xs
xsm
sm
md
lg

3 ทศวรรษสำรวจอวกาศ “วอยเอเจอร์” ปลายทางที่ขอบสุริยะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นาซา/สเปซดอทคอม - ฉลองครบรอบ 30 ปีส่งยาน “วอยเอเจอร์” ทั้ง 2 ลำสำรวจอวกาศ และดาวเคราะห์ชั้นนอกซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน เปิดโลกดาราศาสตร์และระบบสุริยะ รวมระยะทางสำรวจอวกาศเกือบ 2 หมื่นล้านกิโลเมตร

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ฉลองครบรอบ 30 ปีส่งยานอวกาศ “วอยเอเจอร์" 2 และ 1 ณ ศูนย์อวกาศเคเนดีแหลมคานาเวอราล มลรัฐฟลอริดา เพื่อออกสำรวจอวกาศ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.และ 5 ก.ย.2520 ตามลำดับ และยานทั้ง 2 นี้เดินทางเลยดาวพลูโต และกำลังไกลออกไปทุกขณะ

วอยเอเจอร์ 1 รับหน้าที่สำรวจชั้นบรรยากาศ สนามแม่เหล็ก ดวงจันทร์ และวงแหวนของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ โดยเดินทางถึงเป้าหมายเมื่อ 5 มี.ค.2522 ส่วนวอยเอเจอร์ 2 สำรวจดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ โดยถึงจุดหมายเมื่อ 9 ก.ค.2522 และขยายโครงการออกไปเพื่อสำรวจดาวยูเรนัส (ปี 2524) และดาวเนปจูน (2528)

วอยเอเจอร์ทั้ง 2 ลำได้ส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ช่วยสร้างความรู้และการค้นพบพื้นฐานเกี่ยวดาวเคราะห์ชั้นนอก พร้อมทั้งจันทร์บริวารของดาวเหล่านั้น ด้วยความสำเร็จเกินคาดจึงขยายภารกิจออกไปสำรวจนอกระบบสุริยะ

ทั้งนี้ ยานวอยเอเจอร์ 1 และ 2 ติดตั้งเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สำหรับศึกษาลมสุริยะ อนุภาคพลังงาน สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุ เมื่อยานเคลื่อนที่ไปบริเวณอวกาศห้วงลึกที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน

"ภารกิจของวอยเอเจอร์นับเป็นตำนานแห่งการสำรวจอวกาศ ช่วยเปิดตาพวกเราให้เห็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลนอกระบบสุริยะ" อลัน เสติร์น (Alan Stern) ผู้ช่วย ผอ.นาซากล่าว

เบื้องต้นวอยเอเจอร์ที่สร้างโดยห้องปฏิบัติการจรวดขับดันของนาซา (Jet Propulsion Laboratory : JPL) กับสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียร์ (California Institute of Technology : Caltech) ออกแบบให้รับภารกิจสำหรับ 4 ปี ทว่ากระทั่งปัจจุบันยานทั้ง 2 ก็ยังคงส่งข้อมูลกลับมายังโลก

อีกทั้งล่าสุดมีรายงานว่าวอยเอเจอร์ 1 อาจถึงขอบระบบสุริยะแล้ว นับเป็นเขตของอวกาศระหว่างดาว หรือเรียกว่าเขต "กำแพงกระแทก" (termination shock) ซึ่งอาจทำให้นักดาราศาสตร์สามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมภายนอกระบบสุริยะโดยตรงเป็นครั้งแรก

ปัจจุบันวอยเอเจอร์ 1 กลายเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นที่เดินทางได้ไกลที่สุดจากดวงอาทิตย์ เพราะขณะนี้วอยเอเจอร์ 1 อยู่ที่ระยุ 1.56 หมื่นล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ ขณะที่วอยเอเจอร์ 2 ห่างจากดวงอาทิตย์ 1.26 หมื่นล้านกิโลเมตร

ส่วนสิ่งที่วอยเอเจอร์ทั้ง 2 ค้นพบในช่วง 30 ปีที่ออกสำรวจมีมากมาย ที่สำคัญๆ ได้แก่

- วงแหวนบางๆ ของดาวพฤหัสบดี

- จุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (The Great Red Spot) มีขนาดใหญ่มาก และจุดดังกล่าวเกิดจากพายุหมุนคล้ายเฮอริเคนขนาดใหญ่หลายสิบลูกในชั้นบรรยากาศ

- ภูเขาไฟหลายแห่งกำลังคุกรุ่นอยู่บนไอโอ (Io) จันทร์บริวารของดาวพฤหัส ซึ่งการปะทุเหล่านี้รุนแรงกว่าบนโลกถึง 100 เท่า (เปลี่ยนแปลงที่เคยเชื่อว่าดวงจันทร์ไอโอมีอายุเก่าแก่ และมีหลุมอุกกาบาตคล้ายจันทร์บริวารของโลก)

- เห็นสภาพทางธรณีของจันทร์บริวารทั้ง 3 ของดาวพฤหัส ได้แก่ แกนิมิด (Ganymede) ที่ขรุขระ, คัลลิสโต (Callisto) ที่มีหลุมอุกกาบาตเก่าแก่ และ ยูโรปา (Europa) มีสันเนินเตี้ยๆ เป็นน้ำแข็งที่ตัดกันยุ่งเหยิง

- คลื่นและโครงสร้างโดยละเอียดของวงแหวนดาวเสาร์ รวมถึงจันทร์บริวารใกล้ๆ

- ชั้นบรรยากาศที่เป็นหมอกไนโตรเจนหนาทึมปกคลุมดวงจันทร์ไททันบริวารใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ และยังพบกลุ่มเมฆฝนมีเทน อีกทั้งพบว่าพื้นผิวของไททันเป็นหิน

- พบจุดมืดใหญ่ (Great Dark Spot) ในบรรยากาศของเนปจูนขนาดเท่าเส้นผ่าศูนย์กลางของโลก สนามแม่เหล็กและวงแหวน 5 วง เมฆสว่างสีขาวคล้ายกับเมฆเซอร์รัส รวมทั้งลมความเร็ว 1,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

- พบอาณาเขตที่เรียกว่าขอบอวกาศ (Heliopause) อยู่ระหว่างระบบสุริยะกับอวกาศระหว่างดวงดาว (Interstellar Space) นับเป็นจุดเริ่มต้นของอวกาศระหว่างดวงดาวที่เป็นขอบเขตสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์มีจำกัด

นอกจากนี้ยานแต่ละลำยังนำแผ่นทองซึ่งบันทึกข้อความจากบนโลก อาทิ คำอวยพร ภาพและเสียงต่างๆ และยังบันทึกคำแนะนำว่าจะค้นหาโลกได้อย่างไร หากสิ่งมีชีวิตอื่นนอกโลกที่อาจมีอยู่จริงค้นพบยานดังกล่าว

ติดตามรายละเอียดการเดินทางของวอยเอเจอร์ทั้ง 2 ได้ที่เว็บไซต์ภารกิจวอยเอเจอร์ ของนาซา http://www.nasa.gov/mission_pages/voyager/index.html



กำลังโหลดความคิดเห็น