xs
xsm
sm
md
lg

"ตอบปัญหาวิทยาศาสตร์" เวทีที่ขาดไม่ได้สำหรับเด็กเก่งวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยังจำภาพที่ที่ตัวเองขึ้นไปตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ในงานโรงเรียนหรือการแข่งขันระดับประเทศได้ไหม หรือภาพที่กำลังลุ้นเพื่อนๆ ร่วมโรงเรียนประชันความรู้กับเพื่อนต่างโรงเรียน หากจำไม่ได้ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จะพาคุณย้อนความทรงจำจากการแข่งขันที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ 50

การตอบปัญหาวิทยาศาสตร์เป็นสีสันหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยทีเดียวหากมีการจัดงานด้านวิทยาศาสตร์ และงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปีนี้ ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา มีเวทีประลองความรู้วิทยาศาสตร์ของนักเรียนมัธยมกันถึง 2 เวที

เวทีแรกเป็นการแข่งขันของนักเรียนจาก 18 จังหวัดภาคกลางที่จัดขึ้นโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาสาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดยได้คัดเลือกตัวแทนนักเรียนระดับ ม.ต้นและ ม.ปลาย ระดับละ 10 ทีมๆ ละ 2 คนเข้าแข่งขันในวันที่ 15 ส.ค. ทีมไหนตอบคำถาม 12 ข้อ ได้มากที่สุดคว้าตำแหน่งชนะเลิศไป

"เห็ดหลินจือทำหน้าที่ใดในระบบนิเวศ?" สิ้นสุดคำถามจากพิธีกร ทีมผู้แข่งขันมีเวลา 2 นาทีตอบคำถามที่ไม่มีตัวเลือกโดยต้องกดไฟตรงหน้าให้ติดก่อน กติกาคล้ายเกมโชว์ที่มีอยู่ดาษดื่นในรายงานโทรทัศน์ของไทย ต่างกันเพียงคำถามนั้นยากกว่าและต้องใช้สมองคิดในหลายชั้น หากทีมที่ได้สิทธิแรกตอบผิดก็เป็นโอกาสของทีมถัดไปได้แสดงความรู้ที่พากเพียรท่องมาจากตำราเรียน ซึ่งคำตอบในข้อนี้ทีมผู้แข่งขันสามารถตอบอย่างง่ายดายว่า "เป็นผู้ย่อยสลาย" ทว่ามีบางคำถามที่แต่ละทีมต่างแสดงความรู้จนกินเวลายาวนานแต่ก็ไม่โดนใจคณะกรรมการ สุดท้ายจึงไม่มีใครได้คะแนนเต็ม

การแข่งขันตอบปัญหาที่ผู้แข่งขันยืนเรียงกันอยู่บนเวทีกลางของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินไปครบทั้ง 2 ระดับ ได้ทีมชนะเลิศในระดับ ม.ต้น อันดับ 1 คือ โรงเรียนโพธิสารพิทยากร อันดับ 2.คือ โรงเรียนเทพศิรินทร์ และอันดับ 3 คือ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี ส่วนทีมชนะเลิศในระดับ ม.ปลาย อันดับ 1 และอันดับ 2 คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อันดับ 3 คือ โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ.เพชรบุรี

ด.ช.โสมนัส เปล่งรัศมี และ ด.ช.ศุภกิตต์ ไพบูลย์รุ่งโรจน์ นักเรียนชั้น ม.3 จากรงเรียนโพธิสารพิทยากร ย่านตลิ่งชัน กทม. ผู้คว้าตำแหน่งชนะอันดับ 1 การตอบปัญหาของ อพวช. ครั้งนี้กล่าวว่าใช้เวลาเตรียมตัวแค่อาทิตย์เดียว โดยก่อนหน้านี้ก็เคยไปแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์มาบ้างและชอบวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ซึ่งการแข่งขันตอบปัญหาก็ทำให้รู้จักโจทย์เยอะขึ้นและเป็นการฝึกแนวข้อสอบไปในตัว

อีกเวทีแข่งขันในวันเดียวกันเป็นเวทีที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับศูนย์ข่าวเยาวชนไทย ซึ่งได้เชิญตัวแทนนักเรียนจาก 20 โรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ทีมละ 2 คน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสอบข้อเขียนก่อนเพื่อรับการคัดเลือก 10 ทีมเข้าตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ และการประลองความรู้รอบสองแบ่งทีมออกเป็น 5 กลุ่มเพื่อประชันความรู้กันระหว่าง 2 ทีม ทีมไหนตอบคำถาม 3 ใน 5 ข้อได้ก่อน ขึ้นแท่นรอประชันความรู้ในรอบชิงชนะเลิศที่จะเหลือเพียง 5 ทีม และเช่นเดียวกันกับเวทีแรกทีมผู้เข้าแข่งขันต้องใช้ความไวในการกดปุ่มเพื่อชิงสิทธิในการตอบปัญหา เพียงแต่ว่าเวทีนี้มีตัวเลือกให้ในแต่ละคำถามยกเว้นรอบชิงชนะเลิศ

