2 นักคณิตศาสตร์ขึ้นแท่นรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2550 นักคณิตศาสตร์มหิดลใช้สมการช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำกว่าใช้แค่ประสบการณ์ ด้านนักคณิตศาสตร์ มช.เผยเคยใช้ทฤษฎีความน่าจะเป็นช่วยนักเศรษฐศาสตร์สิงคโปร์วิเคราะห์การเงิน การตลาดและการลงทุน
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ประกาศรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2550 ได้แก่ ศ.ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ใช้สมการเชิงอนุพันธ์แบบไม่เชิงเส้นสร้างแบบจำลองวิเคราะห์โรคต่างๆ และ ศ.ดร.สมพงษ์ ธรรมพงษา อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผู้ศึกษาทฤษฎีจุดตรึง (Fixed Point Theory) ที่ใช้สร้างฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์แล้วตอบคำถามในสิ่งที่สงสัยโดยประยุกต์ใช้งานได้ในหลากหลายสาขา
"ผลงานที่ทำเป็นแบบอย่างให้เด็กเห็นว่าการทำงานด้านคณิตศาสตร์ก็สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้" ศ.ดร.ยงค์วิมลเปิดใจถึงการทำงาน พร้อมทั้งอธิบายว่าได้ศึกษาข้อมูลของโรคต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน โรคเอดส์ และโรคหัวใจ เป็นต้น แล้วหาตัวแปรที่จะนำมาใช้สร้างสมการเพื่อทำนายแนวโน้มพฤติกรรมของโรคซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น ทั้งนี้โรงพยาบาลในต่างประเทศนั้นจะมีนักคณิตศาสตร์ประจำเพื่อสร้างสมการคณิตศาสตร์สำหรับช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคแทนที่จะใช้เพียงประสบการณ์อย่างเดียว
สำหรับแบบจำลองของ ศ.ดร.ยงค์วิมลที่นำไปใช้งานได้จริงแล้วคือแบบจำลองการไหลของเลือดเข้าสู่หัวใจ ซึ่งช่วยให้แพทย์ผ่าตัดโรคหัวใจตีบได้แม่นยำมากกว่าการใช้เพียงประสบการณ์ในการคาดเดาและหลีกเลี่ยงการกลับมาอุดตันของหัวใจอีกครั้ง เนื่องจากจะมีจุดที่ทำให้เกิดการตีบตันซ้ำ ซึ่งแบบจำลองจะช่วยทำนายได้ว่าจะเกิดภาวะดังกล่าวได้ในระยะเวลากี่ปี
ทางด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่าคณิตศาสตร์มีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือหากเข้าใจแล้วยากที่จะลืม พร้อมทั้งเผยถึงผลงานที่ผ่านมาว่าได้ใช้ทฤษฎีความน่าจะเป็นซึ่งศึกษามาก่อนทฤษฎีจุดตรึงช่วยนักเศรษฐศาสตร์ชาวสิงคโปร์สร้างสมการเพื่อใช้แก้ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ อาทิ การเงิน การตลาดและการลงทุน เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ได้ใช้ทฤษฎีเดียวกันนี้ช่วยวิศวกรไฟฟ้าจาก มช.ซึ่งร่วมงานกับแพทย์ในการวิเคราะห์จำนวนเม็ดเลือดขาว
นอกจากนี้ทางมูลนิธิยังได้มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2550 อีก 6 รางวัล ได้แก่ 1.ผศ.ดร.เฉลิมชนม์ สถิระพจน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยด้านการสำรวจรังวัดด้วยระบบดาวเทียมจีพีเอส 2.ผศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้วิจัยการออกแบบระบบผลิตไฮโดรเจนจากวัตถุดิบ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซหุงต้ม ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น 3.ผศ.ดร.วินิช พรมอารักษ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้วิจัยงานด้านเทคโนโลยีหน้าจอแสดงภาพแบบ
4.ผศ.ดร.สันติ แม้นศิริ จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้วิจัยการเตรียมและศึกษาสมบัติเชิงกลของเซรามิกนาโนคอมโพสิตอลูมินาและเส้นใยนาโนคาร์บอน 5.ผศ.ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำงานวิจัยด้านเคมีวิเคราะห์ 6.ดร.อานนท์ ชัยพานิช อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้วิจัยด้านวัสดุก่อสร้างและวัสดุผสมเพียโซอิเล็กทริกและปูนซีเมนส์
คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ปี 2550