หากจำกันได้ ปลายสิงหาคมปีที่แล้ว “An Inconvenient Truth” คือภาพยนตร์สารคดีฟอร์มยักษ์จากสหรัฐอเมริกา ที่เดินเรื่องโดย “อัล กอร์”(AL Gore) อดีตรองประธานธิบดีสหรัฐฯ ที่ผันตัวมาเป็นนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เข้าโรงฉายในบ้านเราจนเป็นที่กล่าวถึงในทุกๆ วงการ ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แม้แต่สื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ตอย่างพลิกความคาดหมาย
“An Inconvenient Truth” ว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก จนนำมาซึ่งปัญหาโลกร้อน หรือ “Global Warming” ที่ได้ส่งผลกระทบเลวร้ายต่อผู้คนบนโลก ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งผลงานชื่อเดียวกันในรูปหนังสือปกสีขาวเล่มใหญ่ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ซึ่งโปรยหัว “โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง” ไว้อย่างน่าสนใจ จนหลายคนต้องยอมควักกระเป๋าจับจองไว้เตือนใจ ผ่านฝีมือของนักแปลมืออาชีพอย่าง “คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์” ผู้ยึดถนนหนังสือเป็นเส้นทางชีวิตมาไม่น้อยกว่า 10 ปี
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- ก่อนหน้าจะมาแปลหนังสือเล่มนี้ได้ทำอะไรมาก่อน?
คุณากร- ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ชั้น ม.ปลาย ผมก็เริ่มจากงานเขียนในวารสาร “ไดโนสาร” ซึ่งเป็นวารสารสำหรับเด็กมาก่อน และเนื่องจากความสนใจของผมไม่ได้อยู่เพียงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ มันจึงมีกิจกรรมที่นอกเหนือไปจากระบบการศึกษาอื่นๆ อีก เช่นหลังจากวารสารไดโนเสาร์แล้ว ผมก็ไปทำอยู่ที่หนังสือ “ต่วยตูน” ตามมาด้วย “เนชันแนล จีโอกราฟิก” และ “มติชน”
เหมือนกับว่าตอนนี้ผมก็วนๆ เวียนๆ อยู่ในหัวเรื่องประมาณนี้ ไม่ได้สนใจเรื่องโลกร้อนเพียงอย่างเดียว แต่ก็เป็นเรื่องที่มีความรู้อยู่พอสมควรทีเดียว ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็เป็นประเด็นที่ถึงกันหมดทั้งธรณีวิทยา วิทยาศาสตร์ หรือธรรมชาติวิทยา เป็นเรื่องที่เรารู้ๆ กันอยู่ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทางมติชนเสนอให้ผมแปล เพราะผมไม่ได้เสนอต้นฉบับ เขาเป็นคนเสนอมาแล้วถามว่าคุณสนใจแปลไหม เพราะคุณทำ “เนชันแนล จีโอกราฟิก” อยู่ มันก็เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกัน ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้รับเลย ผมขอดูหนังสือก่อน เพราะช่วงนั้นตารางผมยุ่งมาก อยากดูก่อนว่า (หนังสือ) หนาขนาดไหน และเรื่องมันตรงกับที่ผมสนใจ หรือผมทำได้หรือเปล่า ซึ่งดูแล้วก็ตอบรับว่าผมทำได้
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- ช่วงที่แปลมีความรู้สึกกับหนังสือเล่มนี้อย่างไรบ้าง?
