บีบีซีนิวส์-ทีมนักดาราศาสตร์จากสหรัฐฯ และอังกฤษใช้กล้องบนโลกบันทึกภาพอวกาศได้ชัดเจนกว่าที่เคย เผยใช้ "เลนส์ปรับค่า" ที่ให้ภาพคมชัดเป็น 2 เท่าของกล้องฮับเบิล
ด้วยระบบการถ่ายภาพอวกาศแบบใหม่ที่ใช้ "เลนส์ปรับค่า" (adaptive optics) ของหอดูดาวเมาท์พาโลมาร์ (Mount Palomar Observatory) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ทำให้ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือคาลเทค (California Institute of Technology: Caltech) สามารถบันทึกภาพได้ชัดเจนกว่าที่เคย และมีความคมชัดกว่าภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ถึง 2 เท่า
โดยปกติภาพจากฮับเบิลนั้นจะดีกว่าภาพที่บันทึกจากกล้องอื่นๆ ซึ่งติดตั้งบนภาคพื้นดิน เนื่องจากชั้นบรรยากาศของโลกรบกวนให้ภาพบิดเบือนไป แต่กล้องโทรทรรศน์บนภาคพื้นของเมาท์พาโลมาร์สามารถขจัดปัญหาดังกล่าวออกไปได้ด้วยระบบที่ผู้พัฒนาเรียกว่า "ลัคกี้" (Lucky) ซึ่งมีขั้นตอนการทำงาน 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนแรกใช้ระบบตรวจจับแสงความไวสูงซึ่งมีการปรับแต่งให้ทันสมัยอยู่ตลอด ตัวระบบประกอบด้วยชิปที่มีการระบบกวนทางไฟฟ้าต่ำซึ่งทำให้ได้ภาพที่เห็นรายละเอียดมากขึ้น ส่วนขั้นที่สองเป็นการใช้ซอฟต์แวร์ที่สามารถจำแนกได้ว่ามีการรบกวนของชั้นบรรยากาศเมื่อใด
ดร.เครียก แมกเคย์ (Dr.Craig Mackay) ผู้พัฒนาระบบดังกล่าวจากจากสถาบันดาราศาสตร์ (Institute of Astronomy) ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวถึงการบันทึกภาพอวกาศว่าคล้ายกับการมองวัตถุผ่านหมอกแดดที่ร้อนระอุ
"ภาพวัตถุจะถูกทำให้ผิดรูปโดยหมอกแดดอยู่ตลอดเวลา แต่ก็จะมีช่วงเวลาที่หมอกแดดเหล่านั้นหายไปแล้วคุณก็จะมองเห็นภาพนั้นได้อย่างชัดเจน" ดร.แมกเคย์กล่าว
ทั้งระบบตรวจจับแสงและระบบซอฟต์แวร์ทำงานร่วมกันเพื่อผนึกภาพที่ชัดเจนที่สุดและแยกส่วนที่ถูกทำให้ผิดเพี้ยนออกไป จนได้ภาพที่ ดร.แมกเคย์เชื่อว่าคือภาพชัดเจนที่สุดจากบนโลก
"ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศผลิตภาพคุณภาพสูงสุดขีดได้ก็จริง แต่ก็มีข้อจำกัดที่ขนาดของกล้องโทรทรรศน์ ส่วนเทคนิคของเราสามารถทำได้ดีมากเมื่อกล้องโทรทรรศน์ใหญ่กว่าฮับเบิลและให้ความละเอียดของภาพที่ดีกว่า" ดร.แมกเกย์กล่าว
สำหรับภาพที่นำออกมาเผยแพร่นั้นเป็นภาพกระจุกดาวทรงกลม M13 (Globular cluster) ซึ่งอยู่ไกลจากโลกออกไป 25,000 ปีแสง ส่วนอีกภาพเป็นภาพที่ค่อนข้างคมชัดของเนบิวลาตาแมว (Cat's Eye Nebula) หรือ NGC6543