xs
xsm
sm
md
lg

ออสซี่ตะลึง!! พบชิ้นส่วนโครงกระดูก “วอมแบทยักษ์” อายุ 40,000 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เดลีเทเลกราฟ – นักบรรพชีวินออสซี่ตื่นเต้นหลังไกด์นำเที่ยวพบโครงกระดูก “วอมแบทยักษ์” ในถ้ำแห่งหนึ่ง หักล้างความเชื่อเดิมที่ว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์ออสเตรเลียสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ 45,000 ปีมาแล้ว

ไกด์นำเที่ยวชาวออสเตรเลียพบชิ้นส่วนโครงกระดูกของ “ไดโพรโทดอน” (Diprotodon) สัตว์โบราณของท้องถิ่นทวีปออสเตรเลียภายในถ้ำเจโนลัน (Jenolan Caves) บลูเมาท์เทนส์ (Blue Mountains) ทางตะวันตกของซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ และนับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ใกล้กับมหานครซิดนีย์ ทั้งยังหักล้างความเชื่อเดิมถึง 2 ทฤษฎี

ชิ้นส่วนกระดูกที่พบนี้เป็นส่วนของขากรรไกรล่างของไดโพรโทดอน ขนาดยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีอายุราว 20,000-40,000 ปี

ไดโพรโทดอนเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง คล้ายวอมแบท (Wombat) แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ไดโพรไทดอนสูง 2 เมตร ยาว 3 เมตร หนักราว 3 ตัน ขณะที่วอมแบทสูงเพียง 25 เซนติเมตร ยาวเกือบ 1 เมตร และหนักราว 20-45 กิโลกรัม

ไมเคิล อาร์เชอร์ (Michael Archer) นักบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยรัฐนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบฟอสซิลในเขตบลูเมาท์เทนส์ เชื่อแน่ว่าจะต้องมีชิ้นส่วนอื่นๆ อยู่อีก และเตรียมประกาศให้ถ้ำเจโนลันเป็นเขตวิทยาศาสตร์ศึกษาเรื่องราวของสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ชาติออสเตรเลียด้วย

ด้าน ดร.โคลิน โกรฟส์ (Colin Groves) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) เผยว่า การค้นพบครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก น่าสนใจและเป็นข่าวดีอย่างยิ่งที่ยังมีสิ่งนี้ให้ได้ค้นพบ

“หากกระดูกขากรรไกรของไดโพรโทดอนอายุ 20,000-40,000 ปีจริงดังว่า จะสามารถหักล้างความเชื่อเดิมได้ถึง 2 เรื่องเลยทีเดียว ทั้งฝ่ายที่เชื่อว่าสัตว์โบราณขนาดใหญ่ในท้องถิ่นออสเตรเลีย (megafauna) สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ 45,000 ปีก่อน กับอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าสัตว์เหล่านั้นสูญพันธุ์เพราะถูกมนุษย์ไล่ล่า ซึ่งที่จริงแล้วชาวออสซี่แรกเริ่มเพิ่งเข้ามาอาศัยยังดินแดนแถบนี้เมื่อราว 5,000 ปีมานี้เอง” ดร.โกรฟส์ ชี้แจง


กำลังโหลดความคิดเห็น