สทอภ.เร่งผลิต "ด็อกเตอร์" ด้านจีไอเอสร่วมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาค 5 แห่ง รับดาวเทียมธีออสที่จะขึ้นปลายปี แจงเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก 25 คน
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ร่วมผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอกด้านภูมิสารสนเทศศาสตร์ (จีไอเอส) กับมหาวิทยาลัย 5 แห่งซึ่งเป็นศูนย์ระดับภูมิภาคของสำนักงานในภูมิภาคคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยกำลังจัดเตรียมหลักสูตรและพร้อมเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกสถาบันละ 5 คน ในปีการศึกษา 2551
ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผู้อำนวยการ สทอภ.แจงว่ามีความต้องการบัณฑิตทางด้านภูมิสารสนเทศจำนวนมากแต่ปัจจุบันมีความขาดแคลน โดยการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีมีน้อย ขณะที่การหลักสูตรในระดับปริญญาโทน้อยลงจึงต้องส่งบุคลากรไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทั้งนี้ในโครงการสร้างดาวเทียมธีออส (THEOS) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาตินี้มีทุนผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี 5 ทุน ระดับปริญญาโท 15 ทุนและระดับปริญญาเอก 4 ทุน โดยทั้งหมดจะไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส
เนื่องจากดาวเทียมธีออสจะขึ้นสู่วงโคจรในปลายปีนี้ ทาง สทอภ.เห็นความจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศเพื่อใช้ประโยชน์ดาวเทียมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ดร.ธงชัยได้เผยว่าวิศวกร 20 คนของสำนักงานซึ่งไปอบรมระหว่างการสร้างธีออสที่ฝรั่งเศสก็จะร่วมเป็นอาจารย์ในหลักสูตรระดับปริญาเอกนี้ อีกทั้งทาง สทอภ.จะให้ความร่วมมือในด้านเครื่องมือวิเคราะห์ภาพถ่ายและข้อมูลทางภูมิสารสนเทศด้วย
ดร.ชงชัยแจงว่านอกจาก สทอภ.แล้วยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีกที่ต้องการบัณฑิตด้านภูมิสารสนเทศ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัทเอกชนที่ต้องการทำแผนที่ รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และนอกจาก 5 มหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้วยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางด้านภูมิสารสนเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น โดยในอนาคตจะได้ขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ
ด้าน ดร.ชรัตน์ มงคลสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานบริหารหลักสูตรโครงการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก สาขาภูมิสารสนเทศศาสตร์ และอาจารย์ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า ในความร่วมมือครั้งนี้ทั้ง 5 สถาบันจะใช้อาจารย์ร่วมกันซึ่งรวมแล้วมีบุคลากรที่จะให้ความรู้ในหลักสูตรมากกว่า 30 คน โดยในจำนวนนั้นมีวิศวกรของ สทอภ. 20 คนที่ไปอบรมระหว่างสร้างดาวเทียมธีออสที่ฝรั่งเศสจะมาเป็นวิทยากรในหลักสูตรและทาง มข.ก็มีอาจารย์ระดับปริญญาเอกที่จะสอนในหลักสูตรนี้ 3 คน
ทั้งนี้ มข.ได้เปิดรับนักศึกษาระกับปริญญาโทด้านการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 ซึ่งมีบัณฑิตที่จบไปแล้ว 30-40 คน และเพิ่งเปิดรับนักศึกษาด้านภูมิสารสนเทศภายใต้ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ในปีการศึกษา 2550 นี้
ภายหลังลงนามความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตดังกล่าวกับทาง สทอภ. รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องเตรียมพร้อมในการจัดทำหลักสูตร เตรียมความพร้อมบุคลากร การบริหารจัดการ รวมทั้งคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือกับ ตปท.ที่ทาง สทอภ.มีความมืออยู่ อาทิ จีน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น