไทยอาจถือเขื่อนฟรอยเดอเนา (Freudenau Hydroelectric Power Station) เป็นต้นแบบได้ ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 172 เมกะวัตต์ บนฝั่งแม่น้ำดานูปในกรุงเวียนนา เมืองหลวงประเทศออสเตรีย ประเทศที่ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำกว่า 60% ของประเทศ

เวลานี้ สกว. และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เริ่มศึกษาข้อมูลลุ่มน้ำในประเทศทั้ง 25 ลุ่มน้ำแบบบูรณาการแล้ว มีลุ่มน้ำที่ศึกษาเสร็จสิ้นจำนวน 3 แห่งคือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำยม ในเขตภาคเหนือ และจะมีที่ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช อีกแห่งหนึ่ง” ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน กล่าว
ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น