รู้จักหน่วยงานวิจัยวัสดุใหญ่สุดของชาติผ่าน "ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์" ชายร่างใหญ่วัย 53 ผู้กุมทิศทางเอ็มเทคครบ 2 วาระยาวนาน 8 ปี
บรรจุภัณฑ์ยืดอายุผัก-ผลไม้ แผ่นฟิล์มกันร้อนและรังสียูวี เซรามิกส์จากวัสดุเหลือใช้ที่ทนอุณหภูมิหลายพันองศาเซลเซียส หรือหลายคนอาจจะนึกถึง "เซรามิกส์พับได้" และผลงานอีกมากมายที่เรายังมองไม่เห็น คือผลงานของนักวิจัยไทยที่อยู่ภายใต้เงาศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ซึ่ง เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมาเอ็มเทคก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 พร้อมๆ กันวันนี้ที่ รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการเอ็มเทคจะก้าวพ้นเก้าอี้ผู้บริหารหลังจากครองตำแหน่งครบ 2 วาระในวัยที่ยังห่างไกลการเกษียณอายุข้าราชการถึง 7 ปี
ในฐานะผู้กำหนดทิศทางวิจัยและบทบาท "หางเสือ" ของหน่วยงานวิจัยทางด้านวัสดุระดับชาติ ชายร่างใหญ่ผู้พกดีกรี "ด็อกเตอร์" ด้านวิศวกรรมโลหการ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว สถาบันการศึกษาอันดับ 1 ของญี่ปุ่น และหนีบประสบการณ์เป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยาวนานเกือบ 20 ปี "รศ.ดร.ปริทรรศน์" มีมุมมองอย่างไรต่อหน่วยงานที่เขารับหน้าที่บริหารถึง 8 ปี
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-นิยามของเอ็มเทคคืออะไร
รศ.ดร.ปริทรรศน์-หมายถึงหน่วยงานที่สร้างความรู้ทางด้านของวัสดุ ซึ่งครอบคลุมโลหะ เซรามิกส์ พอลิเมอร์ทั้งหลาย เป็นความรู้ทั้งขั้นพื้นฐานเชิงทฤษฎี และเป็นความรู้ที่ประยุก์ใช้ได้ทั้งในภาคเอกชนและสาธารณประโยชน์ทั้งหลาย นั่นคือนิยามของเอ็มเทคที่อยากจะให้ทุกคนได้เข้าใจ
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-อยากให้คนภายนอกมองเอ็มเทคอย่างไร
รศ.ดร.ปริทรรศน์-อยากให้คนภายนอกมองว่าเป็นแหล่งที่จะให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีวัสดุได้ และเป็นที่ให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับวัสดุได้ และเป็นหน่วยงานที่เป็นฐานสำคัญในการที่จะสร้างความเข้มแข็งในภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพราะวัสดุเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมทุกประเภท
ต้องใช้คำว่าทุกประเภท เพียงแต่ว่าเรามองไม่เห็นเพราะเราเห็นอยู่ทุกวันจนเรามองไม่เห็น คนจึงมองข้ามความสำคัญของวัสดุทั้งหลาย พบว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งหลาย แม้แต่นาโนก็มาจากเทคโนโลยีวัสดุทั้งนั้น ถ้าประเทศใดก็ตามมีความก้าวหน้าทางด้านวัสดุ ประเทศนั้นก็จะมีความก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ อย่างมากมาย
