xs
xsm
sm
md
lg

ไขกลไกสมอง "เครื่องคิดเลขมนุษย์" ถอดรากที่ 13 เลข 200 หลักแค่ 77 วิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อเล็กซิส เลอแมร์ นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ผู้ถอดรากที่ 13 ของเลข 200 หลักได้ตั้งแต่ครั้งยังเนนักศึกษา และได้รับยกย่องจากไทม์ให้เป็น เครื่องคิดเลขมนุษย์
บีบีซีนิวส์-ไขกลไกกระบวนการคิด "เครื่องคิดเลขมนุษย์" ชาวฝรั่งเศสผู้คิดในใจถอดรากที่ 13 เลข 200 หลักแค่ 77 วินาที เผยเทคนิคแปลงตัวเลขเป็นภาพ ประโยค สร้างความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งและตัวเลขเพื่อไม่ให้สับสนและฝึกหนักกว่า 4 ปี

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เพื่อนๆ มักจะใช้บริการให้คำนวณค่าอาหารมื้อเที่ยงเพราะคุณคิดเลขในใจได้เร็วแล้วล่ะก็ คุณน่าจะลองบริหารสมองหารากที่ 13 ของ

85,877,066,894,718,045,602,549,144,850,158,599,202,771,247,748,960,878,023,
151,390,314,284,284,465,842,798,373,290,242,826,571,823,153,045,030,300,932,
591,615,405,929,429,773,640,895,967,991,430,381,763,526,613,357,308,674,592,
650,724,521,841,103,664,923,661,204,223

คำตอบของเลขกว่า 200 หลักนี้คือ 2,396,232,838,850,303 เมื่อนำกลับไปคูณกัน 13 ครั้งก็จะได้เท่ากับตัวเลขจำนวนมหาศาลด้านบน แต่ถ้าคุณพึ่งเครื่องคิดเลขเชื่อเถอะว่าช้ากว่าการคิดในใจของ อเล็กซิส เลอแมร์ (Alexis Lemaire) นักวิจัยปัญญาประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสวัย 27 ผู้ได้รับยกย่องจากนิตยสาร "ไทม์" (Time) ให้เป็น "เครื่องคิดเลขมนุษย์" ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาภายในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ออกซ์ฟอร์ด (Oxford's Museum of the History of Science) อังกฤษเลอแมร์ทำลายสถิติของตัวเลขโดยคำนวณหารากที่ 13 ของโจทย์ด้านบนด้วยเวลาเพียง 77.99 วินาที ซึ่งเจ้าตัวเปิดเผยว่าเขาฝึกหนักไม่ต่างไปจากนักกีฬาหากจะเปรียบเทียบให้เขาเป็นนักกีฬาทางความคิด

"มันค่อนข้างยาก ผมเตรียมตัวอย่างมากเพื่อสิ่งนี้ มากกว่า 4 ปีที่ต้องทำงานและฝึกอย่างหนักทุกวัน ท่องจำอย่างมาก ผมต้องมี 3 สิ่งนี้ การคำนวณ การท่องจำและอย่างที่สามคือทักษะทางคณิตศาสตร์ มันเป็นงานที่หนักมากและอาจจะเป็นพรสวรรค์โดยธรรมชาติ" เลอแมร์เผย

ทั้งนี้เราทึ่งกับความสามารถอันน่าอัศจรรย์ที่ใครจะหาคำตอบทางคณิตศาสตร์จากการคิดในใจด้วยเวลาอันรวดเร็ว และคนธรรมดาทั่วไปเช่นเราก็อยากจะรู้ว่าเขาคนนั้นทำได้อย่างไร แต่น่าเศร้าที่เหล่านักปราชญ์และอัจฉริยะบอกเราได้เพียงแค่เศษเสี้ยวของการทำงานอันน่าทึ่ง ขณะที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการทำงานสมองของคนเหล่านี้ได้เพียงน้อยนิดเกินกว่าจะให้คำตอบที่แน่ชัดได้

นักวิจัยพยายามที่จะเชื่อมโยงปัญหาของสมองทั้งบาดแผลและการทำงานที่ผิดปกติเข้ากับความสามารถพิเศษในจิตใจ หนึ่งในทฤษฎีมากมายคือการที่สมองส่วนหนึ่งถูกทำลายจะกระตุ้นให้เกิดการทำงานของสมองส่วนอื่นเพื่อชดเชย

