ฮือฮาไปกับฟอสซิลไดโนเสาร์ ที.เร็กซ์ ที่ข้ามฟ้ามาไกลจากอเมริกา โชว์ตัวให้ชาวไทยได้ยลโฉมปนหวาดผวา และแอบจินตนาการว่าฟอสซิลของเจ้าสัตว์กินเนื้อขนาดยักษ์ตัวนี้อาจจะออกมาวิ่งพล่านทั่วพิพิธภัณฑ์ให้ได้ตื่นเต้นกันเหมือนอย่างในหนังดัง “ไนท์ แอท เดอะ มิวเซียม” ก็เป็นได้
“ซู” หรือ ฟอสซิลของเจ้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดยักษ์พันธุ์ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ หรือ ที.เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex : T.rex) ที่เคยเหยียบย่ำและอาละวาดอยู่บนแผ่นดินทวีปอเมริกาเหนือเมื่อ 67 ล้านปีก่อน เป็นฟอสซิลไดโนเสาร์ที.เร็กซ์ ที่มีความสมบูรณ์ถึง 90% นับว่าสมบูรณ์ที่สุดในโลก และตอนนี้กำลังโชว์ตัวอยู่ในบ้านเรา โดยซูยังได้ถือโอกาสเยี่ยมบรรพญาติระหว่างการมาโชว์ตัวครั้งนี้ด้วย
ที.เร็กซ์ เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ (Theropods) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในวงศ์ไทรันโนซอริเด (Tyrannosauridea) เคยมีชีวิตอยู่ในยุคครีเตเชียสตอนปลาย หรือเมื่อ 67-65 ล้านปีก่อน เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 6 ตัน ลำตัวยาว 12 เมตร ส่วนสูงถึงสะโพก 4 เมตร ประกอบด้วยกระดูก 321 ชิ้น มีหัวกะโหลกขนาดใหญ่ยาว 1.5 เมตร และมีฟันอันแหลมคม 58 ซี่ ซึ่งฟันแต่ละซี่ยาวประมาณ 7.5-12 นิ้ว
การค้นพบอันน่าอัศจรรย์
การค้นพบซูนับเป็นความบังเอิญที่ประจวบเหมาะอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2533 ขณะที่ทีมล่าซากฟอสซิลไดโนเสาร์กำลังเดินทางไปยังหลุมขุดฟอสซิลใกล้กับเมืองเฟท รัฐเซาท์ดาโกตา สหรัฐฯ ซู เฮนดริคสัน (Sue Hendrickson) นักขุดฟอสซิลสมัครเล่นวัย 40 ปี ได้ร่วมทีมไปด้วย แต่แล้วรถเจ้ากรรมที่คณะสำรวจใช้เป็นยานพาหนะมาเกิดยางแตกเสียเฉยๆ
ทั้งคณะจึงพากันนำรถเข้าไปซ่อมในเมืองยกเว้นเฮนดริคสันที่ขอรออยู่บริเวณนั้นเพื่อสำรวจพื้นที่ไปพลางๆ ก่อน เมื่อเฮนดริคสันเดินสำรวจเข้าไปใกล้หน้าผาสูงก็เหลือบไปเห็นบางสิ่งบางอย่างตกอยู่ที่พื้น ที่แท้เจ้าสิ่งนั้นคือชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์นั่นเอง เฮนดริคสันจึงแหงนมองขึ้นไปบนหน้าผาเพื่อหาต้นตอของกระดูกชิ้นนั้น และด้วยสายตาของนักสำรวจที่มองแวบเดียวก็รู้ได้ทันทีว่าโครงกระดูกขนาดยักษ์ฝังอยู่ ณ ตรงจุดใด
หลังจากนั้นทีมสำรวจก็เริ่มขุดฟอสซิลนี้ขึ้นมา ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 17 วัน จึงสามารถนำโครงกระดูกทั้งหมดออกมาได้ และใช้เวลาอีก 2 ปี เพื่อทำความสะอาดและซ่อมแซมกระดูกทั้งหมดเกือบ 300 ชิ้น โดยตั้งชื่อฟอสซิลนี้ว่าซู เพื่อเป็นเกียรติแก่ ซู เฮนดริคสัน ผู้ค้นพบ
สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ กรณีพิพาทที่ว่าผู้ใดควรเป็นเจ้าของซู ระหว่างผู้ค้นพบ เจ้าของที่ดินบริเวณนั้น หรือรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งในที่สุดศาลตัดสินให้เจ้าของที่ดินเป็นผู้มีสิทธิในโครงกระดูกของซู และเขาก็ได้นำซูออกประมูลในปี 2540
ทางเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ฟิลด์ (Field museum) เห็นคุณค่าและความสำคัญของฟอสซิลซูต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และโลกยุคโบราณ จึงไม่อยากให้โครงกระดูกล้ำค่านี้เป็นเพียงของแต่งบ้านเศรษฐีกระเป๋าหนักเท่านั้น เลยต้องยอมควักกระเป๋าจ่ายแพงถึง 8.4 ล้านดอลลาร์ (300 ล้านบาท) และชนะการประมูลไปในที่สุด โดยมีแม็คโดนัลด์เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่
