xs
xsm
sm
md
lg

"แพรว-พลีท" 2 พี่น้องสัมผัสประสบการณ์ทดลองที่ Zero-G

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อมนุษย์อวกาศไม่สบายแล้วต้องกินยา ยาที่กินเข้าไปจะมีสภาพเป็นอย่างไรหนอ? นี่คือความสงสัยของ 2 พี่น้องที่นำไปสู่การคิดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ศึกษาการแตกตัวของเม็ดยาในสภาพไร้น้ำหนัก จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนเยาวชนไทยทีมแรก ไปทดลองในสภาพไร้น้ำหนักจริงที่ประเทศญี่ปุ่น

อาภาภรณ์ และ สรัลพร บุณยรัตพันธุ์ สองศรีพี่น้องที่ร่วมกันคิดและนำเสนอโครงงาน “การแตกตัวของเม็ดยาในสภาพไร้น้ำหนัก” (Medical Drug Dispersion Under Microgravity) ผ่านโครงการ “เดอะ เธิร์ด สทิวเดนท์ ซีโรกราวิตี ไฟลต์ เอ็กเพอริเมนท์ คอนเทสต์ (The Third Student Zerogravity Flight Experiment Contest) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจกซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อเฟ้นหาตัวแทนเยาวชนไทยให้มีโอกาสได้ดำเนินการทดลองในสภาพไร้น้ำหนักจริง บนเครื่องบินที่ประเทศญี่ปุ่น

สรัลพรหรือ "พลีท" ชั้น ม.4 โรงเรียนนานาชาติเซนต์จอห์น เล่าว่า พวกเธอทั้ง 2 คนได้ร่วมกันคิดโครงงานนี้ส่งเข้าประกวดเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณา และดูความเป็นไปได้ที่จะทดลองในสภาพไร้น้ำหนักบนเครื่องบินภายในเวลา 20 วินาที และได้ไปทดลองจริงเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ด้านอาภาภรณ์ หรือ แพรว บัณฑิตหมาดๆ จากคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล บอกว่าที่คิดโครงงานนี้ได้เพราะนึกถึงเวลาที่นักบินอวกาศป่วยแล้วต้องกินยา ยาที่กินเข้าไปจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งในที่สุดการแตกตัวของเม็ดยาในสภาพไร้น้ำหนักก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงงานแรกของเยาวชนไทย ที่ได้ไปทดลองในสภาพไร้น้ำหนักจริง จากโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกสู่รอบสุดท้ายทั้งสิ้น 7 โครงงาน

“หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของแจกซาจากญี่ปุ่นเข้ามาช่วยพัฒนาอุปกรณ์ที่จะใช้ในการทดลอง ส่วนเม็ดยาที่ใช้เราก็ต้องพัฒนาให้สามารถแตกตัวได้ภายในเวลา 20 วินาที เพราะเรามีเวลาทดลองบนเครื่องบินเพียง 20 วินาทีเท่านั้น” พลีทอธิบาย ซึ่งเม็ดยาที่ทั้งสองนำมาใช้ทดลองนั้นได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ.ดร.ไสยวิชญ์ วรวินิต อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล เป็นผู้พัฒนาให้ใช้สำหรับการทดลองนี้โดยเฉพาะ

ทว่า การทดลองในสภาพไร้น้ำหนักบนเครื่องบินมีข้อจำกัดมากกว่าทดลองบนพื้นโลก ซึ่งแพรวบอกว่าขั้นตอนที่ยากที่สุดของการทดลองคือการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับทดลองบนเครื่องบินนั่นเองที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมากกว่าการทดลองบนพื้นโลก เช่น หากหลอดทดลองที่เป็นแก้วแตกเมื่ออยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักก็จะเป็นอันตรายกับทุกคนได้ เพราะเศษแก้วจะล่องลอยไปได้ทุกทิศทาง เราก็ต้องป้องกันโดยสวมห่วงยางยึดหลอดไว้กับหลุมวางหลอด ส่วนน้ำในหลอดทดลองก็ต้องป้องกันไว้ไม่ให้กระเด็นออกมานอกหลอด เป็นต้น

