ไม่แปลกเลยใช่ไหมถ้าพูดถึง “ซุปไก่สกัดบำรุงร่างกาย” เพราะพบเห็นได้ทั่วไป แต่อาจต้องประหลาดใจบ้างเล็กน้อย หากจะมี “ซุปจระเข้สกัด” ออกวางขาย เพราะในกระดูกของเจ้าสัตว์ฉายา “วายร้าย” ตัวนี้ มีสารมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายทีเดียว แถมคุณผู้หญิงทั้งหลายยังอาจหันมาบริโภคกันมาก เมื่อทราบว่าเมื่อดื่มแล้วจะได้รับ “คอลลาเจน” มาเสริมความงามด้วย
รศ.ดร.วรรณวิบูลย์ กาญจนกุญชร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการผลิตภัณฑ์อาหารจากชิ้นส่วนซี่โครงและกระดูกสันหลังจระเข้ เล่าว่า ปกติแล้วร่างกายจระเข้ทุกส่วนสามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย สร้างรายได้ให้แก่ผู้เลี้ยงจำนวนมหาศาล ตั้งแต่ส่วนเนื้อ หนัง และตีน จะมีก็เพียงกระดูกเท่านั้นที่ต้องเหลือทิ้ง เพราะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้นอกจากทำอาหารสัตว์หรือต้มเป็นน้ำซุป ซึ่งไม่เป็นที่นิยมมากนัก
นักวิจัย บอกว่า ข้อมูลในปี 2545 ฟาร์มจระเข้ขนาดใหญ่ในประเทศจะมีการชำแหละจระเข้สูงถึง 1,500 ตัว/เดือนทีเดียว ยิ่งในปัจจุบันด้วยแล้ว ยิ่งมีฟาร์มผู้เลี้ยงจระเข้ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนจำนวนมาก จึงคาดได้ว่าจะมีปริมาณจระเข้ที่ถูกชำแหละนับหมื่นๆ ตัว/เดือน ซึ่งหลายประเทศในเอเชียเช่น จีน รวมถึงไทย ผลิตภัณฑ์จากจระเข้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นอาหารสุขภาพ รักษาโรค และบำรุงกำลัง
“ทีมวิจัยได้ร่วมกับฟาร์มจระเข้ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อนำส่วนโครงกระดูกของจระเข้มาหาสารที่มีประโยชน์ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทิ้งกระดูกจระเข้ไปอย่างน่าเสียดาย จนพบว่าเมื่อเลาะเศษเนื้อออกจากกระดูกซี่โครงและกระดูกสันหลังของจระเข้แล้ว ในกระดูกจะเข้ยังมีกรดอะมิโนปริมาณสูงถึง 17 ชนิดด้วยกัน อีกทั้งยังมีกรดอะมิโนคอลลาเจนชนิดไฮดรอกซีโพรลีนและไฮดรอกซีไซลีนจำนวนมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับซุปไก่สกัดแล้วจะไม่มีกรดอะมิโนคอลลาเจนเหล่านี้เหมือนซุปจระเข้สกัด” นักวิจัย กล่าว
สำหรับกรดอะมิโนคอลลาเจนที่ได้ ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ได้ทันที ทำให้รู้สึกสดชื่น หายเพลีย หายเครียด และร่างกายสามารถนำไปซ่อมแซมเนื้อเยื่อร่างกายส่วนที่สึกหรอได้ทันที ด้านคอลลาเจนจะช่วยบำรุงผิวพรรณ เพิ่มความยืดหยุ่น ทำให้ผิวตึงเรียบกระชับ ชุ่มชื้น และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ซึ่งกรรมวิธีการและเครื่องจักรในการทำซุปจระเข้สกัดจะเป็นวิธีเดียวกับที่ทำซุปไก่สกัดทั่วไป เมื่อกรองแล้วจะมีสีใสและมีกลิ่นหอมชวนรับประทานยิ่งขึ้น
“ซุปจระเข้สกัดมีอายุเก็บรักษาได้นาน 3 ปี มีกลิ่นและรสชาติไม่ต่างจากซุปสกัดทั่วๆ ไป ต้นทุนต่ำเพราะนำของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาผลิต ไม่จำเป็นต้องนำเนื้อสัตว์ที่มีราคาสูงมาสกัดน้ำซุป โดยเวลานี้งานวิจัยกำลังอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร หากไม่มีการทักท้วงสิทธิ์ อีก 2 ปีก็จะได้สิทธิบัตรในงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้เชื่อมั่นว่าซุปจระเข้สกัดจะมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์มาก” รศ.ดร.วรรณวิบูลย์ เสริม
ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยยังได้พัฒนาเนื้อจระเข้หยองจากเศษเนื้อที่ติดอยู่ตามกระดูกซี่โครงและกระดูกสันหลังจระเข้ที่ผ่านการชำแหละแล้วด้วย ซึ่งจะมีเนื้อติดอยู่ประมาณ 20 -40% ของน้ำหนักกระดูก เมื่อปรุงรสให้เป็นจระเข้หยองแล้ว จะมีโปรตีนสูงถึง 33% จึงเหมาะแก่การรับประทานกับข้าวได้
ส่วนงานวิจัยที่ทำต่อไปคือ การนำส่วนกระดูกและกระดูกอ่อนซึ่งเหลือจากการต้มน้ำซุปแล้ว มาป่นเป็นผงแห้งและบรรจุในแคปซูลเพื่อใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ เนื่องจากภายในกระดูกและกระดูกอ่อนเหล่านี้ยังมีสารประกอบแคลเซียมไฮดรอกซีแอปาไทต์ และสารคอนดรอยตินซัลเฟตในปริมาณสูง นอกจากนั้นแล้ว กระดูกป่นอบแห้งยังอาจขายเป็นอาหารเสริมแก่สัตว์ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายใดสนใจงานวิจัย “ผลิตภัณฑ์อาหารจากชิ้นส่วนซี่โครงและกระดูกสันหลังจระเข้” ของ รศ.ดร.วรรณวิบูลย์ กาญจนกุญชร สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2562-5000 คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เพื่อติดต่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อไป