xs
xsm
sm
md
lg

ก๊าซมีเทนในนาข้าว เรื่องเล็กของโลกร้อน แนะลดโลกร้อนควรเริ่มที่ภาคพลังงานเป็นหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

JGSEE - นักวิจัย JGSEE ชี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับภาคการใช้พลังงาน อีกทั้งยังเป็นการปลดปล่อยเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ เผยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้ผลควรทำในภาคการใช้พลังงาน โดยการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ประธานสายสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการกล่าวถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว ซึ่งแท้จริงแล้วจากข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศของประเทศไทยในปี 2546 จากประมาณ 344 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นการปล่อยจากภาคพลังงานถึงร้อยละ 56 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ รองลงมาภาคเกษตรกรรมร้อยละ 24 จากขยะมูลฝอยและของเสียร้อยละ 8 จากป่าไม้และการใช้ที่ดินร้อยละ 7 และจากกระบวนการอุตสาหกรรมร้อยละ 5 ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับภาคพลังงานมากกว่าภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรส่วนใหญ่

“ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ หรือประมาณ 40 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยจากภาคพลังงาน อีกทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าวยังเป็นการปล่อยเพื่อความอยู่รอดของคนไทย เนื่องจากคนไทยทุกคนต้องกินข้าว การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวจึงยังไม่มีความจำเป็นในปัจจุบัน” รศ.ดร.สิรินทรเทพ กล่าว

ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากนาข้าวส่วนใหญ่คือก๊าซมีเทน ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินนา ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน คือสภาพไร้อากาศในนาข้าวและสารอินทรีย์ที่อยู่ในนาข้าว โดยจากการทำวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของการระบายน้ำต่อการปล่อยกาซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์จากนาข้าว” ของบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) พบว่า ช่วงเวลาที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ ช่วงที่ต้นข้าวเริ่มออกดอก ออกรวง

“จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินนาเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน โดยจุลินทรีย์ชนิดนี้จะย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ต้นข้าวและรากข้าวแล้วปล่อยลงสู่ดินนาจะทำให้เกิดสภาวะไร้อากาศในดินนา ก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจะถูกปลดปล่อยสู่บรรยากาศมากที่สุดโดยผ่านทางช่องว่างในลำต้นของข้าว แต่อย่างไรก็ดี หากชาวนามีความต้องการลดการปล่อยก๊าซมีเทนก็สามารถทำได้ โดยการเลื่อนการปล่อยน้ำออกจากนาไปในช่วงที่ต้นข้าวกำลังออกดอก ออกรวง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุด การดึงน้ำออกจากนาจะทำให้ดินนากลับคืนสู่สภาพมีออกซีเจน ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ได้ จากนั้นจึงสูบน้ำกลับเข้านาภายใน 3 วัน วิธีการเช่นนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ประมาณร้อยละ 30-40 จากปริมาณการปล่อยเดิม” รศ.ดร.สิรินทรเทพ อธิบาย

นอกจากนี้ รศ.ดร.สิรินทรเทพ กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลของ World Research Institute (WRI) เมื่อปี 2543 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศของประเทศไทย มีอัตราการปล่อยเพียงร้อยละ 0.8 ของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั่วโลก และถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 26 ประเทศไทยจึงควรมีมาตรการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะในภาคพลังงาน อันประกอบด้วยสาขาหลักได้แก่ สาขาขนส่ง สาขาการผลิตไฟฟ้า และสาขาอุตสาหกรรม ซึ่งภายในเวลา 5 ปี หากหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนจะช่วยให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณร้อยละ 10 และหากใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับมาตรการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดได้ถึงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับการไม่มีมาตรการใดๆเลย

ทั้งนี้ วิธีการที่ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมกันปฏิบัติได้คือ การประหยัดพลังงาน ลดการใช้น้ำมันให้น้อยลง หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ใช้ไฟฟ้าให้น้อยลง ด้วยวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยน้อยลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น