ไล่ย้อนกลับไปดูญี่ปุ่นสมัยพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาก็เริ่มจากอุตสาหกรรมเหล็กก่อน เกาหลี ไต้หวัน อังกฤษ อเมริกาก็เช่นกัน อังกฤษนั้นมีอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เข้มแข็ง แต่เมื่อจะเปลี่ยนมาเป็นอุตสาหกรรมอื่นก็ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กก่อน เพราะเป็นวัสดุที่เป็นพื้นฐานสำหรับก้าวไปสุ่อุตสาหกรรมอื่น
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-ระหว่างเป็นหน่วยงานทำงานวิจัยด้านวัสดุกับหน่วยงานให้ความรู้ด้านวัสดุ ให้น้ำหนักส่วนไหนมากกว่ากัน
รศ.ดร.ปริทรรศน์-เรามองตัวเองคล้ายกับ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) คือเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคผู้ใช้และสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นแหล่งสร้างความรู้ แต่หลายครั้งที่เราพบว่าสถาบันการศึกษาทั่วโลกพัฒนาความรู้แบบค่อนข้างห่างผู้ใช้ ฉะนั้นทุกประเทศจะมีองค์กรหนึ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้สร้างความรู้และผู้ใช้ (ประโยชน์) ความรู้
เราเป็นส่วนที่เชื่อมโยงตรงนั้น และบทบาทขององค์กรเหล่านี้ในประเทศใดก็ตามจะเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของประเทศนั้นๆ ถ้าประเทศที่พัฒนาก้าวหน้าไปมากแล้ว องค์กรตรงนี้ก็จะค่อนข้างเอียงไปในทางการสร้างความรู้พื้นฐาน
ถ้าแบ่งการพัฒนาออกเป็น R-Research (วิจัย) D-Development (พัฒนา) D-Design (ออกแบบ) E-Engineer (วิศวกรรม) และ I-Innovation (นวัตกรรม) ในประเทศพัฒนาแล้วนั้น ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการความรู้ไปใช้จะทำตั้งแต่ D ตัวที่ 3 ไปถึง E และ I ส่วนองค์กรภาครัฐและสถาบันการศึกษาก็จะทำ R และ D
แต่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียนั้น หน่วยงานภาคเอกชนที่จะศึกษาประโยชน์เพื่อนำใช้ยังไม่แข็งแรงพอ ฉะนั้นองค์กรภาครัฐก็ดี สถาบันการศึกษาก็ดี ก็ต้องทำงานค่อนข้างกว้าง ในตอนต้นเราอาจจะทำไล่ตั้งแต่ R D D E I เปรียบเทียบเหมือนเราทำอาหารเสร็จแล้วเคี้ยวให้เขาด้วย ส่วนผู้ใช้มีหน้าที่กลืนอย่างเดียว
จริงๆ แล้วเราไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น แต่เราก็ต้องทำจนกว่าภาคเอกชนจะแข็งแรงขึ้น รับส่วน I ไป รับส่วน E ไป รับส่วน D ไป ซึ่งเราดูได้จากเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนว่ามากน้อยแค่ไหน เมื่อไหร่ที่สัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่าภาครัฐแสดงว่าภาคเอกชนนั้นค่อนข้างพร้อมแล้ว
ขณะนี้ไทยลงทุนวิจัยและพัฒนาหมื่นกว่าล้าน ส่วนภาคเอกชนลงทุนประมาณห้าพันล้านบาท แต่ญี่ปุ่นก็ดี อเมริกาก็ดี เกาหลี ไต้หวันก็ดี เอกชนเขาจะลงทุน 1 เท่า 1.5 เท่า หรือ 2 เท่าที่ภาครัฐลงทุน ดังนั้นหน่วยงานของเขาที่คล้ายกับเราจึงทำอะไรที่ครอบคลุมน้อยกว่าเราเยอะ
