xs
xsm
sm
md
lg

"นักสืบโรคระบาด" ทำเรื่องใกล้ตัวให้ชวนรู้ เว็บเยาวชนรางวัล "ThinkQuest"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เด็กไทยโชว์ความสามารถ ทำเว็บไซต์ “ระบาดวิทยา” ส่งเข้าประกวดจนคว้ารางวัลระดับนานาชาติในโครงการ ThinkQuest มาได้ น้องๆ เยาวชนเผยเป็นเรื่องที่คนส่วนมากไม่ค่อยรู้ทั้งที่อยู่ใกล้ตัว ส่วนเจ้าหน้าที่โครงการบอกอยากให้เป็นตัวอย่างกับเด็กไทยให้ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือคิดสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

นักเรียนไทยร่วมกับเพื่อนเยาวชนจากนานาชาติร่วมกันแสดงความสามารถด้านเทคโนโลยีสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในนามทีม “ดิซีส ดีเทคทีฟ” (Disease Detective) คว้ารางวัลชมเชยจากการแข่งขันประกวดเว็บไซต์เพื่อการศึกษาในโครงการ “ธิงค์เควส อินเตอร์เนชันเนล 2007” (ThinkQuest International 2007) หลังจากทุ่มเทเวลากว่า 8 เดือน สรรค์สร้าง “ระบาดวิทยา” (Epidemiology) เว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลเรื่องโรคและการระบาดอย่างน่าสนใจ เน้นให้เด็กเข้าใจง่าย ผู้ใหญ่ได้ความรู้

ปรินทร บุญยะศิริโชค หรือ ปาร์ค นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เยาวชนไทยแท้ๆ เพียงหนึ่งเดียวในทีม กล่าวถึงแรงบันดาลใจของทีมที่คิดทำเว็บไซต์ระบาดวิทยาว่า มีหลายคนที่ยังไม่ค่อยทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดกันมากนัก หรือมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัว และมีหลายโรคที่สมัยนี้คนไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว เช่น โรคฝีดาษ พวกเราจึงอยากเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ จึงพยายามสื่อออกมาในรูปแบบที่น่าสนใจและเข้าใจง่าย สำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะกับเด็กๆ

สมาชิกของทีมนอกจากปาร์คแล้วยังมี "แอนดรูว์" คุณานิจ อัง, "วิลเลียม" เทพศิริ อัง 2 พี่น้องลูกครึ่งไทย-ไต้หวันที่เกิดและเติบโตในสหรัฐฯ และเพื่อนต่างชาติอีก 3 คน ซึ่งอยู่ที่สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และเวียดนาม โดยน้องๆ ทีมดิซีส ดีเทคทีฟได้หยิบเอา “ระบาดวิทยา” มาเป็นโจทย์ในการสร้างเว็บไซต์ส่งเข้าประกวดและสามารถคว้ารางวัลชมเชยมาครองได้สำเร็จ

ในเว็บไซต์เรื่องระบาดวิทยานี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่างๆ และส่วนกรณีศึกษาในรูปแบบของเกมส์ ซึ่งแอนดรูว์ ได้อธิบายว่า ส่วนข้อมูลได้นำเสนอบทนำและทฤษฎีหลักของโรคระบาดต่างๆ เช่น มาลาเรีย, ไข้หวัดใหญ่ และไข้ทรพิษ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้รับทราบข้อมูลความรู้และนำไปประกอบการเรียนรู้กรณีศึกษา ซึ่งเป็นเกมส์จำลองเหตุการณ์จริงให้ผู้เล่นทดลองแก้ปัญหาระบาดวิทยา

“ผู้เล่นจะได้ทดลองสวมบทบาทเป็นนักระบาดวิทยาและต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเกมส์ โดยใช้ข้อมูลและทฤษฎีที่เขียนอธิบายไว้ช่วยไขปัญหา” แอนดรูว์ อธิบายเกมส์ในเว็บไซต์พร้อมกับสาธิตให้ดู 1 เกมส์

ด้วยเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป นำเสนอในรูปแบบภาพการ์ตูนแอนนิเมชันน่ารักและเกมส์ทดสอบเชาว์ปัญญา ทำให้เว็บไซต์ของทีมนี้ได้รางวัลชมเชยจากการแข่งขันโครงการ ThinkQuest ในระดับอายุ 19 ปี ลงไป แต่สิ่งที่น้องๆ ในทีมได้มากกว่ารางวัลตลอดระยะเวลาที่ร่วมกันทำเว็บไซต์นี้ขึ้นมา นั่นคือความรู้ ประสบการณ์ และการฝึกฝนตนเอง

ทำให้เรารู้จักหน้าที่ของตนเอง บริหารเวลาเป็น ทั้งการเรียน ค้นคว้าหาข้อมูล ทำเว็บไซต์ โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีมที่แต่ละคนอยู่ไกลกันคนละประเทศแต่ต้องติดต่อสื่อสารเพื่อทำงานร่วมกัน” ปาร์คพูดถึงประสบการณ์ที่ได้ ซึ่งหน้าที่หลักของปาร์คในทีมคือวาดรูปประกอบบนเว็บไซต์และค้นคว้าข้อมูลระบาดวิทยาในประเทศไทย ซึ่งการที่มีเพื่อนร่วมทีมต่างชาติต่างภาษากันทำให้บางครั้งภาษาก็เป็นอุปสรรคด้วยเหมือนกัน แต่ทำให้ปาร์คได้ฝึกฝนภาษาเพิ่มเติมด้วย