“เขาจะให้ทดลอง 2 เที่ยวบิน เที่ยวบินละประมาณ 1 ชม. และใน 1 เที่ยวบินจะทำให้เกิดสภาพไร้น้ำหนักประมาณ 8-10 ครั้ง นานครั้งละ 20 วินาที โดยบินในลักษณะคล้ายกราฟพาราโบลา เขาก็จะมีสัญญาณ บอกให้เราเตรียมพร้อมเมื่อจะเข้าสู่สภาพไร้น้ำหนัก พอเริ่มเข้าสู่สภาพไร้น้ำหนัก เราก็ดันกระบอกฉีดยาที่มีเม็ดยาอยู่ข้างในทันที ให้เม็ดยาหล่นลงไปในน้ำ และบันทึกวิดีโอไว้มาวิเคราะห์หลังจากนั้น” แพรวอธิบาย

ก่อนที่จะไปทดลองในสภาพไร้น้ำหนัก แพรวและพลีทศึกษาการแตกตัวของเม็ดยาในสภาพปกติบนพื้นโลก ได้ผลการทดลองคือ เมื่อใส่เม็ดยาลงในหลอดทดลองที่มีน้ำกลั่นอยู่ เม็ดยาจะจมลงอยู่ที่ก้นหลอดและกระจายตัวไปใน 2 ทิศทาง คือ ด้านบนและด้านข้าง

และเมื่อทดลองในสภาพไร้น้ำหนัก ผลที่ได้คือเม็ดยาไม่จมลงที่ก้นหลอด แต่จะลอยอยู่ใต้ผิวน้ำและกระจายตัวไปทุกทิศทางเพราะมีพื้นผิวสัมผัสกับน้ำในหลอดทดลองทุกด้าน ซึ่งแพรวและพลีทก็หวังว่าโครงงานนี้จะเป็นแนวทางในการพัฒนายาสำหรับนักบินอวกาศได้ต่อไปในอนาคต

"ช่วงเวลาบนเครื่องบิน ตื่นเต้นมากแต่ก็สนุกดี เพราะเครื่องบินเดี๋ยวก็บินขึ้น เดี๋ยวก็บินลง" สองพี่น้องเล่ากันอย่างขำขัน ซึ่งทั้ง 2 คนผลัดกันขึ้นเครื่องบินคนละเที่ยวบิน ไม่ได้ขึ้นไปทดลองพร้อมกันทีเดียว 2 คน และยังมีเพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่นอีกหลายคนที่ได้ขึ้นไปทดลองด้วยเหมือนกัน

สองศรีพี่น้องบอกว่าโครงงานวิทยาศาสตร์ชิ้นนี้นับนี้เป็นโครงงานแรกของพวกเธอ ได้ความประทับใจและได้ประสบการณ์ที่หลากหลายมาก ทั้งได้เรียนรู้การทำงานโครงงาน ได้ทดลองบนเครื่องบิน มีมิตรภาพระหว่างเพื่อนและเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลให้การทดลองสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นับว่าเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆ เลย

อีกทั้งในขณะที่ทั้ง 2 คน เดินทางไปญี่ปุ่นช่วงเดือน มี.ค. ก็ใกล้สอบปลายภาคเต็มที แต่ทั้ง 2 สาวยังสามารถทำคะแนนสอบได้ดีไม่แพ้ช่วงเวลาปกติเลยด้วย และทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นกำลังใจให้ตลอดเวลา ซึ่งแพรวบอกว่าทั้ง 2 ท่านมีส่วนช่วยในโครงงานนี้ด้วยเหมือน

ทั้งนี้ แพรวและพลีทได้นำโครงงานชิ้นนี้มาเผยแพร่และแบ่งปันให้น้องๆ เยาวชนได้ร่วมเปิดประสบการณ์ด้วยในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2550 ตั้งแต่ 8-19 ส.ค. ที่ไบเทค บางนา และทั้งคู่จะเล่าประสบการณ์บนเวทีใหญ่ของงานในวันที่ 18–19 ส.ค. นี้ พร้อมมีกิจกรรมให้ผู้ชมได้ร่วมสนุก

ส่วนใครที่อยากได้ประสบการณ์ทำการทดลองบนเครื่องบินในสภาพไร้น้ำหนักอย่างแพรวและพีท ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.tmc.nstda.or.th/jaxa หรือ http://iss.jaxa.jp/education/parabolic/en/index.html










กำลังโหลดความคิดเห็น