xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.ธรณ์" นักสมุทรศาสตร์ผู้หลงรัก "ท้องทะเล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักสมุทรศาสตร์ อาจารย์ และนักเขียน ผู้มีความรักในธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทะเลไทย
เรียนวิทยาศาสตร์ใช่ว่าจะต้องอยู่แต่ในห้องทดลองตลอดเวลา เพราะข้างนอกนั่นยังมีอะไรอีกมากมายที่ท้าทายให้นักวิทยาศาสตร์ค้นหาความลับพร้อมกับพิสูจน์ความจริงอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับโลกใต้ทะเลที่เต็มไปด้วยความงามราวกับสวรรค์ใต้น้ำ บางครั้งน่าเห็นใจที่ถูกมนุษย์รังแก แต่เมื่อยามพิโรธก็ไม่ไว้หน้าใครทั้งนั้น

ทะเลไทย ที่หมายสำคัญแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกที่ใฝ่ฝันอยากจะมาเยือนและยลความงามของธรรมชาติใต้ทะเล และก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของ “นักสมุทรศาสตร์” ที่เป็นมากกว่านักวิทยาศาสตร์เมื่อเข้ามาอยู่ในเขตน่านน้ำประเทศไทย

“ผมกล้ารับประกันได้เลยว่าไม่มีนักสมุทรศาสตร์ที่ไหนในโลกน่าตื่นเต้นและท้าทายเท่ากับนักสมุทรศาสตร์ไทยอีกแล้ว” คำบอกเล่าของนักสมุทรศาสตร์ที่ทำงานคลุกคลีกับทะเลมาร่วม 20 ปี ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักสมุทรศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ทะเลไทย

ผมชอบทะเลมาก และก็คิดไว้แต่แรกแล้วว่าจะต้องเรียนอะไรที่เกี่ยวกับทะเล ผมจึงเลือกเรียนภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบปริญญาโท และไปเรียนต่อปริญญาเอกสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ประเทศออสเตรเลีย แล้วกลับมาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ ม.เกษตรศาสตร์” ดร.ธรณ์ เกริ่นประวัติของตัวเอง ซึ่งเขารับราชการมาประมาณ 13 ปีแล้ว

ดร.ธรณ์ เล่าว่า หลังจากที่เขาเรียนจบปริญญาเอก ก็ได้รับข้อเสนอให้ทำงานเป็นนักสมุทรศาสตร์อยู่ที่ออสเตรเลีย พร้อมกับอัตราเงินเดือนที่สูงลิ่วเมื่อเทียบเป็นเงินบาท แต่ที่สุด ดร.ธรณ์ ก็เลือกกลับมาทำงานรับใช้ชาติที่ประเทศไทย

“ทะเลที่โน่นมันสวยและดีอยู่แล้ว เพราะเขามีระบบการจัดการที่ดี ที่โน่นแค่เจอปลาโลมาบาดเจ็บเล็กน้อยเขาก็ตื่นเต้นกันยกใหญ่แล้ว แต่ทะเลไทยมีอะไรให้ทำมากกว่านั้นตั้งเยอะแยะ มันท้าทายและน่าตื่นเต้นยิ่งกว่า” ดร.ธรณ์ เปรียบเทียบสถานภาพของทะเลต่างประเทศกับทะเลในบ้านเรา ซึ่งนอกจากการจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งและใต้ทะเลแล้ว ยังมีเรื่องผลประโยชน์ของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าหรือการขุดเจาะน้ำมันที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลไม่มากก็น้อย ซึ่งนักสมุทรศาสตร์เองก็ต้องศึกษาและดำเนินการเพื่อไม่ให้มนุษย์เอาเปรียบธรรมชาติมากเกินไป

“เราต้องคิดว่ามนุษย์จะใช้ประโยชน์จากทะเลได้แค่ไหน ไม่ใช่คิดว่าทะเลให้อะไรเราได้บ้าง” ดร.ธรณ์ เน้นย้ำให้คำนึงถึงผลกระทบต่อทะเลจากการทำกิจกกรรมของมนุษย์

ดร.ธรณ์ อธิบายว่า หน้าที่ของนักสมุทรศาสตร์คือศึกษาและทำงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับทะเลและชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจหาแหล่งน้ำมันดิบ หรือกรมประมง กรมอุทกศาสตร์ กรมทรัพยากร กรมอุทยานแห่งชาติ กองทัพเรือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และองค์กรเอกชนต่างๆ ซึ่งนักสมุทรศาสตร์ก็ยังแตกแขนงได้อีก 3 สาขา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา

ด้านฟิสิกส์ก็ศึกษาเกี่ยวกับกระแสน้ำ คลื่นลมในทะเล ถ้าเป็นเคมีก็ดูแลเรื่องวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ส่วนด้านชีววิทยาก็ศึกษาเรื่องของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ดูปริมาณ การแพร่กระจาย สุขภาพ และสถานภาพ พวกนี้จะให้คำตอบเราได้ว่าระบบนิเวศวิทยาเป็นอย่างไร มีแนวโน้มไปในทิศทางไหน และจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้พิจารณาว่าจะใช้ประโยชน์จากทะเลได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งรวมไปถึงการท่องเที่ยวด้วย” ดร.ธรณ์ อธิบายหน้าที่ของนักสมุทรศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วต้องทำงานร่วมกันทุกสาขา และต้องประสานงานกับคนในท้องถิ่นด้วย

เมื่อนักท่องเที่ยวอยากดูปะการังก็ต้องดำลงไปใต้ทะเล เช่นเดียวกันกับนักสมุทรศาสตร์ที่ต้องดำดิ่งสู่ท้องทะเลเพื่อศึกษาความเป็นไปในทะเล ซึ่งนอกจากมีจุดประสงค์ต่างกันแล้ว วิธีปฏิบัติยังต่างกันด้วย

“ดำน้ำเที่ยวกับทำงานใต้น้ำนั้นต่างกันมาก นักสมุทรศาสตร์ต้องดำน้ำอย่างนักวิทยาศาสตร์ ต้องมีเทคนิค ดำอย่างไรไม่ให้กระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ใช่ดำอย่างนักท่องเที่ยว” ดร.ธรณ์ ชี้แจงและอธิบายว่า นักท่องเที่ยวเมื่อดำน้ำดูปะการังจะดำในแนวขวาง แต่นักสมุทรศาสตร์ต้องดำในแนวดิ่งโดยที่หัวทิ่มลงละขาชี้ขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อระวังไม่ให้ขาที่แกว่งไปมากระทบถูกปะการังอื่นๆ ที่เราไม่ได้สังเกต ซึ่งอาจทำให้ปะการังได้รับความเสียหายได้ ถ้าดำดูปะการังก็ไม่ลึกมากเท่าไหร่ แต่ถ้าดูสัตว์น้ำก็จะลึกหน่อย

ดร.ธรณ์ แจงว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะดำน้ำนานไม่เกิน 45 นาที ส่วนนักสมุทรศาสตร์จะดำน้ำกันประมาณ 1 ชั่วโมง หรือมากสุดก็ 2 ชั่วโมง และการทำงานใต้น้ำนั้นต้องทำได้ทุกเวลา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ถ้าจะดูพวกหอย ปู ก็ต้องดำเวลากลางคืน เพราะสัตว์เหล่านี้ออกหากินกันตอนกลางคืน

“นักสมุทรศาสตร์นั้นจะต้องอาศัยประสบการณ์มาก เพราะ 3 ส่วนอยู่ในห้องเรียน อีก 7 ส่วนอยู่ในทะเล เพราะฉะนั้นต้องสามารถออกทะเลได้บ่อย พร้อมทำงานได้ทุกเวลา และพร้อมที่จะฝ่าฟันมรสุมในทะเลได้ทุกเมื่อ” ดร.ธรณ์ ให้ข้อมูล

ดูเหมือนนักสมุทรศาสตร์จะต้องทรหดอดทนมากกับความยากลำบากในท้องทะเล แต่เพราะอะไรถึงทำให้ ดร.ธรณ์ เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลและรับราชการเป็นอาจารย์นักสมุทรศาสตร์ ซึ่งเขาก็ให้เหตุผลว่า

“มีแกะอยู่ 1 ฝูง แกะ 99 ตัว เห็นหญ้าเขียวชอุ่มอยู่บนเนินเขาแล้วต่างก็มุ่งหน้าไปที่นั่น ส่วนแกะอีกตัวหนึ่งเห็นอีกเนินเขาหนึ่งมีหญ้าขึ้นเพียงหลอมแหลม แต่กินให้ตายยังไงก็กินไม่หมด จึงเดินไปที่เนินเขานั้น” ดร.ธรณ์ บอกเหตุผลด้วยการอุปมาประหนึ่งว่าเขาเป็นแกะตัวที่เลือกกินหญ้าบนเนินเขาที่แกะตัวอื่นเมินหนี

“ครอบครัวของผมรับราชการมายาวนานหลายยุคสมัย ทั้งญาติฝ่ายคุณพ่อและคุณแม่ ส่วนผมเป็นลูกชายคนโต มีน้องชาย 1 คน กับน้องสาวอีก 1 คน ซึ่งทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า เราต้องทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ จึงเลือกที่จะเป็นข้าราชการ” ดร.ธรณ์ ให้เหตุผล