คิม พีค (Kim Peek) ผู้เป็นออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษรู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ มากมายคือบุคคลตัวอย่างของกรณีดังกล่าวผู้มีการทำงานของสมองที่ผิดปกติและระดับสติปัญญา (IQ) ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่ยังสามารถอ่านหนังสือได้อย่างรวดเร็วและจดจำข้อมูลจำนวนมากได้ ซึ่งเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลให้เกิดตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง "ชายชื่อเรนแมน" (Rain man) ซึ่งสวมบทบาทโดย ดัสติน ฮอฟฟ์แมน (Dustin Hoffman) นักแสดงชื่อดัง

ดร.อัลลัน ซไนเดอร์ (Dr.Allan Snyder) นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองกล่าวว่า ทุกคนอาจมีความสามารถในการคิดเลขเร็วเช่นเดียวกันนี้แต่อาจจะเข้าไปไม่ถึงความสามารถที่มีอยู่นั้น

เลอแมร์อธิบายถึงวิธีการคิดเลขเร็วของเขาว่าเขาแปลงตำเลขมากมายในโจทย์ให้กลายเป็นภาพที่เขาจะ "มองเห็น" คำตอบของปัญหาได้

"เมื่อผมคิดถึงตัวเลขจำนวนมาก บางครั้งผมเห็นเป็นภาพวิ่ง บางครั้งเห็นเป็นประโยค ผมสามารถแปลตัวเลขเหล่านั้นให้กลายเป็นคำศัพท์ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผมมากๆ ศิลปะคือแปลงกลุ่มก้อนความจำให้กลายเป็นโครงสร้างบางอย่าง"

"ผมเห็นภาพ ประโยค การเคลื่อนไหว มันเป็นสัมผัสทางความคิดที่อ่อนไหวมาก ผมเห็นความเชื่อมโยงระหว่างตำแหน่งและตัวเลข บางตำแหน่งเป็นเพียงจินตนาการ ผมพยายามอย่างมากที่จะไม่สับสนในตัวเลข มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะจดจำ ผมจำเป็นต้องฝึก" เลอแมร์เผยเคล็ดลับ

ทั้งนี้คำอธิบายของเลอแมร์คล้ายคลึงกับปราชญ์ชาวอังกฤษที่ชื่อ แดเนียล แทมเมต (Daniel Tammet) ซึ่งสร้างสถิติโลกด้วยการท่องค่าไพ (¶) ได้มากกว่า 22,000 หลักเมื่อปี 2547

สำหรับแทมเมตแล้วตัวเลขแต่ละตัวมีสีสันชัดเจนและปรากฏเด่นชัด บางตัวสวยงามแต่บางตัวไม่ พร้อมการคำนวณที่ซับซ้อนจนฉายเป็นภาพให้เห็น และความสามารถนี้ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องภาษาซึ่งมีรายงานว่าเขาเรียนรู้ภาษาของชาวเกาะไอซ์แลนด์ได้ภายใน 1 สัปดาห์หลังจากที่เขาชนะเลิศการแข่งขันท่องค่าไพ

อย่างไรก็ดีเป็นเรื่องที่ปลอดภัยกว่าที่จะสรุปว่ากระบวนการทำงานทางสมองของเลอแมร์นั้นไม่รวมถึงการแปลความหมายของคำ แต่มีบางคำอธิบายสำหรับบางสิ่งที่เขาทำ

การท่องจำที่เลอแมร์พูดถึงนั้นคือชุดในการแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ อย่างเช่นการจัดกลุ่มตัวเลข 5 หลักแรกของตัวเลข 200 หลัก เขาใช้กระบวนการนี้เพื่อจัดการกับตัวเลขที่ยาวเฟื้อย

ในการคำนวณที่ง่ายกว่าในการถอดรากที่ 13 ของตัวเลข 100 หลักนั้นมีบันทึกสถิติครั้งแรกเมื่อปี 1970 ว่าใช้เวลาคำนวณ 23 นาที แต่ปัจจุบันเลอแมร์สามารถจัดการหาคำตอบได้ในเวลาน้อยกว่า 4 วินาที

ไม่ว่ากระบวนการทางจิตใจที่นำไปเลอแมร์ไปสู่คำตอบในการคำนวณทางคณิตศาสตร์ครั้งนี้คืออะไรก็ตาม แต่ความจริงที่เขาสามารถไขโจทย์คณิตศาสตร์ในความเร็วระดับวินาทีได้โดยไม่ใช้ปากกาหรือกระดาษเลยก็ทำให้คนที่มีสมองธรรมดาๆ อย่างเราทึ่งได้

กำลังโหลดความคิดเห็น