คุณากร- เรื่องที่มันปรากฏในหนังสือเล่มนี้ มันไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับในส่วนของข้อมูล แต่ผมติดใจในเรื่องที่เขายกแง่มุมบางประเด็นขึ้นมาแล้วทำให้คนรู้สึกว่าเรื่องโลกร้อนมันไม่ใช่เรื่องที่ไปเรื่อยๆ เราก็ปล่อยให้มันไปเรื่อยๆ แต่จะทำให้สิ่งบางอย่างที่เคยมีกลับเป็นไม่มีอีกแล้ว อย่างเช่นในคำนำหนังสือเล่มนี้ที่ผมเขียนว่าหิมะบนภูเขาคีรีมันจาโร (ประเทศแทนซาเนีย) ซึ่งตอนเด็กๆ ผมก็ประทับใจกับภาพนั้นอยู่ (เออร์เนสต์) เฮมิงเวย์ ก็เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ มันเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหลายๆ รุ่น แล้วตอนนี้มันกำลังจะไม่มี อันนี้คือเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเขาเข้าใจนำเสนอ
อันที่ 2 คือเรื่องที่ อัล กอร์ นำเสนอหนังสือเรื่องนี้โดยผูกกับประวัติของตัวเอง เช่น เรื่องลูกของเขาที่เกือบเสียชีวิต หรือเรื่องที่พี่สาวของเขาเสียชีวิตด้วยบุหรี่ เรื่องเหล่านี้มาจากการบริหารจัดการข้อมูลซึ่งทำให้เห็นว่าเรื่องโลกร้อนไม่ใช่แค่เรื่องที่นำเสนอข้อมูลทางสถิติวิทยาศาสตร์ แต่มันเป็นเรื่องที่มีมุมที่เกี่ยวกับชีวิตและความอ่อนไหว ถูกทำให้เป็นละคร ซึ่งสาธารณชนทั่วไปที่ไม่ได้สนใจวิทยาศาสตร์ได้อ่านแล้วรู้สึกเหมือนดูละครหรืออ่านนิยายเล่มหนึ่งที่มีจุดเริ่มต้น และมีจุดไคลแม็กซ์ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมาก
สิ่งที่ผมรู้สึกตระหนักขึ้นมาจากการแปลหนังสือเล่มนี้คือ มันมีช่องว่างที่ใหญ่มากระหว่างความรู้ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์กับกลุ่มคนในสังคม ผมคิดว่าประเด็นหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้จุดประกายขึ้นมาอย่างน่าสนใจให้ประเด็นโลกร้อนเป็นที่กล่าวถึงทั่วโลกคือ ความทันสมัยในการเขียน ซึ่งผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องเดียวกันมาแล้วจะทราบว่า ผู้สร้างได้พยายามเรื่องร้อยเรื่องโลกร้อนมาเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัว เรื่องลูกของ อัล กอร์ ทำให้เรื่องที่เป็นข้อมูลวิชาการดาษๆ กลายมาเป็นเรื่องที่กระทบกับชีวิตผู้คน ผมคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ประเด็นเรื่องโลกร้อนแพร่หลายออกไปนอกวงวิชาการ
เพราะฉะนั้น ผมในฐานะผู้ทำหนังสือด้านวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ คิดว่าเป็นต้นแบบที่สำคัญอันหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงให้นักวิชาการและสถาบันภาครัฐต่างๆ มองประเด็นและขยับออกมาแล้วใส่ศิลปะลงไปในเรื่องที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้ว ทำให้คนเห็นว่ามีความสำคัญและมีผลกระทบกับเขา
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- ความยากง่ายของการแปลหนังสือเล่มนี้?