เมื่อก่อนเรายังทำคล้ายมหาวิทยาลัย แต่ตั้งแต่ รศ.ศักดิ์รินทร์ ภูมิรัตน (ผอ.สวทช.) เข้ามาเราก็เปลี่ยนและตั้งเป้าหมายไปที่ภาคอุตสาหกรรม สัดส่วนการประยุกต์ใช้ค่อนข้างเยอะ ตัวเลขที่เราวางไว้ ต่อไป 25% เป็นการลงทุนด้านพื้นฐาน และการประยุกต์ 75% เพื่อให้เขาสู่เป้าหมายการประยุกต์ใช้มากขึ้น
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-นิยามเทคโนโลยีวัสดุคืออะไร จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจความหมายตรงนี้
รศ.ดร.ปริทรรศน์-เทคโนโลยีวัสดุคือเทคโนโลยีที่จะนำเอาวัสดุมาใช้ประโยชน์และทำหน้าที่ตามที่เราต้องการโดยไม่เกิดผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม เดี๋ยวนี้เราพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเยอะ เทคโนโลยีวัสดุก็จะครอบคลุมตั้งแต่ต้นกำเนิดวัสดุไปจนถึงสิ้นสุดอายุการใช้งานวัสดุต่างๆ เริ่มตั้งแต่ออกแบบ คัดเลือก การผลิต การแปรรูป จนถึงการนำกลับมาใช้ใหม่หรือแปลเป็นพลังงาน โดยไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ
ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าใจ...ยาก ถ้าจะทำให้ประชาชนเข้าใจเราก็เริ่มต้นที่หยิบยกตัวอย่างที่วัสดุนั้นมีบทบาทสำคัญ เช่น พลังงานอย่างแก๊สโซฮอล์ ที่พูดกันว่ทำให้รถพัง เราก็อธิบายว่าแก๊สโซฮอล์เกิดจากเบนซิน 90% แอลกอฮอล์ 10% ซึ่งแอลกอฮอล์นั้นมีส่วนผสมของน้ำอยู่ด้วย จึงผลกระทบให้เกิดการกัดกร่อนวัสดุที่เป็นโลหะ แต่ว่าการผสม 10 % นั้นไม่มีผลให้เกิดการกัดกร่อนเพราะว่าวัสดุที่เป็นโลหะหรือยางนั้นได้รับการออกแบบให้รองรับการกัดกร่อนแบบนี้ได้
หรืออยกตัวอย่างความเสียหายต่างๆ เช่น อาคารร้าว แฟลตร้าวหนักๆ เนื่องจากอะไร เนื่องจากคอนกรีตหมดอายุการใช้งาน ถ้าจะให้อายุการใช้งานดี เวลาสร้างต้องดูว่าทรายที่เป็นส่วนผสมนั้นไม่มีเกลือที่สาเหตุของการกัดกร่อน เนื่องจากซีเมนส์เกาะกับเหล็ก ถ้าทรายเราสะอาดบริสุทธิ์ ซีมนส์ก็จะเกาะเหล็กได้นาน แต่ถ้ามีเกลือเจือปนเหล็กก็จะเป็นสนิมและหลุดเป็นแผ่น ซีเมนส์ก็เกาะกับแผ่นนั้นเมื่อหลุดก็เริ่มร้าว แตกและพัง
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-เอ็มเทคได้พยายามสร้างความเข้าใจกับประชาชนตรงนี้หรือไม่
รศ.ดร.ปริทรรศน์-เราทำอย่างนี้ในหลายระดับ สิ่งที่ทำอย่างหนึ่งในช่วงปีแรกๆ ที่ผมเข้ามาคือเริ่มทำหลักสูตรวัสดุพื้นฐานให้กับครูมัธยมได้ 6-7 รุ่น แล้วทำหนังสือครูมือเป็นตำราการเรียนการสอนออกมา ในกลุ่มที่ทำวัสดุสิ่งแวดล้อทมก็ทำเกี่ยวกับเรื่องวัสดุรีไซเคิล รีไซเคิลแก้วอย่างไร โลหะอย่างไร กระดาษอย่างไร พลาสติกอย่างไร ก็ทำเป็นการ์ตูนแจกจ่ายไป แล้วมี "บริการหลังการขาย" คือ ออกค่ายตามโรงเรียน