จากการสแกนกะโหลกขนาดใหญ่ของซูด้วยซีที (Computerized tomography: CT) ทำให้พบว่า ซูน่าจะมีสมองขนาดใหญ่ประมาณ 30.5 ซม. ที่สามารถควบคุมกลไกต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสัญชาตญาณของนักล่าในการดมกลิ่นที่เป็นเลิศ ที่ทำให้เผ่าพันธุ์อยู่รอดและเป็นราชาครองพื้นพิภพแถบนั้นยาวนานถึง 2 ล้านปี ซึ่งมากกว่ามนุษย์ขณะนี้ถึง 20 เท่า
ที่สำคัญ มีการค้นพบส่วนของกล้ามเนื้อขาซึ่งไม่เคยมีรายงานมาก่อน นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถปะติดปะต่อโครงสร้างตั้งแต่สะโพกจนถึงเท้าได้เป็นครั้งแรก พบว่าขาหลังอันแข็งแกร่งของที.เร็กซ์ มีลักษณะคล้ายสัตว์จำพวกนก ไม่แน่ว่าพวกสัตว์ปีกอาจวิวัฒนาการมาจากทีเร็กซ์ก็เป็นได้ นักบรรพชีวินทั่วโลกจึงยกย่องซูให้เป็นฟอสซิลที่มีคุณค่าแก่การศึกษาและจินตนาการถึงโลกยุคโบราณมากที่สุด
โรบิน ที. โกรซเบค (Robin T. Groesbeck) ผอ.ส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ฟิลด์ เปิดเผยว่า แรกเริ่มเดิมทีที่พิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงนิทรรศการและฟอสซิลของที.เร็กซ์ มีผู้เข้าชมราว 1.3 ล้านคน และเมื่อซูเข้ามาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ จำนวนผู้เข้าชมก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
ที่แท้ซูมีญาติอยู่แถบอีสานบ้านเฮา
ซูอาจจะเคยยิ่งใหญ่ในแถบอเมริกาเหนือ แต่จากหลักฐานซากฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ค้นพบในประเทศไทย นักวิชาการเชื่อว่าบรรพบุรุษของที.เร็กซ์ น่าจะเคยอาศัยอยู่ในแถบเอเชียมาก่อน
ดร.วราวุธ สุธีธร ผอ.สำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ผู้ที่ขุดค้นวิจัยไดโนเสาร์มาแล้วมากมาย เล่าให้ฟังว่า ประเทศไทยวิจัยฟอสซิลไดโนเสาร์มากว่า 20 ปีแล้ว ค้นพบไดโนเสาร์มาก็หลายชนิด ที่โด่งดังก็คือ สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) บรรพบุรุษของที.เร็กซ์ นั่นเอง
“สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส พบที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เมื่อปี 2536 เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีอายุ 130 ล้านปี จัดอยู่ในวงศ์ไทรันโนซอริเดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แต่มีขนาดยาวประมาณ 6.5 เมตร หรือยาวเพียงครึ่งหนึ่งของที.เร็กซ์เท่านั้น” ดร.วราวุธ อธิบาย ทั้งนี้ นักบรรพชีวินจึงเชื่อกันว่าไดโนเสาร์วงศ์ไทรันโนซอริเดเริ่มวิวัฒนาการขึ้นครั้งแรกในเอเชีย แล้วแพร่สู่ทวีปอเมริกาเหนือผ่านทางช่องแคบแบริง ซึ่งเคยอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก่อนในยุคครีเตเชียส
ดร.วราวุธ ยังบอกด้วยว่าขณะนี้ฟอสซิลไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทย และวิจัยแล้วพบว่าเป็นชนิดใหม่ถึง 5 ชนิด ยังมีอีกกว่า 10 ชนิดที่อยู่ระหว่างการวิจัย และน่าจะพบชนิดใหม่อีกด้วย โดยแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ เป็นต้น จึงมีการนำคำว่า “อีสาน” มาตั้งเป็นชื่อไดโนเสาร์ด้วย
ไม่เพียงค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อที่เก่าแก่สุดแล้ว ประเทศไทยยังพบฟอสซิลไดโนเสาร์กินพืชที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย พันธุ์อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus attaviphachi) พบที่ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เมื่อปี 2541 เป็นไดโนเสาร์กินพืชคอยาว อายุราว 210 ล้านปี มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย
นอกจากนี้ยังมีไดโนเสาร์อีกมากมายที่ค้นพบในไทย ใครที่สนใจใคร่รู้ก็แวะเวียนไปเปิดหูเปิดตากันได้ที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จ.ขอนแก่น หรือจะเป็นพิพิธภัณฑ์สิรินธร (พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว) จ.กาฬสินธุ์ แต่ถ้ามีวันหยุดเพียงน้อยนิดก็อาจจะเริ่มต้นที่พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา ถ.พระราม 6 เยื้องกับโรงพยาบาลรามาธิบดีนี่เอง
เปิดจินตนาการสู่โลกล้านปี
ตอนนี้คงต้องเรียกน้ำย่อยกันก่อนกับ “ไดโนเสาร์เอ็กซ์โป ที.เร็กซ์ “ซู” & ไดโนเสาร์ไทย” ที่จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพราะจะได้ตื่นตาและจินตนาการถึงโลกล้านปีไปพร้อมๆ กับซู ที.เร็กซ์ จากฝั่งอเมริกาที่มาโชว์ตัวในไทย หลังจากที่เดินสายมาแล้วหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งนิทรรศการและวีดิทัศน์การค้นพบ การวิจัยฟอสซิลของซู
นอกจากนี้ มีนิทรรศการการวิจัยไดโนเสาร์ในประเทศไทย ตัวอย่างฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดต่างๆ หุ่นจำลองไดโนเสาร์และบรรยากาศจำลองโลกล้านปี เป็นต้น และยังมีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ฝึกประสบการณ์ด้วย เมื่อชมงานไดโนเสาร์เอ็กซ์โปจนทั่วแล้วก็อาจแวะเวียนไปชมนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์กันเพื่อเติมความรู้กันต่อได้
งานนี้ไม่เพียงแต่ให้ความรู้และเติมเต็มจินตนาการของผู้เข้าชมอายุเยาว์แล้ว ยังส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาแห่งความอบอุ่นร่วมกันด้วย อย่างเช่น น้องมัสแตง ดช. ปวริศร์ พรรณพลีวรรณ วัย 5 ขวบ ที่มาพร้อมกับคุณแม่และคุณน้า กำลังเพลินอยู่กับกิจกรรมขุดหาฟอสซิลไดโนเสาร์ น้องมัสแตง บอกว่าชอบไดโนเสาร์อยู่แล้วและเคยดูสารคดีเกี่ยวกับไดโนเสาร์หลายครั้ง ชอบไดโนเสาร์กินพืชคอยาวมากที่สุด ตอนแรกที่เห็นโครงกระดูกที.เร็กซ์ ก็รู้สึกตื่นเต้นจนขนลุก เพราะตอนมีชีวิตอยู่ ที.เร็กซ์ ต้องตัวใหญ่ ดุร้าย และน่ากลัวมากด้วย
ส่วนณัฐยา พรรณพลีวรรณ คุณแม่ของน้องมัสแตง กล่าวว่า อยากให้มีการจัดงานในลักษณะนี้บ่อยๆ เพราะเด็กๆจะได้รับความรู้ มีจินตนาการเปิดกว้าง และหากยิ่งมีกิจกรรมที่ให้เด็กๆ ได้ทำร่วมกัน เด็กจะได้เรียนรู้และรู้จักเพื่อนใหม่ไปพร้อมกัน เพราะเด็กสมัยนี้มักใช้เวลาว่างอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์คนเดียว และที่สำคัญ กิจกรรมที่ดีก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่ดีด้วย โดยส่วนตัวแล้วคิดว่างานนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ไม่มากเท่าที่ควร ทำให้หลายคนอาจพลาดโอกาสมาร่วมชมนิทรรศการดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
ใครที่รู้ข่าว “ไดโนเสาร์เอ็กซ์โป ที.เร็กซ์ “ซู” & ไดโนเสาร์ไทย” แล้วและไม่อยากกลายเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี ก็รีบไปชมกันได้เลยตั้งแต่ตอนนี้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ แล้วอาจจะเผลอนึกว่าตัวเองคือ ลาร์รี่ ดาลี่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่กำลังอลหม่านและวิ่งหนีการตามล่าของโครงกระดูกล้านปี ที.เร็กซ์!