ไลฟ์ไซน์-ทันทีที่นิ้วสัมผัสชักโครก สิ่งโสโครกได้พ้นไปจากสายตา หากแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลับเพิ่มพูนเพราะวัฒนธรรมห้องส้วมจากตะวันตกนำพาโลกไปสู่หายนะ จากการใช้น้ำปริมาณมหาศาลเพื่อทำความสะอาด ขณะที่ประชากรอีกหลายล้านคนกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำดื่ม นักวิทยาศาสตร์จึงมีแนวคิดที่จะนำส้วมแบบไม่ใช้น้ำมาปรับปรุงสู่วิถีชีวิตยุคใหม่
เนื่องจากเราต้องใช้น้ำจำนวนมากเพื่อชะล้างสิ่งที่เราไม่ต้องการจากร่างกาย ขณะที่ประชากรโลกนับล้านต้องเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำดื่ม จึงมีแนวคิดที่จะนำส้วมแบบไม่ใช้น้ำในอดีตมาปรับปรุงสู่วิถีชีวิตยุคใหม่
ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษปี 1990 นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าการชะล้างของเสียจากมนุษย์ด้วยระบบชักโครกนั้นได้ส่งผลกระทบสืบเนื่องถึงสิ่งแวดล้อม อย่างการใช้น้ำดื่มอันมีค่าไปชะล้างของเสียจากคนเรา และผลการศึกษาของหน่วยงานความร่วมมือการพัฒนาระดับนานาชาติแห่งสวีเดน (Swedish International Development Coorperation Agency) รายงานว่าแต่ละปีคนคนหนึ่งใช้น้ำที่ดื่มได้เกือบ 18,000 ลิตรเพื่อชะล้างอุจจาระ 34 กิโลกรัมและปัสสาวะ 590 ลิตร
ความจริงแล้วมีระบบจำกัดของเสียจากร่างกายคนเราอีกมากมายที่ใช้น้ำน้อยกว่าระบบชักโครกที่เราคุ้นเคย ซึ่งจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของนักวิจัยสวีเดนได้แนะว่าระบบอย่าง "ส้วมหลุม" (squat toilet) ที่เราจะนั่งขับถ่ายเหนือพื้นแล้วใช้น้ำราดทำความสะอาดนั้นประหยัดน้ำกว่าระบบชักโครก และเป็นที่แพร่หลายในบางพื้นที่ของเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา แต่ผลพวงจากระแสไหลบ่าของวัฒนธรรมตะวันตกนานหลายทศวรรษได้ชักนำให้ระบบชักโครกเข้ามาแทนที่ระบบกำจัดของเสียแบบเดิม
มาจ-บริตต์ ควิตเซา (Maj-Britt Quitzau) นักสังคมวิทยาด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนจากสถาบันวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเดนมาร์ก (National Environmental Research Institute of Denmark) ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ของการใช้ส้วมดังกล่าวให้ความเห็นว่าคนส่วนใหญ่ยากที่จะจินตนาการได้ว่ามีวิธีอื่นที่จะจัดการกับของเสียของคนเราได้
"ความจริงแล้วมีระบบส้วมแบบอื่นก่อนระบบชักโครก ซึ่งเป็นระบบที่ของเสียของเราตามบ้านเรือนต่างๆ ในเมืองจะถูกรวบรวมเพื่อนำออกไปใช้ในพื้นที่เกษตร" ควิตเซาให้ข้อมูล
ในขณะที่ประชากรนับล้านในอินเดียและชนชาติในแอฟริกากำลังประสบภาวะขาดแคลนน้ำ แต่ชาวตะวันตก (รวมทั้งชนชาติอื่นๆ ทั่วโลก) ก็ยังคงเลือกที่จะใช้ส้วมชักโครก
เพื่อทำความเข้าใจกับระบบชักโครกที่ชาติตะวันตกเป็นต้นแบบ ควิตเซาได้วิจัยสำรวจทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับของเสียจากคนและพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของระบบน้ำและระบบของเสีย จากนั้นได้เขาได้วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อแนะนำทางเลือกในการแก้ปัญหา
งานวิจัยของควิตเซาซึ่งชักนำไปสู่เป้าหมายของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แนะว่าการออกแบบส้วมให้ประหยัดน้ำนั้นต้องก้าวข้ามวัฒนธรรมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการวางผังเมืองและการครอบงำของความสะดวกสบายด้านสุขอนามัย
จากการศึกษาใช่ว่าชาวตะวันตกจะยึดติดอยู่กับระบบชักโครกเสมอไป ดังในช่วงปี 1850 มี "ส้วมดิน" (Earth toilet) ซึ่งมีลักษณะคล้ายถาดพายแอปเปิลของชาวอเมริกันปรากฏในประวัติศาสตร์
ส้วมดินดังกล่าวมีที่นั่งเหนือตู้คอนเทนเนอร์สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ซึ่งรองรับดินที่ต้องเทกลบหลังถ่ายทุกข์ และแทนที่จะทิ้งของเสียเหล่านั้นให้เปล่าประโยชน์เกษตรกรจะนำไปใช้พื้นที่เกษตรเช่นเดียวกับปุ๋ยหมักชีวภาพ
อย่างไรก็ดีด้วยระบบการจัดการของเสียในเมืองใหญ่และทัศนคติเกี่ยวกับของเสียจากคนเราได้ทำให้วิธีที่ต้องใช้แรงงานถูกแทนที่ด้วยระบบชักโครกที่สะดวกสบายกว่า ทั้งนี้ระบบส้วมชักโครกต้องการน้ำและระบบจัดการของเสียที่ใช้ได้ง่ายกว่าและกวาดล้างของเสียทั้งหมดไป