“เมื่อก่อนก็เคยคิดว่าทำไม่บางคนเป็นลูกอธิบดีแล้วรวยกว่า ส่วนเราที่เป็นลูกปลัดกระทรวง เป็นหลานนายกรัฐมนตรี ทำไมกลับจนกว่า พอกลับมาคิดใหม่ถึงรู้ว่าเราไม่ได้จน ทุกวันนี้คุณพ่อ (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีต รมช.และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เดินเข้ากระทรวง ทุกคนก็ยังยกมือไว้ด้วยความเคารพนับถือ ส่วนคุณปู่ (พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของประเทศไทย) ทุกคนก็ยอมรับว่าเป็นนายกฯ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดคนหนึ่งที่เคยมีมา มันเป็นศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ ซึ่งมันไม่มีตัวเลขอยู่ในสมุดแบงก์ ไม่สามารถแยกออกมาเป็นทุนได้ แต่มันจะเป็นพลังให้เราในการที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง คนสมัยนี้อาจจะไม่เห็นคุณค่าของคำว่า “เกียรติ” ไม่รู้จะมีไปทำไม ซื้อรถก็ไม่ได้ แต่ผมเป็นลูกหลานข้าราชการ ผมรู้ว่ามันมีความหมายมาก มันคือสิ่งที่เขาสะสมมาด้วยความดี” ดร.ธรณ์ เอ่ยถึงคุณพ่อและคุณปู่ของเขาที่เป็นตัวอย่างของบุคคลที่ทำงานเพื่อชาติ

ดร.ธรณ์ แสดงความเห็นว่า สมัยนี้กลายเป็นระบบทุนนิยมมากเกินไปเลยทำให้เด็กรุ่นใหม่อยากได้เงินเร็ว อยากได้เงินง่าย ซึ่งมันไม่มีจริง มันจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปเป็น 10 กว่าปี ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา

ขณะที่หลายฝ่ายในวงการวิทยาศาสตร์บ้านเราต่างกังวลกับปัญหาประเทศไทยขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ ดร.ธรณ์ กลับมีความเห็นว่า เขาไม่วิตกเรื่องปริมาณแต่เป็นห่วงเรื่องคุณภาพมากกว่า อย่างภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.เกษตรศาสตร์ ที่ ดร.ธรณ์ เป็นอาจารย์ประจำอยู่นั้นก็มีนิสิตเข้าใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 70 คน ซึ่งก็นับว่าค่อนข้างมากเลยทีเดียว และยังมีเปิดสอนที่สถาบันอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ ดร.ธรณ์ เป็นศิษย์เก่า ม.บูรพา และ ม.ราชภัฎต่างๆ อีกหลายแห่ง แต่อาจมีชื่อเรียกต่างกันไปบ้าง เช่น วาริชศาสตร์ หรือ ทรัพยากรน้ำ เป็นต้น

ดร.ธรณ์ ยังเชื่อมั่นว่าเด็กไทยจำนวนมากอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพียงแต่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนอยากให้ลูกทำงานด้านอื่นที่ได้เงินเดือนเยอะๆ เมื่อเด็กถูกพ่อแม่พูดกลอกหูบ่อยเข้าก็จะโอนเอียงไปตามพ่อแม่ได้

“ระหว่างทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ในออฟฟิศ หรืออยู่กับเครื่องจักรในโรงงานทั้งวัน กับอยู่ชายหาดที่มีน้ำทะเลใส มีสาวๆ ใส่บิกินีเดินไปเดินมา เด็กจะเลือกแบบไหนมากกว่ากัน” ดร.ธรณ์ พูดด้วยอารมณ์ขำขัน

“เข้าไปในป่าเพื่อไปตามหากวางประหลาดหรือสัตว์ในตำนานที่ไม่มีใครเคยพบเห็นมาก่อน แล้วเราพบเป็นคนแรก หรือดำน้ำลงไปใต้ทะเล พบปลาประหลาด ประเทศไทยที่ก่อตั้งมานานเกือบพันปีไม่เคยมีใครเคยเห็นสิ่งเหล่านี้ แต่เรากลับเจอเป็นคนแรก คิดดูสิว่ามันจะเท่มากแค่ไหน” ดร.ธรณ์ พรรณนาถึงสิ่งที่อาจเป็นความใฝ่ฝันของเด็กหลายคน