ส่วนแอนดรูว์ หนุ่มน้อยวัย 16 ปี ที่มีคุณแม่เป็นชาวไทย ก็บอกว่า การที่เราต้องตอบโจทย์ให้ได้และต้องคิดว่าจะทำอะไรต่อไปนั้นเป็นสิ่งท้าทายพวกเรา ซึ่งมือเขียนข้อมูลหลักในทีมอย่างแอนดรูว์ต้องหาข้อมูลทั้งจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ ไปสำรวจและสัมภาษณ์นักวิชาการตามสถาบันต่างๆ ด้วยตัวเอง ทำให้เขาได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักแบ่งเวลาเป็น และในอนาคตแอนดรูว์ได้ตั้งเป้าไว้ว่าอยากจะเป็นนักวิจัยด้านการแพทย์หรือชีววิทยา เพราะอยากหาหนทางช่วยเหลือผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานด้วยโรคต่างๆ

สมาชิกอีกคนหนึ่งในทีม วิลเลียม น้องชายวัย 14 ปีของแอนดรูว์ ได้บอกว่าความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลในเว็บไซต์ เพราะภาพประกอบที่เป็นการ์ตูนแอนนิเมชันนั่นเอง และต้องพยายามทำเกมส์ที่สื่อออกมาให้ได้ตรงกับจุดประสงค์ที่ต้องการนำเสนอด้วย ซึ่งวิลเลียมมีหน้าที่หลักในทีมคือเป็นโปรแกรมเมอร์และออกแบบเว็บไซต์

แต่ความสำเร็จของเด็กๆคงเกิดขึ้นได้ยากหากขาดการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ นางสุจิตรา บุญยะศิริโชค คุณแม่ของปาร์ค เล่าว่า น้องปาร์คเป็นเด็กเรียน ขยัน และไม่ค่อยชอบออกไปเที่ยวนอกบ้าน แต่เขาก็สามารถเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ และได้เพื่อนใหม่จากกิจกรรมนี้ และที่น้องปาร์คได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของทีมนี้ได้ทั้งที่อยู่คนละประเทศก็เริ่มจากที่ผู้ใหญ่รู้จักกันมาก่อน จึงได้ชักชวนน้องปาร์คให้เข้าร่วมทีมด้วย

ขณะที่นายวิลเลียม อัง คุณพ่อของแอนดรูว์และวิลเลียมก็มีความคิดเห็นว่า พ่อแม่ต้องคอยเฝ้าดูลูกอยู่ห่างๆ ต้องคอยกระตุ้นเด็กๆให้เขาได้ทำในสิ่งที่ชอบ คอยช่วยเหลือเมื่อเขาขาดเหลือสิ่งใด และให้กำลังใจเมื่อเขาท้อแท้หรือเจออุปสรรค ผู้ใหญ่ต้องคอยแนะนำแต่ไม่ควรทำให้ ให้เขารู้จักบริหารความคาดหวังว่าการแข่งขันไม่จำเป็นต้องชนะเสมอไปแต่เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราลงมือทำ

ด้านนายขจรศักดิ์ สังข์เจริญ ผอ.ฝ่ายฝึกอบรม บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า แม้ก่อนหน้านี้จะมีผลงานของเยาวชนไทยส่งเข้าประกวดมาบ้างแล้วก็ตาม แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผลงานที่ได้รางวัลมีเยาวชนไทยเป็นส่วนหนึ่งในทีมนับตั้งแต่จัดการแข่งขันมาปีนี้เป็นปีที่ 13 แล้ว จึงอยากให้น้องปาร์ค น้องวิลเลียมและแอนดรูว์ที่มีเลือดไทยอยู่ครึ่งหนึ่ง เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยสนใจเข้าร่วมประกวดในโครงการนี้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าเด็กไทยที่มีความสามารถยังมีอยู่อีกมาก

สำหรับโครงการ ThinkQuest ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิการศึกษาของออราเคิล (Oracle Education Foundation) ได้เปิดโอกาสให้ทีมเยาวชนอายุตั้งแต่ 9-19 ปี สมัครเข้าแข่งขันทำเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในสาขาต่างๆ เป็นประจำทุกปี โดยเน้นให้เยาวชนได้ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเผยแพร่ข้อมูลเพื่อการศึกษา และส่งเสริมให้เยาวชนได้ฝึกฝนการทำงานกับเพื่อนร่วมทีมที่อยู่กันคนละท้องถิ่นทั่วโลก โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thinkquest.org

สามารถเข้าไปชมเว็บไซต์ “ระบาดวิทยา” ผลงานของน้องๆทีม “ดิซีส ดีเทคทีฟ” ได้ที่ http://library.thinkquest.org/06aug/01865






กำลังโหลดความคิดเห็น