xs
xsm
sm
md
lg

แจง "ปฏิกรณ์วิจัย" เสี่ยงกว่า "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" เหตุคนเข้า-ออกเยอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แจง "ปฏิกรณ์วิจัย" เสี่ยงกว่า "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" เหตุคนเข้า-ออกเยอะแล้วเข้าถึงตัวเครื่องปฏิกรณ์ หากแต่ความรุนแรงของอุบัติเหตุน้อยกว่าเครื่องปฏิกรณ์กำลังในโรงไฟฟ้า ระบุพลังงานนิวเคลียร์มีระบบควบคุมความปลอดภัยทั้งทางเทคโนโลยีและการจัดการ แต่หากมีการคอรัปชันระหว่างก่อสร้างจริงเชื่อความปลอดภัยยังคงอยู่เพียงแต่ได้สินค้าที่แพงขึ้นเท่านั้น และหากไม่ได้มาตรฐานจริงย่อมถูกไอเออีเอระงับสร้าง

จากแนวโน้มที่ไทยอาจจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในปี 2563 ตามการคาดการณ์ในแผนพัฒนาพลังงาน (พีดีพี) ปี 2550-2564 ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์-วิจารณ์และวิตกกังวลถึงความปลอดภัยต่อการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้กับประเทศ ทั้งนี้นางวราภรณ์ วัชรสุรกุล วิศวกรนิวเคลียร์ สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ให้ความเห็นว่า พลังงานนิวเคลียร์ถูกนำไปใช้ในด้านไม่ดีมาก่อน ดังนั้นเมื่อมีนำมาใช้ในทางสันติจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ

"การใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องมีความตระหนัก เพราะนิวเคลียร์เคยถูกใช้ในทางไม่ดี และการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องมองทั้งวัฏจักรของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ตั้งแต่กระบวนการทำเหมืองแร่ยูเรเนียมจนถึงกระบวนการกำจัดกากนิวเคลียร์หลังใช้งานแล้ว" นางวราภรณ์กล่าว

สำหรับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น นางวราภรณ์ได้แจงไว้ 2 มุมมองคือด้านเทคโนโลยีและด้านการบริหารจัดการ โดยในด้านเทคโนโลยีนั้นจะมีแท่งควบคุมในแกนเครื่องปฏิกรณ์เพื่อควบคุมการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันของธาตุยูเรเนียม (ซึ่งจะแตกตัวเป็นธาตุใหม่และได้นิวตรอนพร้อมความร้อนออกมา โดยนิวตรอนที่ออกมานั้นจะทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิชชันกับอะตอมยูเรเนียมอื่นกลายเป็นปฏิกิริยาต่อเนื่องเป็นลูกโซ่) โดยความเข้มข้นของยูเรเนียมในแท่งเชื้อเพลิงมีเพียง 2-4 % จึงไม่เกิดปฏิกิริยาได้เองเหมือนระเบิดนิวเคลียร์ที่มีความเข้มข้นของยูเรเนียมมากกว่า 90% และการออกแบบเม็ดเชื้อเพลิงจะควบคุมไม่ให้เกิดปฏิกิริยาได้เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง และตัวถังของแกนเครื่องปฏิกรณ์ยังออกแบบให้ทนต่อความดันในระดับที่ทนต่อเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดได้ ส่วนอาคารเครื่องปฏิกรณ์ต้องออกแบบให้ทนต่อการก่อวินาศกรรม สงคราม และรับแรงกระแทกจากกรณีเครื่องบินตกได้

ส่วนการบริหารจัดการนั้นจะมีการกำกับดูแลความปลอดภัยที่จะเป็นหลักประกันได้ โดยในบทบาท ปส.นั้นจะต้องกำกับดูแลความปลอดภัยตั้งแต่การพิจารณาสถานที่ตั้งอันเหมาะสม การออกแบบ การก่อสร้าง การติดตั้งทดสอบ ตลอดจนการรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ขณะเดียวกันนางวราภรณ์ก็ได้ให้ความเชื่อมั่นถึงความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์โดยยกกรณีการทำงานของเจ้าที่ ปส.ซึ่งทำงานทางด้านรังสีมานับ 40 ปีแล้วก็ไม่มีใครที่ได้รับอันตรายจากรังสีหรือได้รับปริมาณรังสีเกินมาตรฐานแต่อย่างใด โดยการปฏิบัติตามหลักการป้องกันอันตรายจากรังสีคือ 1.ใช้เวลาอยู่กับรังสีให้น้อยที่สุด (minimizing time) 2.อยู่ห่างจากรังสีให้มากที่สุด (maximizing the distance) และ 3. มีเครื่องกำบังรังสีที่เหมาะกับรังสีนั้นๆ (shieding)

อย่างไรก็ดีแม้จะมีเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้แต่ปัญหาเรื่องการคอรัปชันยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนหวั่นใจต่อความปลอดภัยหากไทยจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และจากกรณีรันเวย์ร้าวที่สนามบินสุวรรณภูมิก็เป็นตัวอย่างที่หลายคนวิตก แต่นายลภชัย ศิริภิรมย์ วิศวกรนิวเคลียร์ สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ปส.กล่าวว่า หากมีการคอรัปชันจริงคงไม่ทำให้มาตรฐานความปลอดภัยลดลงแต่เราจะซื้อของที่แพงขึ้นเท่านั้น อีกทั้งหากเกิดอุบัติเหตุกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบแค่ในประเทศเท่านั้น หากแต่ส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ที่อยู่รอบข้างด้วย ประชาคมโลกจึงไม่ยอมให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานเด็ดขาด โดยมีทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) เป็นตัวกลางที่คอบควบคุม

"หากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานจริง ไอเออีเอก็อาจจะหยุดไม่ให้มีการก่อสร้าง (โรงไฟฟ้า) ได้" นางวราภรณ์เสริม

อีกประเด็นซึ่งยังเป็นกังขาคือกรณีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์หรือปัจจุบันคือสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ที่ยังไม่สามารถดำเนินการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ปรมณูวิจัยได้ ทั้งที่มีขนาดเล็กกว่าเครื่องปฏิกรณ์กำลังในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายเท่านั้น นายลภชัยชี้แจงว่า แท้จริงแล้วโอกาสเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องปฏิกรณ์วิจัยมีมากกว่าเครื่องปฏิกรณ์กำลัง เนื่องจากคนต้องเข้าไปทำวิจัยโดยเข้าถึงภายในเครื่องปฏิกรณ์ หากแต่เครื่องปฏิกรณ์กำลังจะเป็นระบบปิดที่คนไม่สามารถเข้าไปได้หากเดินเครื่อง

"เพราะคนต้องเข้าไปทำวิจัย เข้าไปใกล้เครื่องปฏิกรณ์ จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าเครื่องปฏิกรณ์กำลังแต่ก็มีความรุนแรงน้อยกว่า ขณะที่เครื่องปฏิกรณ์กำลังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้น้อยกว่า แต่ถ้าเกิดแล้วก็มีความรุนแรงมากกว่า" นายลภชัยกล่าวเปรียบเทียบความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์ร์วิจัยกับเครื่องปฏิกรณ์กำลังที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของฝรั่งเศสซึ่งระบายความร้อนลงทะเล

กำลังโหลดความคิดเห็น