ไม่ว่าจะได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรแนะแนวเด็กนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ดร.ธรณ์ ก็จะไม่พยายามพูดชักจูงให้เด็กหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ แต่จะแนะนำให้น้องๆนักเรียนค้นหาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไร แล้วเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบเป็นการดีที่สุด พร้อมยกคำคมของบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยากรไทยที่ประสบความสำเร็จบนเวทีระดับโลกว่า “รู้ตัวก่อนคนอื่นเท่าไหร่ ก็มีเวลามากกว่าคนอื่นเท่านั้น”

“ลูกศิษย์ของผมมากมายที่เข้ามาเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลก็เพราะมีคำว่า “ทะเล” เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว มันเป็นความสนใจพื้นฐานที่ทำให้เราก้าวต่อไปได้” ดร.ธรณ์ ยกลูกศิษย์มาเป็นตัวอย่าง และฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนที่กลัวลูกของตัวเองจะจนว่าให้มาดูอาจารย์ธรณ์เป็นตัวอย่างได้

“เพื่อนผมหลายคนเป็นแพทย์ เป็นวิศวกร ได้เงินเดือนเยอะกว่าผม แต่ผมก็มีวิธีหาเงินอย่างอื่นได้” ดร.ธรณ์ แจง ซึ่งนอกจากเป็นอาจารย์และนักวิทยาศาสตร์แล้ว ดร.ธรณ์ ยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมายนับไม่ถ้วน แต่ละเรื่องก็ได้รับความนิยมจากผู้อ่านไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น สายเดี่ยวเที่ยวธรรมชาติ ใต้ทะเลมีความรัก หรือ ป๊ะป๋าปลาการ์ตูน

ผมรักทะเล ผมอยากรู้เรื่องแล้วก็อยากเล่าเรื่อง ทะเลเป็นแก่น อยู่ที่ว่าจะสื่อออกมาทางไหน ซึ่งก็คือการเป็นอาจารย์กับนักเขียน แต่ผมชอบเขียนหนังสือมากกว่า เพราะอยากเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง” ดร.ธรณ์ เล่า ซึ่งเขาไม่เพียงแต่เขียนหนังสือที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทะเลเท่านั้น แต่สามารถเขียนหนังสือได้ทุกแนวและยังเป็นคอลัมนิสให้กับหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ

เด็กเก่งด้านไหนก็ให้ไปด้านนั้น ให้โอกาสและส่งเสริมให้เป็นแบรนด์ไปเลย เหมือนอย่างพูดถึงทะเล คนก็จะนึกถึง อ.ธรณ์ พูดถึงนกเงือก ก็ต้องนึกถึง อ.พิไล (ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์) ถ้าเรื่องกล้วยไม้ ก็ต้อง อ.ระพี (ศ.ดร.ระพี สาคริก)” ดร.ธรณ์ แนะผู้ที่มีบุตรหลาน

ส่วนน้องๆ หนูๆ ไม่ว่าที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่หรือค้นพบตัวเองแล้วก็ตาม ดร.ธรณ์ ก็มี 4 คำคม จากหนังสือนวนิยายจีนกำลังภายในเรื่องหนึ่งฝากไว้ให้นำไปคิดและปฏิบัติกันเพื่อเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในอนาคต

“โกวเล้งเขียนเอาไว้ในเรื่องเดชขนนกยูง เป็นตอนหนึ่งที่ตัวเอกของเรื่องถามยอดฝีมืออันดับ 1 ว่า แก่นแท้ของวิทยายุทธคืออะไร? ยอดฝีมืออันดับ 1 ก็ตอบกลับไปว่า มีอยู่ 4 คำ คือ “ปักใจ แน่วแน่ มานะ ฝึกปรือ”

“ต้องรักเดียว รักจริงหวังแต่งด้วย และต้องทำไปจนตลอดชีวิต มานะฝึกปรือก็ไม่ใช่ท่องจำอย่างเดียว ต้องหาประสบการณ์หลายอย่าง และต้องไม่ขี้เกียจเมื่อเห็นโอกาส ทุกอย่างมันมีที่มา มีเหตุผล ที่สำคัญคือประสบการณ์ สิ่งที่เราทำในวันนี้มันอาจจะไม่ได้เห็นผลในทันที แต่มันจะเกิดผลเมื่อเวลาผ่านไปไม่ช้าก็เร็ว” ดร.ธรณ์ ฝากถึงทุกคน ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่ปล่อยให้โอกาสดีๆ ผ่านไป ใช้ความรู้ความสามารถในเรื่องที่ถนัด จนคว้าแชมป์สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ทะเลไทยไปครองได้อย่างภาคภูมิใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น