3 มหาวิทยาลัยไทยร่วมเปิดตัวสถานีตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนจากรังสีคอสมิกที่ดอยอินทนนท์ พยากรณ์การเกิดปรากฏการณ์ปล่อยรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ความเสียหายต่อดาวเทียม ยานอวกาศ และโรงไฟฟ้า นักวิจัยเชื่อจะพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า 4 -5 ชั่วโมง ล้ำหน้านาซาของสหรัฐฯ
ภายในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2550 ระหว่างวันที่ 8 -19 ส.ค. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค กรุงเทพฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการด้านดาราศาสตร์หลายชิ้นงาน โดยจัดแสดงแบบจำลองสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ที่เพิ่งเปิดดำเนินการตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนจากรังสีคอสมิกเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาด้วย
ทั้งนี้ สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอุบลราชานี ด้วยงบประมาณ 2,000,000 บาท เบื้องต้นสามารถตรวจวัดรังสีนิวตรอนจากนอกโลกได้ชัดเจน แต่ต้องอาศัยเวลาเก็บข้อมูลอีกราว 6 เดือน จึงจะทำให้เห็นผลการทำงานเบื้องต้นที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งอนุภาคนิวตรอนเกิดจากรังสีคอสมิกจากดวงอาทิตย์ที่มาตกกระทบบนชั้นบรรยากาศโลกแล้วแตกตัวเป็นอนุภาคนิวตรอนมากมาย ซึ่งการตรวจพบอนุภาคนิวตรอนสามารถสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณรังสีคอสมิกที่ส่งมาที่โลกเราด้วย
ศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล ชาวสหรัฐฯ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า นักวิจัยไทยได้เริ่มวิจัยดวงอาทิตย์มานานกว่า 16 ปีแล้ว โดยอนุภาครังสีคอสมิกที่ปลดปล่อยออกมาจากปรากฏการณ์ลมสุริยะนั้น มีผลต่อการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในระยะยาว มีผลต่อการสะสมของกัมมันตภาพรังสีในร่างกายและการเกิดมะเร็ง
อีกทั้งรังสีคอสมิกยังเป็นตัวการรบกวนระบบการสื่อสารของดาวเทียม และการทำงานของยานอวกาศด้วย โดยสถิติพบว่าทั่วโลกมีดาวเทียมและยานอวกาศเสียหายจากรังสีคอสมิกแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ลำ นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยพบว่ารังสีคอสมิกมีผลต่อระบบการทำงานของโรงไฟฟ้าสมัยใหม่หลายแห่งทั่วโลกด้วย อาทิ ในประเทศแคนาดา สหรัฐฯ และบราซิล
“เมื่อเราตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนได้แล้ว เราจะสามารถเตือนภัยล่วงหน้าถึงปรากฏารณ์ลมสุริยะที่จะเกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์แล้วส่งคลื่นกระแทก โดยการปลดปล่อยรังสีคอสมิกมาที่โลกจำนวนมาก ซึ่งเราจะพยายามพัฒนาระบบให้เตือนภัยล่วงหน้าได้ 4 -5 ชั่วโมงในอนาคต เปรียบเทียบกับองค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซาที่สามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้แล้วใน 1 ชั่วโมง” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับมหกรรมวิทย์ฯ เพิ่มเติม
- นาซาชวนคนไทยรู้จักปีสุริยะฟิสิกส์
- เปิดตัวนิทานดาวเวอร์ชันใหม่ “ดวงอาทิตย์ที่รัก”
- ตะลุยป่าฝนจำลอง "ฮาลา-บาลา" พบไม้เถามหัศจรรย์ที่เดียวในโลก
- หยุดยาววันแรกมหกรรมวิทย์คนบางตา-ตจว.พ้ออย่ารวมศูนย์แต่ กทม.
- "หุ่นยนต์ต้อนรับ" ฝีมือคนไทย
- สมเด็จพระเทพเสด็จฯ เปิดมหกรรมวิทย์ ทรงแนะใช้วิทยาศาสตร์แก้วิกฤติโลก
- "มูราตะ" และกองทัพหุ่นยนต์ญี่ปุ่นถึงสัปดาห์วิทย์แล้ว
- นำเที่ยว "มหกรรมวิทย์ 50"
- “มหกรรมวิทย์ 50” เปิดประตูเข้าชมงานแล้ว
- ชวนชมหุ่นยนต์ปั่นจักรยานในงานสัปดาห์วิทย์ 50
- สมาคมวิทย์ฯ จัดเวทีหาเด็กเก่งวิทย์เขตภาคกลางในสัปดาห์วิทย์ปี 50
- สัปดาห์วิทย์ปี 50 ชู “โลกร้อน” ผ่านโรงหนัง “4 มิติ”
- ชวนน้องๆ "จิตรลดา" เล่น "ว่าวไทย" ชิมลางสัปดาห์วิทย์ 50