อีกอย่างคือในช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์ก็มีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ เราก็จะอธิบายว่ากระดาษเป็นวัสดุที่พับแล้วจะทำให้ร่อนได้นานนั้น รูปทรงต้องเป็นอย่างไร ไม่เปียก ไม่ชื้น สิ่งเหล่านี้เราพยายามเริ่มจากฐานรากคือเด็กและครู และก็มีวารสารเทคโนโลยีวัสดุที่มีเป้าหมายเป็นนักเรียนมัธยม นักศึกษาปริญญาตรีก็มีตำราเรียน เหล่านี้คือสื่อที่เราพยายามทำให้เกิดความเข้าใจในวัสดุมากขึ้น
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-ในส่วนภาคอุตสาหกรรมทำอะไรบ้าง
รศ.ดร.ปริทรรศน์-เราจับกันที่คลัสเตอร์ (กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย) เริ่มที่คลัสเตอร์ยานยนต์ สิ่งที่เราทำคือกลุ่มวิศวกรรมคำนวณวิเคราะห์ที่ช่วยเขาแก้ไขปัญหาในการขึ้นรูปส่วนประกอบของยานยนต์ ช่วยในการออกแบบแม่พิมพ์ ล่าสุดคือทำห้องปฏิบัติการทดสอบแสง ไม่น่าเชื่อว่าเรายังทำหลอดไฟรถยนต์เองไม่ได้เพราะเราไม่มีห้องปฏิบัติการทดสอบต่างๆ
ด้านพลังงานก็ทำมาตั้งแต่ต้น อย่างที่เห็นคือเรื่องแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล ตอนนี้เรามีโรงงานไบโอดีเซลเฉลิมพระเกียรติที่รอติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไบโอดีเซลแบบครบวงจร คือครอบคลุมตั้งแต่การคักพันธุ์ การปลูก แล้วแปรรูป การจัดการกากและผลิตภัณฑ์พลอยได้ (กลีเซอรอล) จะเริ่มดำเนินการเร็วๆ นี้ ส่วนแก๊สโซฮอล์คือเพิ่มสัดส่วนเอทานอลในเบนซินจาก 10% เป็น 20% ขึ้นไปเป็น 85% ซึ่งรัฐบาลเพิ่งจะตกลงลดภาษีรถ E20 ได้ ต่อ E85 จะเข้ามา
เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเราทำเซลล์แสงอาทิตย์ย้อมสีแบบไวแสง ประสิทธิภาพขึ้นไปที่ 7-8% แล้ว ซึ่งควรจะขึ้นไปให้ได้มากนั้นอีก ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง ส่วนเซลล์แสงอาทิตย์ปกติก็เป็นงานของสถาบันเซลล์แสงอาทิตย์ อีกงานที่กำลังเริ่มต้นคือการออกแบบกังหันลมซึ่งร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แล้วจะนำไปติดตั้งในที่มีลม โดยเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่สามารถให้กำเนิดไฟฟ้าได้ดี และที่มองยาวไปในอนาคตคือเรือ่งพลังงานนิวเคลียร์ที่เริ่มตัดสินใจแล้วว่า "เอาแน่" เราจึงต้องมองไปอีก 30-40 ปีข้างหน้าว่าวัสดุเก็บแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่หมดอายุจะทำได้อย่างไร
ด้านการแพทย์-สาธารณสุขคือการใช้การขึ้นรูปรวดเร็วที่ใช้ในการผ่าตัด ร่วมกับโรงพยาบาล 6 แห่ง ในการผ่าตัดกะโหลก โครงหน้า ทำให้เราลดเวลาผ่าตัดได้ถึง 40% เคสที่ทำมา 100 เคสก็ไม่มีปัญหาอะไร และเรื่องรากฟันเทียมที่จะเริ่มทดสอบกับ 10,000 คน จำนวน 20,000 ราก แล้วยังมีเรื่องไคติน-ไคโตซาน ผิวหนังเทียม ข้อเข่าเทียม และเริ่มศึกษาการทำเท้าเทียมด้วย
