xs
xsm
sm
md
lg

สภากาชาดผลิตน้ำยาตรวจพิษสุนัขบ้า ถูกกว่าต่างประเทศ 3 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทยผลิตน้ำยาตรวจโรคพิษสุนัขบ้าเองได้แล้ว จากแอนติบอดีของกระต่าย ไม่ต้องพึ่งพาน้ำยานำเข้าจากต่างปะเทศ ทั้งยังมีราคาถูกกว่า 3 เท่า นักวิจัยเผย กำลังพัฒนาชุดตรวจเชื้อในน้ำลายสุนัข คาดอีก 2 ปี สำเร็จผล

สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) พัฒนาน้ำยาตรวจเชื้อพิษสุนัขบ้าในสมองของสุนัขได้ โดยผ่านการทดสอบประสิทธิภาพจากหน่วยงานชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า 5 แห่งแล้ว ให้ผลไม่ต่างจากน้ำยาตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพง เตรียมผลิตจำหน่ายให้ศูนย์ชันสูตรโรคทั่วประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้สิทธิประโยชน์ในผลงานวิจัย เมื่อวันที่ 6 ก.ย.50 ณ สภากาชาดไทย

ดร.ทรงศรี เกษมพิมลพร ฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ผู้พัฒนาน้ำยาตรวจโรคพิษสุนัขบ้า หรือ น้ำยาคอนจูเกต เปิดเผยว่า ในแต่ละปีมีผู้ที่มารับการฉีดวัคซีนหลังจากถูกสุนัขกัด 4 แสนราย และสถานเสาวภาเองก็ต้องใช้น้ำยาตรวจวินิจฉัยเชื้อในสุนัขปีละไม่ต่ำกว่า 30 ขวด ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศราคาขวดละ 16,000 บาท และเมื่อคิดค่าใช้จ่ายของห้องปฏิบัติการตรวจโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศตกประมาณ 800,000-1,000,00 บาทต่อปี

“เมื่อเราสามารถผลิตน้ำยาตรวจเองได้ จะช่วยลดการนำเข้าน้ำยาจากต่างประเทศได้มาก และเป็นการพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ในประเทศไทยด้วย” ดร.ทรงศรี กล่าว

สำหรับวิธีตรวจโรคพิษสุนัขบ้าที่ใช้กันทั่วไป คือ การตรวจหาเชื้อในสมองด้วยวิธีฟลูออเรสเซนท์ แอนติบอดี เทสท์ หรือ เอฟเอที (Fluorescent antibody test: FAT) ซึ่ง ดร.ทรงศรี อธิบายว่า น้ำยาคอนจูเกตผลิตจากแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า คือ ไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) และติดสารเรืองแสงเข้ากับแอนติบอดี เพื่อเป็นเครื่องหมายในการตรวจหาเชื้อ

“เราใช้แอนติบอดีจากเลือดกระต่ายที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีต่อไวรัสพิษสุนัขบ้า จากนั้นเจาะเลือดเอามาสกัดแอนติบอดี ติดสารเรืองแสงฟลูออเรสเซนท์ และทำเป็นน้ำยาคอนจูเกต เมื่อจะใช้ตรวจเชื้อ ก็เจือจางน้ำยาด้วยสารละลายบัฟเฟอร์ แล้วหยดลงบนตัวอย่างชิ้นเนื้อสมองของสุนัขที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ทิ้งไว้ 30 นาที แล้วล้างด้วยบัฟเฟอร์ จากนั้นส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์” ดร.ทรงศรี อธิบาย ซึ่งหากสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะส่องกล้องเห็นสารเรืองแสงสีเขียวที่ติดอยู่กับแอนติบอดีที่จับกับเชื้อไวรัสได้ ทั้งนี้ ปริมาณน้ำยาตรวจที่ใช้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของกล้องจุลทรรศน์ด้วย

สำหรับน้ำยาคอนจูเกตนี้ ทางสถานเสาวภาได้ใช้เวลาพัฒนาตั้งแต่ปี 2547-2549 และได้ทดลองใช้ในในการตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้ากับศูนย์ชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้ามาแล้ว 5 แห่ง จาก 34 แห่ง ทั่วประเทศ และหลังจากนี้จะผลิตจำหน่ายในราคาขวดละ 5,000 บาท ปริมาณ 1.5 มิลลิลิตร โดยจะเริ่มเปิดตัวครั้งแรกในงานประชุมวันโรคพิษสุนัขบ้าโลก 7 ก.ย. 2550 ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

นอกจากนี้ ดร.ทรงศรี กำลังพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้าในน้ำลายสุนัข เพื่อที่จะได้ตรวจหาเชื้อโดยที่ไม่ต้องฆ่าสุนัขก่อน ซึ่ง ดร.ทรงศรี ตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตชุดตรวจนี้สำเร็จได้ภายใน 2 ปีนี้
ดร.ทรงศรี เกษมพิมลพร
น้ำยาตรวจเชื้อพิษสุนัขบ้าฝีมือนักวิจัยไทย (ภาพจากไบโอเทค)
สภากาชาด ร่วมกับ ไบโอเทค พัฒนานำยาคอนจูเกตสำหรับตรวจเชื้อพิษสุนัขบ้า เพื่อลดการนำเข้าน้ำยาจากต่างประเทศ (ภาพจากไบโอเทค)
กำลังโหลดความคิดเห็น