xs
xsm
sm
md
lg

จีเอ็มโอทำได้! มะเขือเทศกลิ่นกุหลาบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/ฟูดเนวิเกเตอร์.คอม – มะเขือเทศกลิ่นเลมอน มะเขือเทศกลิ่นกุหลาบ ฟังดูแล้วอย่างกับในนิทาน และไม่ใช่เรื่องโกหกอีกต่อไปเมื่อนักวิทยาศาสตร์ดัดแปลงพันธุกรรมมะเขือเทศให้มีกลิ่นที่หลากหลายและรสชาติแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร

คณะนักวิจัยของศูนย์วิจัยนิวยาอาร์ (Newe Yaar Research Centre) เมืองนิวยาอาร์ ประเทศอิสราเอล รายงานในวารสารเนเจอร์ไบโอเทคโนโลยี (Nature Biotechnology) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า พวกเขาสามารถดัดแปลงพันธุกรรมทำให้มะเขือเทศมีกลิ่นหอมของดอกไม้หรือผลไม้ได้ และหวังว่าจะมีการผลิตออกสู่ตลาดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคได้

เอฟราอิม เลวินซอห์น (Efraim Lewinsohn) หัวหน้าทีมวิจัยเปิดเผยว่า พวกเขาได้นำเอายีนที่ใช้สร้างเอ็นไซม์เจอรานิออลซินเทส (geraniol synthase) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่ทำให้เกิดกลิ่นในใบโหระพา (Ocimum basilicum) มาตัดต่อใส่ในยีนของมะเขือเทศเพื่อให้ได้มะเขือเทศที่มีกลิ่นต่างไปจากเดิม

จากการทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 82 คนให้ทดลองชิมมะเขือเทศจีเอ็มโอเปรียบเทียบกับมะเขือเทศธรรมดาคนละ 1 ชุด แล้วให้บันทึกว่ากลิ่นใหม่ที่ต่างไปจากเดิมเป็นอย่างไร บางคนบอกว่าเป็นกลิ่นน้ำหอม บ้างก็ว่าเป็นกลิ่นกุหลาบ กลิ่นเจอเรเนียม กลิ่นเลมอน หรือแม้แต่กลิ่นตะไคร้ก็ยังมี โดยผู้เข้ารับการทดสอบ 49 คนพึงพอใจกับกลิ่นและรสชาติของมะเขือเทศจีเอ็มโอที่ให้กลิ่นหอมหลากหลาย ขณะที่ 29 คน ชอบมะเขือเทศที่ไม่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมมากกว่า และอีก 4 คนที่เหลือไม่แสดงความเห็น

มะเขือเทศจีเอ็มโอที่ให้กลิ่มหอมของพืชพันธุ์นานาชนิดนี้จะมีสีแดงสว่างหรือสีแดงเข้มน้อยลงจากมะเขือเทศปกติ ทั้งนี้เพราะการดัดแปลงพันธุกรรมนี้มีผลให้มะเขือเทศจีเอ็มโอสร้างสารไลโคพีน (lycopene) ลดลงถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณไลโคพีนในมะเขือเทศทั่วไป แต่ไปเพิ่มการสร้างสารเทอร์พีนอยด์ (terpenoid) มากขึ้น ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมระเหย

ไลโคพีนเป็นรงควัตถุหรือสารที่ทำให้เกิดสีแดงในมะเขือเทศ และเป็นอนุพันธ์ของแคโรทีนอยด์ (carotenoid) รงควัตถุที่ทำให้เกิดสีเหลืองหรือส้มในผักและผลไม้ต่างๆ ทั้งไลโคพีนและแคโรทีนอยด์มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) เพราะโครงสร้างทางเคมีประกอบด้วยพันธะคู่จำนวนมากทำให้สามารถจับกับอนุมูลอิสระได้โดยง่าย ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและโรคหัวใจอันเนื่องมาจากคลอเรสเตอรอลในหลอดเลือดสูง

เลวินซอห์น ยืนยันว่าแม้มะเขือเทศจีเอ็มโอจะมีปริมาณไลโคพีนลดลง แต่ถูกทดแทนด้วยสารเทอพีนอยด์ที่สูงขึ้น ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และแมลงศัตรูพืช ทำให้ลดใช้สารเคมีระหว่างเพาะปลูกได้ ทั้งยังช่วยยืดอายุหลังเก็บเกี่ยวได้ด้วย

“ผักผลไม้อื่นๆที่การสร้างสารในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ก็สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ในการปรับปรุงกลิ่นและรสชาติได้เหมือนกัน” เลวินซอห์น กล่าว ทั้งยังหวังว่ามะเขือเทศจีเอ็มโอเหล่านี้หรือพืชอื่นที่มีการดัดแปลงในทำนองเดียวกันจะสามารถเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ววัน

นอกจากนี้ อิสราเอลยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกมะเขือเทศชั้นเลิศที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สถาบันวิจัยและบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านอาหารต่างก็กระตือรือร้นทำงานวิจัยเพื่อหาวิธีปรับปรุงคุณสมบัติของพันธุ์พืชให้มีวามเหมาะสมตามต้องการ แต่ในหลายประเทศโดยเฉพาะยุโรปยังไม่ไว้วางใจผลกระทบของอาหารดัดแปลงพันธุกรรมต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี มะเขือเทศดัดแปลงพันธุกรรมชนิดแรกที่ถูกตัดต่อยีนทำให้ชะลอการสุกช้าลงได้และยืดอายุให้เก็บได้นานขึ้น หรือที่รู้จักกันดีในชื่อฟลาวร์เซฟ (FlavrSavr) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัทคาลยีน (Calgene) ในแคลิฟอร์เนีย และเริ่มวางจำหน่ายในสหรัฐฯครั้งแรกเมื่อปี 1994 แต่สุดท้ายก็ต้องเก็บกลับคืนไปภายในไม่กี่ปีเพราะขายไม่ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น