ยังมีด้านอาหารและการเกษตร ที่มีบรรจุภัณฑ์ยืดอายุผัก-ผลไม้ช่วยในการส่งออก หรือโรงเรือนที่ใช้พลาสติกคลุมตัดรังสียูวีให้พืชเติบโตได้ดี หรือพลาสติกห่อมะม่วงให้มีผลใหญ่ขึ้น และยังมีห้องทดสอบความเป็นพิษในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย รวมไปถึงความช่วยเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอให้พัฒนากระบวนการผลิตสิ่งทอได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้าสู่มาตรฐาน EU Flower ของสหภาพยุโรป โดยนำร่องใน 4 บริษัทและมีโรงงานผ้าไหมที่ได้รับมาตรฐานนี้แห่งแรกในโลก
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-คลัสเตอร์ไหนที่เด่นที่สุดและมีศักยภาพที่เทคโนโลยีวัสดุจะเข้าไปส่งเสริมได้มากที่สุด
รศ.ดร.ปริทรรศน์-ผมคิดว่าพอๆ กัน ขึ้นอยู่กับสถานภาพด้านเศรษฐกิจและแนวโน้มต่างๆ ที่ผมมองว่าต้องเร่งดำเนินการมากๆ แต่อย่าเรียกว่าเด่นที่สุดคือคลัสเตอร์นยานยนต์ เพราะตอนนี้แนวโน้มยานยนต์โลกนั้นผู้ผลิตรายใหญ่ๆ เริ่มลดน้อยลง มีการรวมตัวกัน ตลาดก็จะมีการผูกขาดมากขึ้น ทำอย่างไรผู้ประกอบการของเราที่อยู่ในระดับผลิตชิ้นส่วนถึงจะอยู่รอดได้
เรามองไว้ 3 ด้านคือ 1.พยายามพัฒนาชิ้นส่วนหลักๆ ขึ้นมาเอง 2.ยกระดับผู้ผลิตรายย่อยให้สามารถขายผู้ผลิตรายใหญ่ได้ 3.พัฒนาเรื่องชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ เหมือนที่ไต้หวันทำเพราะว่าตรงนี้น่าจะมีศักยภาพมากที่สุด และโยงคลัสเตอร์นี้ไปที่อุตสาหกรรมเหล็กซึ่งกำลัง(ประสบปัญหา)หนักอยู่เหมือนกัน ซึ่งมีสถานการ์ณคล้ายอุตสาหกรรมยานยนต์คือเริ่มมีผู้ประกอบการรายใหญ่น้อยราย
ปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กที่เรามองขณะนี้คือเราซื้อผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปมารีดเป็นแผ่น เป็นเส้น ในอนาคตผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปนี้ก็จะไม่มีขายในตลาด และถ้าไม่มีก็ลองนึกดู อุตสาหกรรมก่อสร้างไปแน่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไม่เหลือ เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างลำบาก เราจึงพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้ซึ่งร่วมกับสถาบันเหล็กมาเกือบ 20 ปีแล้ว เราบอกรัฐบาลว่าเราจำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำที่จะทำเหล็กตั้งแต่เริ่มถลุงจากสินแร่หรือจากเศษเหล็กอะไรก็แล้วแต่...ไม่ค่อยสำเร็จ
ไม่สำเร็จเพราะว่าในทุกประเทศไล่มาตั้งแต่อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย ทุกประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กหมด โดยรัฐบาลลงครึ่งหนึ่ง เอกชนลงครึ่งหนึ่งทั้งนั้นที่เป็นอย่างนั้นเพราะอุตสาหกรรมเห็ลกต้นน้ำกำไรน้อยแต่ลงทุนสูง ถ้ารัฐบาลไม่ลงให้เอกชนลงเองก็ยากที่จะอยู่รอด
