แอลเอไทม์/เอ็มเอสเอ็นบีซี/เอเยนซี-นักวิทยาศาสตร์คาดซากแมมมอธน้อยอายุกว่า 40,000 ปีจะช่วยศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกในยุคน้ำแข็งได้ และซากที่สมบูรณ์ยังเป็นโอกาสในการจัดทำแผนที่พันธุกรรมสัตว์โบราณอีกด้วย
ซากลูกมอมมอธอายุกว่า 40,000 ปีซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ใต้ธารน้ำแข็งที่ไซบีเรียตอนเหนือถูกค้นพบตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมาโดยคนเลี้ยงกวางเรนเดียร์ชาวเมืองซาเลฮาร์ดของรัสเซีย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าซากสิ่งมีชีวิตโบราณนี้จะช่วยในการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ทั้งยังเป็นโอกาสดีที่จะพวกเขาจะรวบรวมแผนที่พันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ที่สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง
ซากสีน้ำตาลขนาด 4 ฟุตซึ่งอยู่ในสภาพดีที่สุดเท่าที่เคยพบมานี้เป็นซากของแมมอธเพศเมียอายุ 6 เดือนที่มีทั้งงวง และดวงตาอย่างครบถ้วน รวมทั้งยังคงหลงเหลือขนบางส่วน แม้ว่าหางและใบหูส่วนหนึ่งจะมีร่องรอยของการกัดออกไปก็ตาม และมีน้ำหนักประมาณ 110 ปอนด์ ซึ่งเป็นขนาดพอๆ กับสุนัขขนาดใหญ่เลยทีเดียว
แมมมอธน้อยนี้ได้ชื่อว่า "ลิวบา" (Lyuba) ตามชื่อภรรยาของยูริ คุดิ (Yuri Khudi) ผู้พบซากดังกล่าว และหลังจากการค้นพบ "มัมมี่" โดยธรรมชาตินี้ก็ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่สถาบันสัตววิทยาแห่งสภาวิทยาศาสตร์รัสเซีย (Russian Academy of Sciences’ Zoological Institute)
"ช่างเป็นลูกแมมอธน้อยที่น่ารักจริงๆ พบในสภาพที่สมบูรณ์แบบ ซากตัวอย่างนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งเดียวที่ช่วยให้เราถอดรหัสพันธุกรรมคร่าวๆ ของแมมมอธได้" อเลกไซ ทิโกนอฟ (Alexei Tikhonov) รองผู้อำนวยการสถาบันสัตววิทยาแห่งสภาวิทยาศาสตร์รัสเซียกล่าว
"แมมมอธก็เป็นสัตว์อย่างที่คุณเห็นนี่แหละ และคุณก็ทราบว่ามียุคที่เกิดหลังพวกมันอย่างแท้จริงซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานเมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เราต้องใช้ความรู้ที่เราได้จากพวกเขา (แมมมอธ)" ทิโกนอฟกล่าว
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแมมมอธอาศัยอยู่บนโลกในช่วง 4.8 ล้านปีถึงประมาณ 4,000 ปีที่ผ่านมา และจากการศึกษาทำให้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหรือการไล่ล่าเกินพอดีของมนุษย์อาจเป็นสาเหตุให้ช้างโบราณนี้สูญพันธุ์
ลิวบาถูกแช่แข็งอยู่นานกว่า 40,000 ปี ซึ่งขณะคุดิพบซากของเธอที่บางส่วนของร่างปกคลุมไปด้วยหิมะที่เปียกชื้น เขานึกว่าเป็นกวางเรนเดียร์ที่ตายแล้ว แต่เมื่อทราบว่านั่นคือแมมมอธ นักวิทยาศาสตร์ก็ถูกตามตัวเพื่อไปเคลื่อนย้ายซากแมมมอธน้อยซึ่งปัจจุบันถูกเก็บไว้ในตู้แช่แบบพิเศษ
ทางด้านทิโกนอฟไม่แนะนำให้โคลนแมมมอธนี้ไว้ เนื่องจากการโคลนนิงจะทำได้ก็ต่อเมื่อองค์ประกอบภายในเซลล์อยู่ครบสมบูรณ์ หากแต่การแช่แข็งจะเป็นสาเหตุให้เซลล์แตกสลาย
การเดินทางขั้นต่อไปของซากแมมมอธลิวบาคือการไปประจำอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สัตววิทยาในเมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก และเธอจะได้ไปอยู่ร่วมกับซากแมมมอธเพศผู้อีกตัวที่ชื่อ "ดิมา" (Dima) ซึ่งเป็นตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ที่รู้จักกันดีที่สุดในรัสเซียและได้รับการค้นพบในเมืองมากาดานทางตะวันออกไกลของรัสเซียเมื่อปี 2520
"พวกเขาจะเป็นคู่ที่ดีมากๆ เพราะทั้งคู่มีอายุราว 40,000 พอๆ กัน" ทิโกนอฟให้ความเห็น
จากเซนต์ปิเตอร์เบิร์กลิวบายังต้องมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยจิเคอิ (Jikei University) ในญี่ปุ่นเพื่อรับการวิเคราะห์การทำแผนที่ 3 มิติด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับร่างกายของเธอ และกลับมารับการผ่าชันสูตรซากที่เซนต์ปิเตอร์เบิร์กอีกครั้ง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำซากเธอกลับไปแสดงที่เมืองซาเลฮาร์ดของรัสเซีย
คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพ "ซากแมมมอธ" เพิ่มเติม