"กล้องดูดาวขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียซึ่งจะติดตั้งที่หอดูดาวแห่งชาติมีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่าไหร่" แม้จะเป็นความรู้ทั่วๆ ไป แต่หลายทีมก็ตอบไม่ได้กับคำถามนี้ กว่าที่จะได้คำตอบว่า 2.4 เมตรทุกทีมก็ใช้ตัวเลือกไปเกือบหมด และที่สุดก็ได้ผู้ชนะเลิศเป็น 2 สาวจากโรงเรียนศรีอยุธยา คือ น.ส.ธวัลรัตน์ ไชยพงศพาณิช และ น.ส.ชนกานต์ สุขณีรัตน์ นักเรียนชั้น ม. 6 ซึ่งทั้งสองเปิดเผยว่าได้รับคัดเลือกจากอาจารย์เมื่อวันที่ 14 ส.ค. เพียง 1 วันก่อนเข้าแข่งขัน โชคดีว่าทั้งคู่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์และเคยแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์มาบ้าง

"คำถามไม่ยากมาก แต่บางครั้งต้องอาศัยการตัดช้อยส์ (ตัวเลือก)" ชนกานต์ตอบอย่างฉะฉาน โดยสิ่งที่เธอและ ธวัลรัตน์ได้รับจากการแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์คือ "ได้เพื่อน" โดยบางคนเคยเจอกันในการแข่งขันตอบปัญหามาหลายเวทีจนสนิทกัน บางคนก็เคยชนะในเวทีอื่นแต่มาเวทีพวกเธอเป็นผู้ชนะบ้าง ขณะเดียวกันการขึ้นไปยืนอยู่บนเวทีเพื่อตอบปัญหาก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นจนทำอะไรไม่ถูกแต่ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ ดังนั้นการแข่งขันตอบปัญหาจึงช่วยในการฝึกจิตใจและตั้งสติ อีกทั้งยังเป็นการฝึกลงสนามแข่งขันก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ส่วนทีมที่ทำคะแนนได้เป็นอันดับ 2 ในการแข่งขันตอบปัญหาของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และศูนย์ข่าวเยาวชนฯ มี 2 ทีมคือ ทีมโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ และทีมโรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ จ.สมุทรสาคร ดังนั้นจึงไม่มีผู้ชนะในอันดับ 3 และ 2 ทีมที่เหลือคือทีมโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยและทีมโรงเรียนวัดราชโอรสก็รับรางวัลประกาศนียบัตรเป็นรางวัลปลอบใจ

...หลายคนอาจมองว่าเวทีตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ฝึกให้เด็กได้คิด แต่อย่างน้อยระหว่างลุ้นการตอบปัญหาของเยาวชนเราก็ได้ความรู้กลับไปพอสมควร ไม่ต่างอะไรกับการนั่งชมเด็กๆ ท่องจำใบหน้าคนสำคัญในรายการโทรทัศน์ คุณว่าไหม...



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับมหกรรมวิทย์ฯ เพิ่มเติม

ข่าววิทย์ใน "นสพ.ยักษ์" ฟ้องเด็กอยากได้สื่อเสนอสาระใกล้ตัว-ไฮเทค
- ข่าววิทย์ใน "นสพ.ยักษ์" ฟ้องเด็กอยากได้สื่อเสนอสาระใกล้ตัว-ไฮเทค
- มหกรรมวิทย์ 7 วันแรกยอดผู้ชมทะลุ 6 แสน 30% ชอบนิทรรศการโลกร้อน
- 3 ม.ตั้งสถานีตรวจนิวตรอนสิรินธร วัดรังสีคอสมิกเตือนภัยล่วงหน้า
- นาซาชวนคนไทยรู้จักปีสุริยะฟิสิกส์
- เปิดตัวนิทานดาวเวอร์ชันใหม่ “ดวงอาทิตย์ที่รัก”
- ตะลุยป่าฝนจำลอง "ฮาลา-บาลา" พบไม้เถามหัศจรรย์ที่เดียวในโลก
- หยุดยาววันแรกมหกรรมวิทย์คนบางตา-ตจว.พ้ออย่ารวมศูนย์แต่ กทม.
- "หุ่นยนต์ต้อนรับ" ฝีมือคนไทย
- สมเด็จพระเทพเสด็จฯ เปิดมหกรรมวิทย์ ทรงแนะใช้วิทยาศาสตร์แก้วิกฤติโลก
- "มูราตะ" และกองทัพหุ่นยนต์ญี่ปุ่นถึงสัปดาห์วิทย์แล้ว
- นำเที่ยว "มหกรรมวิทย์ 50"
- “มหกรรมวิทย์ 50” เปิดประตูเข้าชมงานแล้ว
- ชวนชมหุ่นยนต์ปั่นจักรยานในงานสัปดาห์วิทย์ 50
- สมาคมวิทย์ฯ จัดเวทีหาเด็กเก่งวิทย์เขตภาคกลางในสัปดาห์วิทย์ปี 50
- สัปดาห์วิทย์ปี 50 ชู “โลกร้อน” ผ่านโรงหนัง “4 มิติ”
- ชวนน้องๆ "จิตรลดา" เล่น "ว่าวไทย" ชิมลางสัปดาห์วิทย์ 50


กำลังโหลดความคิดเห็น