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-เราไม่มีแหล่งแร่เหล็กแล้วจะทำอุตสาหกรรมถลุงเหล็กได้อย่างไร
รศ.ดร.ปริทรรศน์-เราไม่มี ญี่ปุ่นก็ไม่มีแล้วเขาทำอย่างไร ก็ไปเอาแร่จากที่อื่นมา ไม่มีปัญหา ตรงนั้นทำได้อยู่แล้ว อยากให้รัฐบาลช่วยตรงนี้ ไม่งั้นอุตสาหกรรมอื่นจะไปไม่รอด แล้วเราอยากทำให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้ เพราะถ้าไม่เสร็จรัฐบาลหน้าก็จะยื้อไว้อีก เกิดยาก
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-ถ้าพูดถึง สวทช. ดูเหมือนว่าทางศูนย์พันธุกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จะมีผลงานเยอะที่สุด
รศ.ดร.ปริทรรศน์- แน่นอนสิ เพราะ 1.ไบโอเทคเกิดก่อน 2.คนของไบโอเทคเยอะมาก ไม่ได้หมายถึงคนที่ศูนย์เขาเยอะ กำลังคนของเขาเป็นอันดับสองรองจากเนคเทค (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) อันดับสามคือเอ็มเทค แต่เรานับคนในนั้นไม่ได้ ต้องนับคนเครือข่ายทั้งประเทศ ถ้าถามว่านักวิจัยทั่วประเทศเครือข่ายไหนเยอะสุด คำตอบคือไบโอเทค ดังนั้นไบโอเทคจะทำงานด้วยนักวิจัยของตัวเองและเครือข่าย และผลงานที่ออกมาบางครั้งออกมาจากเครือข่ายมากกว่าไบโอเทคเอง
เมื่อเปรียบเทียบกำลังคนทั้งประเทศ ไบโอเทคอยู่อันดับหนึ่ง เนคเทคอยู่อันดับสอง เอ็มเทคอยู่อันดับสาม เมื่อก่อนเราอยู่ที่โหล่ แต่พอมีนาโนเทค (ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ) ขึ้นมาเราเลยอยู่อันดับสาม เพราะคนเราน้อยดังนั้นโอกาสจะให้เกิดผลกระทบต้องใช้เวลา ให้เวลาเราอีก 10 ปี งานของเราก็จะเท่ากับไบโอเทคขณะนี้ แต่เมื่อถึงเวลานั้นไบโอเทคก็จะไปอีกแล้ว เนื่องจากกำลังคนของเราไม่มาก โอกาสที่งานของเราจะทยอยออกมาต่อเนื่องก็มีข้อจำกัด
ผมคิดว่าค่อนข้างลำบากพอสมควรที่จะทำให้ใกล้เคียงกับระดับไบโอเทค แค่ถามว่าผลตอบรับเป็นมูลค่าเพิ่มเป็นไง ผมคิดว่าไม่แพ้ เอาเรื่องงานเชิงป้องกัน (defense) ของเราในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กี่แสนล้านล่ะ หรือรักษาความสดของผัก-ผลไม้ให้ส่งออกไปได้เป็นมูลค่าเท่าไหร่ล่ะ ต้นทุนรากฟันเทียมที่คุณร่วมโครงการกับเรา 2,000 บาท แต่ถ้าสั่งเข้า 40,000 บาท
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-ตอนนี้เอ็มเทคมีกำลังคนเท่าไหร่
รศ.ดร.ปริทรรศน์-นักวิจัยปริญญาเอก เอ็มเทคมี 80 คน ไบโอเทค 100 กว่าคน เนคเทคเกือบ 200 คน นักวิจัยโลหะวัสดุของเราซึ่งอยู่ที่จุฬาฯ ไม่เกิน 50 คน ขณะที่ไบโอเทคคุณนับนักวิจัยชีววิทยาอย่างเดียวไม่ได้ คนต้องนับเคมีและวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-มีข้อสังเกตว่าเอ็มเทคไม่ค่อยมีผลงานใหม่ๆ ออกมา