คุณากร- ผมทำจริงๆ ไม่นาน ส่วนหนึ่งเพราะมีการเร่ง คือเป็นกระแสที่หนังสือจะต้องออกมาพร้อมกันทั่วโลก เราก็ต้องรีบทำออกมา ทางสำนักพิมพ์ก็อยากได้เร็วกว่านี้ แต่ในส่วนตัวผมเองในฐานะนักแปลก็มีความลำบากใจอยู่นิดหน่อย คือหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนโดยคนที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง เพราะในแง่ของการแปลหนังสือที่ไม่ใช่นวนิยาย แปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ความสัมพันธ์ของมันคือคุณจะต้องทำให้มันสื่อกับคนไทยให้ได้ ความสัมพันธ์คือความถูกต้อง เป็นอย่างแรก
อย่างที่ 2 คือ มันจะต้องอ่านรู้เรื่องในภาษาไทย ซึ่งโดยปกติคำว่า “อ่านรู้เรื่อง” หมายถึงพลิกกลับและขัดเกลาภาษานิดหน่อย แตกภาษา คำยาก ประโยคความซ้อน ให้เป็นภาษาซึ่งสอดคล้องกับวิธีการพูด –วิธีการคิดของคนไทยมากขึ้น แต่เมื่อเป็นหนังสือของคนดังขึ้นมา หากไปแก้เยอะๆ แล้ว ก็จะไม่ใช่ภาษาของเขาอีก คือถ้าเป็นหนังสือที่คนอ่านไม่สนใจ ผู้เขียน คุณเน้นไปเลยให้มันอ่านรู้เรื่อง แต่บางคนก็อ่านเพราะสนใจความคิดของผู้เขียน คุณจะต้องถ่วงดุลให้ได้ ทำอย่างไรให้คนอ่านได้อ่านภาษาของ อัล กอร์ ในภาษาที่อ่านรู้เรื่อง ถูกต้อง และต้องแปลเร็วๆ ด้วย
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- ได้อ่านแล้วได้อะไรบ้าง เห็นด้วย หรือมีอารมณ์ร่วมไหม?
คุณากร- โดยส่วนตัวผมก็เห็นด้วยอยู่แล้วว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เราต้องตระหนัก แต่ผมก็ได้เรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ หลายๆ ตัว อย่างเช่น กรณีที่ธารน้ำแข็งมันหดตัว เราก็รู้มาบ้างแต่เราไม่รู้ว่ามันมีผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมากน้อยแค่ไหน หนังสือเล่มนี้ก็เพิ่มตัวอย่างให้เราตระหนักในแง่นี้มากขึ้น
ในส่วนของคนรุ่นใหม่ ก็ยากจะพยากรณ์ว่าเขากำลังคิดอะไรกัน แต่สิ่งที่ผมตระหนักขั้นแรกที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เข้ามาสนใจและใส่ใจหาวิธีแก้ปัญหา ขั้นตอนที่ต้องทำคือทำให้เขา “หยุด” และ “ฟัง” เพราะว่าโลกยุคนี้ที่เต็มไปด้วยข้อมูลล้นหลาม รวดเร็ว อย่างอินเตอร์เน็ต ข้อมูลไม่ใช่ของหายากอีกต่อไป ประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรให้เขาหยุดและพิจารณาข้อมูลของเราท่ามกลางข้อมูลที่ล้นไปหมด จะหาเมื่อไรก็ได้ เพราะเต็มไปหมดจนเราไม่สามารถอ่านข้อมูลทุกอย่างได้ในเวลาอันจำกัด สิ่งที่เราต้องทำคือตรึงเขา เพื่อทำให้คนอ่านหรือผู้ฟังของเราเห็นความสำคัญว่าต่อไปนี้คือสิ่งที่เราจะต้องรับรู้และให้ความสำคัญกับมัน
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- รู้สึกอย่างไรบ้างที่หนังสือบอกว่าอนาคตกรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้น้ำ?
คุณากร- ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเรารู้กันอยู่แล้ว แต่เราก็ยังคิดว่ามันยังอีกนาน ด้วยความคิดผิดพลาดอย่างหนึ่งคือ เรามองว่าสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุด คือความคิดที่ว่าสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่เกิดมาอย่างนี้ ชั่วลูกชั่วหลานก็เป็นอย่างนี้ไม่เปลี่ยน แต่ว่าจริงๆ แล้วมันมีความจริงอยู่ 2 ระดับ คือ ความจริงที่ อัล กอร์ พูดถึงคือ สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากมนุษย์ คือตามปกติมันก็มีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยแต่มันไม่เปลี่ยนเร็ว
กับความรู้อีกชุดหนึ่งที่ไม่ได้เน้นย้ำในหนังสือเล่มนี้คือ ความรู้ที่ว่าสภาพแวดล้อมที่ต่อให้ไม่มีมนุษย์มันก็ต้องเปลี่ยน สภาพแวดล้อมไม่เคยอยู่นิ่งอยู่แล้ว อย่าคิดว่ามันอยู่เฉยๆ ไม่มีวันเปลี่ยน ต้องเปลี่ยน แต่พอ 2 ข้อนี้รวมกันก็คือธรรมชาติเปลี่ยนและคนไปทำให้มันเปลี่ยนเร็วขึ้น โลกร้อนขึ้น โลกมันเคยร้อนอยู่แล้ว แต่มันร้อนขึ้นด้วยกระบวนการหรือเหตุผลที่ต่างออกไป ร้อนด้วยอัตราเร่งที่ต่างไป
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- พอใจในผลงานแปลชิ้นนี้แค่ไหน?
