รมต.วิทย์ เผย สทอภ.แจ้งขอเลื่อนส่งดาวเทียมธีออสขึ้นฟ้ารอบสอง ยืดไปอีกเดือน ระบุ 30 พ.ย. ด้าน ผอ.สำนักงานอวกาศฯ ย้ำเป็นเรื่องปกติ “ดวงไหนๆ ก็เลื่อน” ไม่มีปัญหาขัดข้อง ยันธีออสอยู่ในสภาพฟิตเต็มร้อย เหลือเพียงเตรียมสถานีปล่อยจรวดอีกนิดเดียว
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ว่า ได้รับรายงานจาก ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.ว่า มีเหตุทำให้ สทอภ.ต้องเลื่อนกำหนดการปล่อยดาวเทียมธีออส (THEOS) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของประเทศไทยมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาทไปอีกราว 1 เดือน พร้อมทั้งได้เร่งรัดไปยัง ดร.ธงชัย ให้ทำรายงานแจ้งเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงให้ได้รับทราบโดยเร็วแล้ว
“การเลื่อนครั้งนี้ อาจทำให้ต้องเลื่อนการปล่อยดาวเทียมไปถึง 30 พ.ย.ทีเดียว ซึ่งไทยเราก็คงต้องยอมรอไปก่อน ขณะที่สถานที่ปล่อยดาวเทียมจะยังคงเป็นศูนย์อวกาศยัชนี (Yahni) เหมือนเดิม” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
ทั้งนี้ การเลื่อนกำหนดการปล่อยดาวเทียมธีออส ถือเป็นเลื่อนการปล่อยเป็นครั้งที่ 2 แล้ว จากก่อนหน้านี้ที่กำหนดให้อยู่ในช่วงเดือน ก.ค.2550 แล้วเปลี่ยนมาเป็นช่วงเดือน ต.ค.2550 โดยกำหนดสถานที่ ณ ศูนย์อวกาศเมืองไบโคนัวร์ ประเทศคาซัคสถาน ก่อนเปลี่ยนมาเป็นที่ศูนย์อวกาศยัชนี ชายแดนประเทศรัสเซีย โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายในการปล่อยดาวเทียม บ.แอสเตรียม เอส.เอ.เอส. (Astrium S.A.S.) ประเทศฝรั่งเศส คู่สัญญาของไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด หลังจากที่ไทยได้ทยอยจ่ายเงินว่าจ้างให้แก่บริษัทจนหมดแล้วเมื่อปีงบประมาณ 2550
อย่างไรก็ดี ดร.ธงชัย เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า การเลื่อนกำหนดการปล่อยดาวเทียมครั้งนี้จะไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด และยังอยู่ในสัญญาที่ได้ทำไว้กับ บ.แอสเตรียม เอส.เอ.เอส. ซึ่งกำหนดช่วงเวลาของการปล่อยดาวเทียมไว้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2550 – 19 ม.ค.2551 ที่การปล่อยดาวเทียมในช่วงนี้จะไม่ถือว่าผิดสัญญาแต่อย่างใด
ส่วนกำหนดการเดิมที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ดร.ธงชัย กล่าวว่า เป็นเพียงการคาดการณ์เบื้องต้นว่าจะมีการปล่อยดาวเทียมในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น ไม่ได้เป็นการกำหนดวันเวลาตายตัวใดๆ เนื่องจากเป็นเรื่องปกติของการปล่อยดาวเทียมที่ต้องพิจารณาสภาพอากาศและเตรียมความพร้อมของสถานีปล่อยดาวเทียมให้มั่นใจก่อนจึงจะปล่อยดาวเทียมได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใดๆ ตามมาในภายหลัง
“การปล่อยดาวเทียมจะอาศัยจรวดนำส่งเน็ปเปอร์ (DNEPR) ของยูเครน หากสภาพอากาศไม่ดี เช่น ฟ้าไม่ปลอดโปร่ง หรือมีพายุ ก็อาจทำให้วิถีของจรวดเปลี่ยนไป และดาวเทียมอาจไม่เข้าสู่วงโคจร จึงเป็นเรื่องทั่วไปที่การปล่อยดาวเทียมดวงไหนๆ ก็จะประสบกัน โดยบางดวงอาจมีการเลื่อนปล่อยไปเป็นปีก็ยังมี” ผอ.สทอภ.กล่าว
ขณะที่ความพร้อมล่าสุดของดาวเทียมธีออส ดร.ธงชัย ยืนยันว่า ได้มีการจัดทำและตรวจสอบดาวเทียมเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่พบปัญหาขัดข้องใดๆ แต่ยังเหลือเพียงขั้นตอนบางอย่างเท่านั้น เช่น การทดลองการสื่อสารกันระหว่างดาวเทียมธีออสและสถานีภาคพื้นดินที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี การเตรียมความพร้อมให้กับฐานส่งของสถานีอวกาศ รวมถึงการขนส่งอีกเล็กน้อย