รศ.ดร.ปริทรรศน์-นิยามของคำว่าใหม่คืออะไร ผลงานของเอ็มเทคออกมาปีละ 3-4 ชิ้น แต่ถ้านับสิทธิบัตรเป็นงานใหม่ เราก็มีสิทธิบัตรปีละ 10 กว่าชิ้น แต่เราจะเลือกประชาสัมพันธ์งานที่สามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมได้จริงๆ ถ้าเป็นเพียงงานที่ค้นพบสิ่งนั้นสิ่งนี้เราไม่ประชาสัมพันธ์
งานที่ใช้งานจริงยังไม่ได้เราไม่ประกาศ แต่ถามว่าจำนวนงานใหม่เรามีไหม เรามีงานใหม่ๆ ออกมาทุกปี แต่ละปีเราโครงการใหม่ๆ 40-50 โครงการในทุกสาขา ที่เยอะๆ คือด้านพลังงาน ด้านอาหาร-การเกษตร การแพทย์
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-แต่ละปีมีนักวิจัยระดับปริญญาเอกกลับมากี่คน
รศ.ดร.ปริทรรศน์-ปีหนึ่งกลับมา 3 คน
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-กลับมาแล้วเริ่มงานใหม่หรือทำงานในคลัสเตอร์ที่มีอยู่
รศ.ดร.ปริทรรศน์-ทำงานรวมกับคลัสเตอร์ที่มีอยู่ เมื่อก่อนเราจะให้คนที่เพิ่งกลับมาเริ่มโครงการเล็กๆ ตอนหลังเราพยายามจับเขารวมกับคลัสเตอร์ที่มีอยู่ เพราะเราพบว่าถ้าให้เราเริ่มโครงการคนเดียวเขาก็จะทำคนเดียวไปเรื่อยๆ งานจะไม่ค่อยมีแผน นักวิจัยทำงานคนเดียวผลงานที่จะส่งผลในวงกว้างมีน้อย
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-เทรนด์ของเทคโนโลยีวัสดุทางด้านไหนที่กำลังมาแรง
รศ.ดร.ปริทรรศน์-นาโน
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-แล้วจะมีความซ้ำซ้อนกันระหว่างเอ็มเทคกับนาโนเทคหรือไม่
รศ.ดร.ปริทรรศน์-ไม่ซ้ำ ประสานกันมากกว่า ตอนนี้เทคโนโลยีเซนเซอร์จะมาเยอะ และเราก็พูดกันเรื่องเซนเซอร์ชีวภาพ นาโนเซนเซอร์ที่จะใช้ได้ ซึ่งจะเป็นการรวมกันระหว่างอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุ นาโนและชีวภาพ เราพยายามจะรวมเข้ามาด้วยกัน แล้วพัฒนาเซนเซอร์ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง 4 ศูนย์
วัสดุอีกอย่างที่มาแรงในกระแสโลกคือวัสดุที่พัฒนาด้วยแรงจูงใจจากธรรมชาติ (Nature Inspire) พูดง่ายๆ คือวัสดุเลียนแบบธรรมชาติ เช่น เรานั่งดูสไปเดอร์แมน แล้วเกิดสงสัยว่าเส้นใยแมงมุมเล็กแต่เหนียวนั้นทำจากวัสดุอไร จึงเกิดคำถามว่าเราสร้างวัสดุเลียนแบบใยแมงมุมและทำงานเหมือนใยแมงมุมได้ไหม ซึ่งเราทำได้
เทคโนโลยีแบบนี้มาแน่และจะเริ่มมีการเปิดเผยมากขึ้น ผมเห็นเขาศึกษาเรื่องแบบนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้วที่แล็บแมกซ์-พลังค์ (Max-Planc) เห็นเขาศึกษาเรื่องมด ศึกษาเรื่องปลวก ก็สงสัยว่าเขาทำอะไรกัน
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-ความแตกต่างในงานวิจัยของเอ็มเทคช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