คุณากร- ผมพอใจในระดับหนึ่ง ผมถือว่ามันเป็นผลงานที่คนไทยน่าจะอ่านได้พอสมควร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ต้องตระหนักว่ามีคนไทยในสัดส่วนน้อยมากที่อ่านหนังสือวิชาการแนวที่ไม่ใช่นวนิยายจากฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่นิยายแปลที่เป็นคนละอย่างกัน ซึ่งการวิพากษ์วิเคราะห์ผลงานจึงต้องใช้เกณฑ์คนละชุด ผมก็มองว่าผมสามารถเกลาให้ได้ภาษาที่มันลื่นกว่านี้ แต่คุณก็จะไม่ได้ภาษาที่ อัล กอร์ พูดประโยคต่อประโยคนะ คุณก็เลือกเอาว่าคุณจะเอาแบบไหน ผมก็ย่อยตรงนี้ให้มันเป็นจุดที่สมดุล แต่ก็ไม่รู้ว่ามันตอบโจทย์ของแต่ละคนมาก -น้อยแค่ไหน
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- กับกระแสคนไทยพูดถึงภาวะโลกร้อนมากมาย เป็นกระแสแท้ หรือกระแสเทียม?
คุณากร- ผมอยากจะคิดว่าคนไทยมีอารมณ์ร่วมกับกระแสจริงๆ แต่ผมไม่สามารถโกหกตัวเองได้ว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เห่อกระแส เพราะมันเป็นกระแสที่ถูกปลุกขึ้นมาในระดับโลกโดยบุคคลที่มีความสำคัญและเป็นที่รับรู้กันในระดับโลก เพราะฉะนั้นตรงนี้ การที่คนไทยได้รู้สึกว่าเราต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลก มันเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์เย้ายวนคนไทยอยู่แล้วว่าฉันจะตามทันโลก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็อยากคิดว่า ตกลง คนจำนวนมากอาจจะเห่อกระแส แต่ผมหวังว่าอย่างน้อยที่สุดที่คนได้เข้าไปสัมผัสกระแสก็จะมีคนจำนวนมากขึ้นที่ตระหนักถึงปัญหานี้แล้วอยากรู้ อยากแก้ อยากปรับตัวให้สอดคล้องกับปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น มันอาจจะไม่ใช่ 100% หรอก แต่อาจจะเป็นแค่ 20%แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าศูนย์
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- สรุปแล้วตัวตนที่แท้ของ “โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง”คือ?
