xs
xsm
sm
md
lg

ถกไทยใช้ "ซีแอล" แล้ว ต้องเร่งพัฒนางานวิจัยยาด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยแจงซีแอลเป็นวิธีแก้ปัญหาความไม่ยุติธรรมด้านสาธารณสุข เหตุที่ไทยต้องประกาศใช้ก็เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่มีราคาแพงได้ แม้แต่นักวิจัยสหรัฐฯเองยังท้อ ทำวิจัยยาไม่ต่างผลิตสินค้าฟุ่มเฟือย มองสิทธิบัตรเป็นเรื่องผูกขาด

หลังจากที่ประเทศไทยประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) กับยา 3 ชนิดได้แก่ เอฟฟาไวแรนซ์ (Effavirenz), โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (Lopinavir/Ritronavir) และโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ซึ่งมีราคาแพงมาก แต่จำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยในประเทศอย่างยิ่ง ทำให้เกิดเป็นประเด็นต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะทำให้ถูกมองว่าจะเป็นปัญหาต่อการวิจัยและพัฒนายาในประเทศ

ทั้งนี้ นักวิจัยก็ได้ออกมาชี้แจงระหว่างประชุมวิชาการ "การค้นพบและพัฒนายา ครั้งที่ 2" ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก ระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค. 2550 ว่าซีแอลไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิบัตร แต่เป็นวิธีการแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคของผู้ป่วย ซึ่งหากบริษัทขายยาในราคาเหมาะสมก็ไม่จำเป็นต้องใช้

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยประกาศใช้ซีแอลแล้วทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ไม่คาดคิดมาก่อนว่าไทยจะกล้าใช้สิทธิดังกล่าว

“สหรัฐฯ เห็นไทยเป็นประเทศเล็กๆ ตลาดส่งออกของไทยก็อยู่ที่สหรัฐฯ เป็นหลัก ฉะนั้นสหรัฐฯ ก็เลยไม่คาดคิดว่าไทยจะประกาศใช้ซีแอล แต่พอไทยประกาศใช้ซีแอลกับยาต้านไวรัสเอดส์และยารักษาโรคหัวใจเลยทำให้เกิดปัญหากับสหรัฐฯขึ้นมาทันที” รศ.ดร.จิราพร กล่าว

รศ.ดร.จิราพร อธิบายว่า เหตุที่ไทยต้องประกาศใช้ซีแอลก็เพราะยาแพงมากๆ และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องการยารักษาแต่ไม่สามารถจ่ายในราคาแพงขนาดนั้นได้ หากบริษัทยาไม่ตั้งราคาแพงจนเกินไปก็ไม่จำเป็นต้องใช้ซีแอล ซึ่งการที่มีสิทธิบัตรแล้วผูกขาดเป็นของตนเองแต่ผู้เดียวและขายยาในราคาแพงก็ทำให้ผู้ป่วยขาดโอกาสในการรักษาทั้งที่ผู้ป่วยทุกคนควรได้รับสิทธิในการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ รศ.ดร.จิราพร ได้ยกเอาข้อความของ ศ.ไบรอัน ดรูเกอร์ (Brian Druker) นักวิจัยของสถาบันมะเร็ง ม.วิทยาศาสตร์และสุขภาพโอเรกอน (Oregon Health and Science University Cancer Institute) สหรัฐฯ ที่ได้แสดงความคิดเห็นในกรณีที่บริษัทเอกชนขายยาในราคาแพงมากว่า

นักวิจัยทำวิจัยก็เพื่อพัฒนายาใหม่ๆ นำมาใช้รักษาผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยกลับไม่สามารถเข้าถึงยาที่พวกเขาต่างทุ่มเทค้นคว้าขึ้นมาได้ เพราะบริษัทยาเข้ามาซื้อสิทธิบัตรและผูกขาดเอาไว้เองแต่ผู้เดียวและขายในราคาแพง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วยาก็คงไม่ต่างอะไรจากสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีอยู่ทั่วไป

“ไบรอันเขียนเอาไว้ว่า สิทธิบัตรเป็นการผูกขาด แม้แต่นักวิจัยในประเทศเขาเองยังทนไม่ได้ที่บริษัทยามีพฤติกรรมเอาเปรียบประชาชนเช่นนี้ นักวิจัยเขาวิจัยก็เพราะต้องการหาองค์ความรู้ใหม่มาช่วยเหลือผู้คนให้มียารักษาโรค แต่บริษัทยากลับมาซื้อสิทธิและผูกขาดเป็นเจ้าของยาแต่ผู้เดียว และผลิตขายในราคาแพงเกินควร เป็นการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด” รศ.ดร.จิราพร กล่าว

ด้าน ภก.สรชัย จำเนียรดำรงการ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การมีสิทธิบัตรเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดการค้นคว้าวิจัยสิ่งใหม่ๆ มากมาย แต่เมื่อมองดูให้ชัดเจนจะเห็นว่ามีแต่สหรัฐฯ กับยุโรปเท่านั้นที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นการผูกขาดแทบทั้งสิ้น และยังเป็นการปิดกั้นการวิจัยในประเทศอื่นๆ ด้วย แต่การใช้ซีแอลนอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้แล้ว ยังสามารถทำให้บริษัทยาบางแห่งตื่นตัวและไม่ตั้งราคายาใหม่จนสูงเกินไปด้วย

ส่วนการประกาศใช้ซีแอลแล้วมีผลต่อการพัฒนายาในประเทศนั้น ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี จากองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า นักวิจัยไทยต้องมองว่าการประกาศใช้ซีแอลเป็นเรื่องปกติ เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคม ทั้งนี้ สิทธิบัตรจะต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดความสงบสุขทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่เมื่อไหร่ที่สองอย่างนี้ไม่สมดุลกัน ซีแอลก็คือวิธีที่ถูกนำมาใช้แก้ปัญหา

“ประเทศไทยต้องส่งเสริมการวิจัยและต้องมีกติกาที่ยุติธรรมด้วย ต้องใช้ระบบสิทธิบัตรควบคู่กับการใช้ซีแอลเพื่อความยุติธรรม และควรใช้ซีแอลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัยพร้อมทั้งต่อยอดออกสู่ตลาดให้ได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกเองก็มีนโยบายให้การสนับสนุนการวิจัยในยาที่มีราคาแพงเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขอย่างแท้จริง” ภญ.อัจฉรา กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น