บีบีซีนิวส์ – เมืองเบียร์พบแผ่นจานสำริดโบราณตกอยู่ในมือโจรล่าสมบัติ แต่สุดท้ายตำรวจก็ยึดคืนมาได้ นักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีต่างถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปกันมาเกือบ 10 ปี ว่าที่แท้แผ่นทองสำริดนั้นคืออะไรกันแน่ และเป็นของโบราณแน่แท้หรือของใหม่แต่ทำให้ดูเก่า
นักวิชาการเยอรมันรายงานผลการศึกษาแผ่นจานปริศนาที่พบตั้งแต่เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ลงในวารสารแอนทิควิตี (Antiquity) ของอังกฤษ โดยเชื่อว่าแผ่นจานดังกล่าวน่าจะเป็นปฏิทินยุคสำริดอายุ 3,600 ปี และเป็นปฏิทินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งคนในสมัยโบราณใช้เป็นเครื่องมือสังเกตท้องฟ้าเพื่อคำนวณวันเดือนปีต่างๆ โดยเฉพาะฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม แต่ยังมีนักวิชาการบางคนไม่เห็นด้วยและแย้งว่านั่นเป็นของปลอม
เมื่อปี 2542 เจ้าหน้าที่ตำรวจพบแผ่นจานปริศนาที่คาดว่าเป็นของเก่าแก่ยุคโบราณอยู่ในครอบครองของ 2 นักล่าสมบัติอย่างไม่ชอบมาพากล บริเวณใกล้กับเมืองเนบรา (Nebra) เยอรมนี แต่คนร้ายพยายามหลบหนีการจับกุม กระทั่งไปจนมุมตำรวจที่เมืองบาเซล (Basel) สวิตเซอร์แลนด์ โดยคนร้ายรับสารภาพว่าพบแผ่นจานนี้บนยอดเขามิตเทลเบิร์ก (Mittelberg) ในรัฐแซกโซนี-อันฮัลต์ (Saxony-Anhalt) ของเยอรมนี
เอมิเลีย ปาสซ์ตอร์ (Emilia Pasztor) นักโบราณคดีของพิพิธภัณฑ์แมทริกา (Matrica Museum) ประเทศฮังการี และ เคิร์ท รอสลุนด์ (Curt Roslund) นักดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก (Gothenburg University) ในสวีเดน ผู้ศึกษาวิเคราะห์วัตถุชิ้นนี้เปิดเผยว่า แผ่นจานมีลักษณะเป็นแผ่นกลมแบน ทำจากทองสำริด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 32 ซม. และตกแต่งด้วยสีทองที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว มีอายุราว 1,800 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งอยู่ในยุคสำริด (Bronze Age) ที่มนุษย์รู้จักนำเอาทองแดงและดีบุกมาหลอมรวมกันเป็นสำริด เพื่อประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ
จากการตรวจสอบ นักโบราณคดีเชื่อว่าแผ่นสำริดนี้เป็นปฏิทินที่ใช้บอกวันเวลาได้อย่างแม่นยำของคนในสมัยนั้น ตรงบริเวณขอบมีแถบโค้งสีทองอยู่ 2 แถบ วัดความยาวเป็นมุมได้ 82.5 องศา น่าจะเป็นแถบที่ใช้วัดแนวการโคจรของดวงอาทิตย์ในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์จะอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรเป็นระยะทางไม่เท่ากัน
“เป็นคำถามที่ตอบยากมาก ผมไม่สามารถหาหลักฐานอื่นๆ ได้อีกเลย แต่ผมก็ไม่คิดว่าแผ่นจานนี้จะเป็นเครื่องมือที่ใช้สังเกตวัตถุบนฟากฟ้า” รอสลุนด์ กล่าว ทั้งให้เหตผลเพิ่มเติมว่า สัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นจานไม่กี่รูปและเป็นเครื่องหมายของสิ่งที่สูงส่งในสมัยโบราณ อาจเป็นได้ว่าแผ่นจานนี้ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา
ด้านศาสตราจารย์โวล์ฟฮาร์ด ชโลสเซอร์ (Professor Wolfhard Schlosser) จากมหาวิทยาลัยโบคุม (University of Bochum) ในเยอรมนี มุ่งความสนใจไปที่แถบสีทองยาวเป็นมุม 82.5 อาศานั้น และระบุว่าสอดคล้องกับการโคจรของดวงอาทิตย์ที่ละติจูดจำเพาะเจาะจงในเมืองเนบราอีกด้วย ฉะนั้นสิ่งนี้น่าจะเป็นเครื่องมือคำนวณปฏิทินของชาวยุโรปในยุคสำริด
ขณะเดียวกัน เอิรนสท์ เปอร์นิเค (Ernst Pernicke) นักวิชาการของมหาวิทยาลัยทูบิงเกน (University of Tuebingen) ก็ออกมายืนยันว่า แผ่นจานดังกล่าวเป็นปฏิทินโบราณอย่างแน่นอน ส่วนราล์ฟ ฮานเซน (Ralph Hansen) นักโบราณคดี มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก (University of Hamburg) อ้างถึงหลักในการคำนวณปฏิทินที่กล่าวไว้ในตำราของชาวบาบิโลเนียสมัยโบราณว่า จะเพิ่มเดือนที่ 13 เข้าไปในจันทรคติเมื่อสังเกตเห็นดวงจันทร์อยู่ตรงกับที่ปรากฏในแผ่นจาน ซึ่งมีจุดกลมสีทองแสดงดวงดาวอยู่ 32 จุด และสัญลักษณ์ของดวงจันทร์อีก 1 เสี้ยว ที่น่าสนใจคือ 33 ปีจันทรคติ เท่ากับ 32 ปีสุริยคติ
“ปฏิทินนี้จะบอกได้ว่าเมื่อไหร่ควรเริ่มเพาะปลูก เมื่อไหร่ถึงจะเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งการใช้ปฏิทินแบบจันทรคติจะดีกว่าหากนับเวลาในช่วงสั้นๆ แต่หมายความว่าฤดูกาลจะคลาดเคลื่อนไปในแต่ละปี และจะใช้ไม่ได้ในสังคมที่ทำการเกษตร เพราะต้องอาศัยแสงแดดช่วยให้พืชผลงอกงาม ฉะนั้นสามารถใช้ปฏิทินจันทรคติได้ในชีวิตประจำวัน และใช้ปฏิทินสุริยคติคำนวณฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว” เปอร์นิเค อธิบาย ซึ่งแผ่นจานนี้น่าจะใช้เป็นปฏิทินได้ทั้ง 2 แบบ
อย่างไรก็ดี เพเตอร์ เชาเออร์ (Peter Schauer) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเรเกนเบิร์ก (University of Regensburg) แย้งว่าแผ่นสำริดที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นปฏิทินยุคโบราณนั้น เป็นของปลอมที่ทำขึ้นมาให้มันดูเหมือนของเก่าเท่านั้นเอง ไม่ใช่วัตถุโบร่ำโบราณแต่อย่างใด และนักโบราณคดีก็ไม่ยอมชี้ชัดว่ามันเป็นของปลอมทั้งที่หาหลักฐานอื่นมาสนับสนุนไม่ได้
“คุณลองปัสสาวะใส่แผ่นสำริดสักชิ้นดูสิ แล้วเอาไปฝังใต้พื้นดินสัก 2-3 สัปดาห์ แค่นี้คุณก็จะได้แผ่นจานที่ดูเหมือนแผ่นจานเจ้าปัญหานั้นแล้ว” เชาเออร์ แนะวิธีทำแผ่นสำริดให้ดูเป็นของเก่า
ทั้งนี้ ที่นักโบราณคดีไม่เชื่อว่าแผ่นจานสำริดนี้เป็นของปลอมแม้ว่าจะไม่มีเอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับแผ่นจานดังกล่าว แต่จากการพิสูจน์แร่ทองแดงในแผ่นจาน พบว่าเป็นทองแดงที่มาจากแถบเทือกเขาแอลป์ (Alps) ซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองแดงที่สำคัญในสมัยยุคสำริด ส่วนทองคำที่เป็นองค์ประกอบ ก็พบว่ามาจากบริเวณเทือกเขาคาร์ปาเธียน (Carpathian) เหมืองทองคำสำคัญในยุคเดียวกัน
นอกจากนี้ การสึกกร่อนของผลึกแร่มาลาไคท์ (malachite) บนแผ่นจานยังบ่งบอกได้ว่านี่เป็นของเก่า ซึ่งไม่เหมือนกับการสึกกร่อนที่ถูกกัดกร่อนด้วยทองแดงในการทำของเทียม และจากการวิเคราะห์ลักษณะของอาวุธที่พบบริเวณเดียวกัน พร้อมทั้งได้ตรวจวัดอายุจากกัมมันตภาพรังสีของคาร์บอน (radiocarbon dates) ที่ด้ามอาวุธซึ่งทำจากไม้ พบว่าเป็นอาวุธที่ทำขึ้นในยุคสำริดจริง จึงน่าเชื่อว่าแผ่นจานดังกล่าวเป็นสิ่งประดิษฐ์ในยุคเดียวกัน