คุณากร- ผมว่าจริงๆ แล้วแนวคิดหลักของหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้มันแตกต่างจากหนังสือที่พูดถึงภาวะโลกร้อนอื่นๆ คือ มันมีมิติของชีวิตที่มันไม่ใช่แค่ข้อมูล ที่รู้มาก -น้อยอาจไม่ใช่ประเด็นแต่ให้คนได้รู้จักปัญหา ดังนั้นหากให้ผมสรุปประเด็นของหนังสือเล่มนี้ มันอยู่ที่ชื่อของมันนี่แหละที่แปลได้ยากมาก “An Inconvenient Truth” ที่ตอนแรกผมเห็นชื่อก็ว่าผมจะแปลอย่างไรดีละนี่ คือการทำให้คนรู้สึกว่าต้องสอบกับชื่อภาษาอังกฤษได้ ขณะเดียวกันมันก็ต้องสื่อความกับคนไทย ชื่อนี้ผมดูแล้วแปลไปคนไม่เข้าใจแน่ แต่พอไปดูเนื้อความข้างใน คำๆ นี้ไม่สามารถแปลเป็นอย่างอื่นไปได้ เพราะเขาใช้ชื่อนี้เป็นทั้งชื่อหนังสือและเป็นเนื้อหาในการดำเนินเรื่อง ดังนั้นคุณต้องรักษามันไว้
เพราะจุดประสงค์ของ อัล กอร์ ที่เขาอยากจะบอกคือ สิ่งต่างๆ ที่เราเคยกังขากันว่าจริงหรือไม่จริง ตอนนี้มันเป็นเรื่องจริง บางคนก็เคยคิดว่าจริงและเฉยๆ เรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็หายไป หรือว่ามันอาจเกิดขึ้นในอีก 100 ปี ไม่ใช่รุ่นเรา เป็นเรื่องลูกเรา มันจึงเป็นสิ่งที่คุณต้องทำต้องฟังตั้งแต่เดี๋ยวนี้แล้วก็เริ่มแก้ ผมคิดว่าการถ่ายน้ำหนักไปสู่อีกประเด็นหนึ่งคือ มันเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและต้องเริ่มแก้ แม้ว่าคุณไม่อยากคิดว่ามันจริง แต่มันก็เป็นเรื่องจริงที่คุณหนีไม่พ้น นี่คือสิ่งที่คุณต้องตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- คนไทยจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างไร?
คุณากร- ในส่วนของคนไทยที่ช่วยเรื่องโลกร้อนได้ก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราช่วยได้ เพราะเราไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือผู้กำหนดนโยบาย คือ เรื่องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างที่เรารู้ๆ กันคือใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่า มีความตระหนักในเรื่องการบริโภคมากขึ้น การเดินทางก็ใช้ระบบขนส่งมวลชน เป็นเรื่องพื้นๆ ส่วนเรื่องใหญ่ๆ กว่านั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องพึ่งเทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนระบบพลังงานจากพลังงานซึ่งให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เยอะไปเป็นอีกรูปแบบอื่น
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์- ผลงานชิ้นต่อไปยังจะเป็นเรื่องภาวะโลกร้อนอีกหรือเปล่า?
คุณากร- ตอนนี้ผมก็แปลหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศให้กับสำนักพิมพ์เดิม ซึ่งอาจมีรูปไม่มาก อาจจะซับซ้อนหรือลึกลับมากกว่าเดิม ถือเป็นนวัตกรรมต่อยอด เพราะคนจำนวนไม่น้อยเลือกอ่านเรื่อง “โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง” และอยากรู้มากกว่านี้ ผมเชื่อว่าเราจึงต้องมีบันไดต่อยอดให้เขา แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นหนังสือเล่มสุดท้าย “โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง” เป็นบันไดขั้นต้นให้สาธารณชนได้ตระหนัก
แต่ถ้าเขาอยากรู้มากไปกว่านี้ เช่น กระแสน้ำอุ่นที่บอกว่าจะหยุดหมุน มันมีความสำคัญอย่างไร ผมมองว่าในฐานะของสื่อและคนแปลหนังสือที่ไม่ใช่นวนิยาย เราควรพาเขาไปยังช่องทางที่เขาสามารถขยายความรู้ไปได้อีก ซึ่งเล่มหน้าที่แปลอยู่นี้จะเป็นเนื้อหาที่เข้าใกล้กับสิ่งที่นักวิชาการทำอยู่ หลังจากนั้นเขาก็มีความรู้พื้นฐานมากพอจะไปสรรหา และทำความเข้าใจเนื้อหาของงานนักวิชาการได้เองแล้ว
ส่วนผลงานเล่มต่อไปของ “คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์” จะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ “ตุลาคม 2550” นี้แน่นอน