รศ.ดร.ปริทรรศน์-ความแตกต่างทีเห็นชัดคืองานวิจัยแปรรูปแบบจากงานวิจัยสร้างความรู้เป็นงานวิจัยที่ประยุกต์ใช้งานมากขึ้น จริงๆ ไม่เฉพาะเอ็มเทคแต่หน่วยงานใน สวทช.ทั้งหมดเริ่มหันไปทางนี้มากขึ้น ตอนนี้มีกลุ่มงานที่ทำงานหนักมากคือกลุ่มงานประสานอุตสาหกรรมที่จะนำงานวิจัยซึ่งทำเสร็จแล้ววิ่งไปหาอุตสาหกรรมของภาคเอกชน หรือไปหาภาคเอกชนก่อนที่จะมีงาน ถามความต้องการของเขาแล้วเอามาตั้งโจทย์ให้นักวิจัย
ดังนั้นงานจึงหันไปในทิศทางที่ใช้จริงได้มากขึ้นและทำงานร่วมกับผู้ใช้มากขึ้น งานวิจัยไม่ได้เพิ่มในอัตราที่เพิ่มขึ้น แต่เพิ่มในอัตราที่ลดลง แต่จะมีโครงการวิจัยใหญ่มากๆ ขึ้น จำนวนโครงการวิจัยย่อยๆ ลดน้อยลง นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้จากการวิจัย
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-จุดอ่อน-จุดแข็งของเอ็มเทคคืออะไร
รศ.ดร.ปริทรรศน์-จุดแข็งคือเราเป็นแหล่งที่รวบรวมผู้มีความรู้ทางด้านวัสดุมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งบุคลากร เครื่องมือต่างๆ เราค่อนข้างพร้อม มีความคล่องที่จะทำงานและสามารถปรับเปลี่ยนเป้าหมายได้เร็ว ส่วนจุดอ่อนคือเราขาดผู้ที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงกับนักวิจัย เรายังไม่มีนักวิจัยอาวุโสในสาขาโลหะวัสดุเพียงพอที่จะเป็นตัวอย่างหรือผู้ชี้นำให้กับนักวิจัยใหม่ๆ ได้เพียงพอ
ในแง่นี้ไบโอเทคได้เปรียบเราเยอะ ไบโอเทคมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและอดีตที่ปรึกษาไบโอเทค) มี ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ (ที่ปรึกษาไบโอเทค) มี รศ.ดร.ศักดิ์รินทร์ ภูมิรัตน (ผอ.สวทช.) เขามีคนเหล่านี้เยอะ ส่วนเนคเทคเองก็ยังมีนักวิจัยอาวุโสไม่มาก ถ้าเรามีบุคลากรเหล่านี้มากก็จะดีขึ้น ซึ่งไม่ง่ายและต้องใช้เวลา
เว้นว่าเราจะยอมจ้างชาวต่างประเทศเข้ามา อย่างไรก็ดีเมื่อลองแล้วก็ไม่ค่อยได้ผลเพราะนักวิจัยของเราไม่เข้าไปหาเขา แต่มีนักวิจัยอาวุโสคนไทยคงจะดีขึ้น ต้องใช้เวลา
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์-พ้นจากตำแหน่งแล้วจะไปทำอะไร
รศ.ดร.ปริทรรศน์-บอกคนทั่วๆ ไปว่าจะอยู่บ้านดีกอล์ฟ ..คร่าวๆ ก็มีหลายแห่ง มีคนถามว่าจะกลับไปที่จุฬาฯ ไหม คนถามว่าจะไปช่วยสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นไหม มีสถาบันวิจัยเอกชนที่ชวนให้ไปตั้งก็มี หรือตั้งบริษัทเองแล้วเป็นที่ปรึกษาไหม ก็มีให้ทำหลายอย่างเลยไม่รู้ว่าจะทำอะไร
อย่างไรก็ดี สำหรับเก้าอี้ ผอ.เอ็มเทคคนใหม่ ในวันนี้ได้คัดสรรกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า คือ "รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา" รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผอ.เอ็มเทคคนใหม่จะเริ่มงานในวันที่ 18 ต.ค.นี้ แต่ทำงานแบบพาร์ทไทม์ไปจนกว่าหมดวาระการดำรงตำแหน่งรองอธิการฯ ในเดือน มี.ค.2551 และจากนั้นจะสามารถทำงานเป็นผู้บริหารเอ็มเทคได้อย่างเต็มเวลา