เอเอฟพี/นิวไซเอนติส – ทีมนักวิจัยแคนาดาสามารถสร้างวัคซีนต้านเชื้ออะมีบาที่คร่าชีวิตมนุษย์ได้สำเร็จในสัตว์ทดลอง คาดอีก 5 ปีทดลองสำเร็จในคน นักวิจัยหวังอยากให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายในปะเทศกำลังพัฒนา แต่หวั่นบริษัทใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วจะเห็นผลประโยชน์สำคัญกว่า
อะมีบา (Amoeba) สัตว์เซลล์เดียวในกลุ่มของโปรโตซัว (Potozoa) ที่เป็นสาเหตุของโรคบิดมีตัว หรือ โรคบิดอะมีบา (amoebic dysentery) ทั่วโลกมีประชากรที่ติดเชื้ออยู่ประมาณ 10% โดยเอนทามีบา ฮิสโทไลติกา (Entamoeba histolytica) เป็นอะมีบาเพียงชนิดเดียวที่ทำให้ผู้ติดเชื้อถึงตายได้ ซึ่งแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยเชื้อดังกล่าวราว 100,000 คน
คริส ชาดี (Kris Chadee) นักชีวิทยา หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาลการี (University of Calgary) แคนาดา เปิดเผยในวารสารอินเฟคชันแอนด์อิมมูนิตี (Infection and Immunity) ว่าขณะนี้ทางทีมวิจัยสามารถสร้างวัคซีนป้องกันเชื้ออะมีบาสำเร็จในหนูทดลองแล้วและกำลังจะทดลองต่อในลิงก่อนที่จะทดสอบในคน นับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีวัคซีนป้องกันเชื้ออะมีบา
ทีมวิจัยได้พัฒนาวัคซีนต้านเชื้ออะมีบาที่สร้างจาก แกล-เลคติน (Gal-lectin) โดยใช้วิธีการฉีดพ่นวัคซีนเข้าไปในจมูก ซึ่งเป็นวิธีใหม่ที่ยังไม่ค่อยแพร่หลายนัก แกล-เลคติน เป็นโปรตีนที่พบบนผิวเซลล์ของอะมีบาและทำให้อะมีบาเจาะเข้าไปในเซลล์ของผนังลำไส้ได้ ส่วนแกล-เลคตินที่มีอยู่ในวัคซีนจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้ออะมีบา และในวัคซีนยังมีส่วนของสายดีเอ็นเอ ซีพีจีโอลิโกดีออกซีทิวคลีโอไทด์ (CpG Oligodeoxynucleotide: CpG-ODN) ดีเอ็นเอที่พบมากในระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยให้แอนติบอดีตอบสนองกับเชื้อได้ดียิ่งขึ้น
พวกเขาได้ทดลองพ่นวัคซีนในหนูกลุ่มที่ 1 ส่วนกลุ่มที่ 2 ไม่ได้พ่น จากนั้นฉีดเชื้ออะมีบาเข้าไปในหนูทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า กลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีสุขภาพดีไม่แสดงอาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้ออะมีบา ขณะที่อีกกลุ่มซึ่งไม่ได้รับวัคซีน จะมีฝีเกิดขึ้นในตับ ซึ่งสอดคล้องผลทดสอบในจานเลี้ยงเซลล์ที่วัคซีนสามารถยับยั้งไม่ให้เชื้ออะมีบาเจาะเข้าไปในเซลล์ได้
ชาดีอธิบายว่า ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิตได้ง่ายกว่า ซึ่งส่วนมากจะเป็นเด็ก ทำให้มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง มีมูกเลือด ร่างกายขาดน้ำ และอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดฝีในอวัยวะต่างๆได้ เช่น ตับ ปอด และสมอง
หลังจากที่วัคซีนให้ผลเป็นที่น่าพอใจในหนูทดลองแล้ว คณะวิจัยก็เตรียมทดสอบขั้นต่อไปในลิง และคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถทดลองกับมนุษย์ในระดับคลินิกได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทยาหรือมูลนิธิต่างๆ และทีมวิจัยก็หวังให้วัคซีนนี้ได้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายในประเทศกำลังพัฒนา เพราะยาที่ใช้รักษากันโดยทั่วไปมีราคาแพงและใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจน
“พัฒนาวัคซีนนี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการช่วยเหลือประชากรที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ เด็กและผู้ยากไร้ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ซึ่งไม่แน่ว่าพวกเขาจะได้รับโอกาสนี้ เพราะถ้าไม่มีผลประโยชน์คุ้มค่าแล้ว ก็ยากที่บริษัทยาทั้งในยุโรปและอเมริกาจะสนใจ” ชาดีแสดงความเห็น
อย่างไรก็ดี เชื้ออะมีบาพบทั่วไปในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด เมื่อบริโภคเข้าไปก็จะได้รับเชื้อและจะปนเปื้อนออกมากับอุจจาระ หากถ่ายในส้วมที่ไม่ถูกสุขลักษณะก็จะทำให้เชื้อกระจายสู่สิ่งแวดล้อมและปนเปื้อนไปในอาหารและน้ำดื่มเป็นวงจรเรื่อยไป ทั้งนี้ มักพบการแพร่กระจายของเชื้อในชุมชนแออัดและแหล่งเสื่อมโทรมของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในเม็กซิโก บังกลาเทศ อินเดีย และแอฟริกาใต้ ซึ่งแพร่กระจายสู่อเมริกาเหนือและยุโรปโดยการนำพาของนักท่องเที่ยวและผู้อพยพจากประเทศเหล่านั้น