ควิตเซากล่าวว่าระบบชักโครกที่มีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่านั้นมีนักวางแผนเมืองและบุคลากรสาธารณสุขเป็นโฆษกให้กับส้วมชักโครกแบบกลายๆ แต่พวกเขาเหล่านั้นอาจจะต้องยุ่งยากใจหากได้พบกับปัญหาการเติบโตของสังคมเมืองตามเมืองต่างๆ ของตะวันตกในเวลานี้
ควิตเซายกตัวอย่างรายงานในวารสารสวีดิชไซน์เพรส (Swedish Science Press) ว่าเพียงแค่กรุงสตอกโฮล์มเมืองหลวงของสวีเดนแห่งเดียวก็มีจำนวนส้วมชักโครกเพิ่มขึ้นระหว่างปี 1890-1925 จาก 127 แห่งเป็น 80,000 แห่ง ขณะเดียวกันส้วมดินซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแต่มีสุขอนามัยที่ค่อนข้างแย่ก็ได้สูญหายไปจากบ้านเรือน
แม้ว่าชาวตะวันตกจะไม่คิดเปลี่ยนแปลงจากการใช้ส้วมชักโครกไปเป็นส้วมซึม แต่ก็มีผู้บุกเบิกที่เริ่มคิดนอกกรอบ ซึ่ง "ส้วมหมัก" (composting toilet) เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะนำไปสู่วิธีลดการใช้น้ำเพื่อกำจัดของเสีย ส้วมดังกล่าวอาศัยแบคทีเรียเปลี่ยนแปลงของเสียให้กลายเป็นปุ๋ยโดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำ และใช้น้ำเพียงน้อยนิดเพื่อล้างปัสสาวะแล้วแยกลงไปโถที่แบ่งเป็นส่วนสำหรับของเสียทั้ง 2 ชนิด
อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีส้วมซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้น้ำนี้ยังไม่เป็นที่นิยมเพราะผู้คนในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่อยู่ภายใต้โครงสร้างของเมืองที่ออกแบบให้ใช้ระบบชักโครก
"บางทีในอนาคตผู้คนตามเมืองต่างๆ ของตะวันตกอาจจะยอมรับแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากปัสสาวะและอุจจาระของมนุษย์แทนที่จะมองว่าเป็นของเสีย" ควิตเซาตั้งความหวัง
เมื่อถึงเวลานั้นจริงระบบส้วมที่เคยถูกประนามว่าไม่ถูกสุขอนามัยนั้นจะเข้าไปทวงตำแหน่งระบบกำจัดของเสียมนุษย์จากระบบส้วมชักโครก หากแต่ควิตเซาได้ชี้ถึงจุดอ่อนที่ทำให้ส้วมหมักยังปราชัยว่ายังต้องปรับปรุงเทคโนโลยีสำหรับส้วมเพื่อสิ่งแวดล้อมนี้ เพราะส้วมชนิดนี้ยังทำให้ผู้คนนึกถึงความคร่ำครึและส้วมที่ไม่ชวนหลงใหลอย่างส้วมหลุมและส้วมซึม
ควิตเซากล่าวว่าการสร้างส้วมที่ไม่ต้องใช้น้ำให้เป็นที่พอใจสำหรับคนส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องเลียนแบบจุดดีของส้วมชักโครกที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันที
"บ้านจำนวนมากสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับระบบส้วมชักโครกแต่ไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับการสร้างส้วมหมักที่ต้องมีโถงสำหรับเก็บของเสียอยู่ใต้ถุนอาคาร นักวางแผนเมืองคิดถึงระบบจัดการของเสียแต่ไม่ได้นึกถึงระบบส้วมที่เกื้อหนุนให้สะสมปัสสาวะและอุจจาระของคนเราแล้วขนส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูกได้ เทคโนโลยีส้วมในปัจจุบันพุ่งเป้าไปที่ความสะดวกสบายและการออกแบบ มากกว่าความยั่งยืน " ควิตเซากล่าว
อย่างไรก็ตามส้วมสุญญากาศ (vacuum toilet) ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของผู้โดยสารบนเครื่องบินเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีศักยภาพพอจะดึงดูดชาวตะวันตกที่ยึดติดอยู่กับวิธีชักโครกแบบเก่า เสียงรบกวนของส้วมสุญญากาศก็คล้ายคลึงกับรูปแบบการทำงานของส้วมชักโครก แต่ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมจากการ "สูบ" พลังงานมหาศาลของส้วมชนิดนี้ก็ไม่คุ้มค่าพอที่จะยอมรับได้
ดังนั้นตัวเลือกที่จะเข้ามาแข่งกับส้วมชักโครกได้อย่างสูสีจึงน่าจะเป็นส้วมหมักที่ผสมผสานความสะดวกสบายในรูปแบบของส้วมชักโครกเข้าไว้ด้วย
"ปัจจุบันความมั่นคงของระบบส้วมชักโครกยังคงแข็งแกร่งมาก ดังนั้นจำเป็นต้องใช้ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีพร้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสังคมและวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มฐานอันมั่นคงให้กับส้วมหมัก" ควิตเซาสรุปถึงแนวทางที่นำพาส้วมหมักเข้ามาทดแทนส้วมแบบชักโครก