เอพี/บีบีซีนิวส์ – รัฐบาลอังกฤษออกกฎหมายอนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ทำวิจัยเสต็มเซลล์จากตัวอ่อนลูกผสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ได้ เพื่อหาวิธีรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคทางพันธุกรรม แต่ต้องอยู่ในกรอบของจริยธรรมและพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ขณะที่ยังมีบางส่วนกังวลว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษย์ดัดแปลงพันธุกรรม
สำนักงานการเจริญพันธุ์มนุษย์และตัวอ่อนวิทยา (Human Fertilization and Embryology Authority: HFEA) ประเทศอังกฤษ จัดประชุมเพื่อแถลงกฎระเบียบการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) จากตัวอ่อนลูกผสม ที่มาจากสารทางพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของมนุษย์ แต่เจริญเป็นตัวอ่อนอยู่ในเซลล์ไข่ของสัตว์
ทั้งนี้ สเต็มเซลล์ตัวอ่อนลูกผสม หรือ ไฮบริด เอ็มบริโอ (Hybrid embryo) มีข้อดีเหนือกว่าการใช้เซลล์จากไข่ของมนุษย์เอง เพื่อการวิจัยสร้างสเต็มเซลล์ที่มีศักยภาพในการรักษาโรคที่ดียิ่งขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ต่างเชื่อมั่นในศักยภาพของสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน ที่จะสามารถเจริญต่อไปเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ได้ดี แต่ที่ผ่านมานักวิจัยต้องใช้เซลล์ไข่ของมนุษย์ที่เหลือจากการช่วยการเจริญพันธุ์แก่ผู้มีบุตรยาก ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก และคุณภาพไม่เท่าเทียมกันเสมอไป ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการศึกษาวิจัย จึงมีแนวคิดที่จะสร้างตัวอ่อนลูกผสมขึ้นมาเพื่อใช้ในงานวิจัย โดยให้ตัวอ่อนมนุษย์เจริญอยู่ในเซลล์ไข่ของสัตว์
เซลล์ไข่ของสัตว์ที่นำมาใช้ในงานวิจัย อาจนำมาจากวัวหรือกระต่าย โดยนักวิจัยจะดึงเอาดีเอ็นเอที่อยู่ภายในออกไป จากนั้นจึงฉีดดีเอ็นเอของมนุษย์เข้าไปแทนที่ แล้วจึงกระตุ้นให้มีการแบ่งเซลล์ให้ได้เป็นตัวอ่อนที่มีอายุน้อยมากๆ เพื่อนำไปแยกเอาสเต็มเซลล์ต่อไป
ทั้งนี้ กลุ่มนักวิจัยในอังกฤษได้ผลักดันให้สามารถสร้างตัวอ่อนลูกผสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ เพื่อการทดลองมาตั้งแต่สมัยของนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ซึ่งในตอนแรกรัฐบาลยังไม่เห็นด้วยกับการทดลองดังกล่าว แต่ในที่สุดก็อนุมัติให้ทำการทดลองได้ โดยมีสำนักงานการเจริญพันธุ์มนุษย์ฯ คอยควบคุมดูแลเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเห็นชอบด้วย
อีกทั้ง ทีมนักวิจัยจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน (Kings College London) และมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) ก็ได้นำร่องสร้างตัวอ่อนลูกผสมไปก่อนหน้าแล้ว โดยอยู่ภายใต้กฏของสำนักงานการเจริญพันธุ์มนุษย์ฯ
“การทดลองในลักษณะนี้ อาจจะดูน่ารังเกียจไปบ้างในตอนแรก แต่คุณต้องเข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องใช้เซลล์ไข่ของวัว ซึ่งมีข้อมูลพันธุกรรมอยู่เพียงน้อยนิดมากๆ เราไม่ได้คิดที่จะสร้างมนุษย์ประหลาดครึ่งคนครึ่งวัวแต่อย่างใด การศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการสร้างสเต็มเซลล์มนุษย์ที่มีศักยภาพดีขึ้นต่างหากคือสิ่งที่เรามุ่งหวัง” ดร.ไลเล อาร์มสตรอง (Dr Lyle Armstrong) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล กล่าว
ทั้งนี้ ตัวอ่อนลูกผสมจะมีความเป็นมนุษย์อยู่ 99.9% ขณะที่อีก 0.1% เป็นของสัตว์ ซึ่งนักวิจัยเชื่อมั่นว่าการศึกษานี้จะช่วยเปิดโอกาสสู่การรักษาโรคอัลไซเมอร์ส และโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี นักต่อสู้เพื่อจริยธรรมก็ยังไม่เห็นด้วยกับการทดลองดังกล่าว และหวั่นเกรงว่าการสร้างตัวอ่อนมนุษย์ลูกผสม จะนำไปสู่การสร้างตัวอ่อนมนุษย์ดัดแปลงพันธุกรรมได้ในอนาคต
“การใช้ตัวอ่อนลูกผสมของมนุษย์กับสัตว์จะไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเด็ดขาด มันเป็นการละเมิดสิทธิของมนุษย์และสัตว์อย่างชัดเจน ประชาชนจะต้องหวาดหวั่นอย่างแน่นอนหากอนุญาตให้กระทำการดังกล่าวได้” โจเซไฟน ควินทาแวลล์ (Josephine Quintavalle) สมาชิกกลุ่มรณรงค์ด้านจริยธรรมการเจริญพันธุ์ (Comment on Reproductive Ethics) แสดงความเห็นต่อต้านการวิจัย
ส่วนสถานการณ์การวิจัยสเต็มเซลล์ในประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลียอนุญาตให้สร้างตัวอ่อนสำหรับการวิจัยได้ แต่ยังต้านการสร้างตัวอ่อนลูกผสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์
ขณะที่แคนาดามีกฎหมายห้ามสร้างตัวอ่อนลูกผสมมนุษย์กับสัตว์เด็ดขาด เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ ที่ไม่อนุญาตให้ทดลองกับตัวอ่อนลูกผสม แต่ยินยอมให้นำตัวอ่อนที่เหลือทิ้งจากการปฏิสนธิในหลอดทดลองของคู่สามีภรรยาที่มีบุตรยากมาทำวิจัยได้
สำหรับประเทศอื่นๆ ยังไม่มีกฎหมายชัดเจนในเรื่องตัวอ่อนลูกผสม แต่ในบางประเทศก็อนุญาตให้ใช้ตัวอ่อนที่ยังไม่ได้ฝังในมดลูกมาศึกษาวิจัยได้ เช่น อิตาลี และเยอรมนี ส่วนประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วไม่อนุญาตให้วิจัยตัวอ่อนได้