คนอังกฤษเรียกมันสำปะหลังว่า cassava หรือ tapioca คนฝรั่งเศสเรียก manioc และคนไทยเรียกมันไม้ มันสำโรง หรือมันสำปะโรงบ้าง แม้จะมีชื่อต่างกันแต่ชาวโลกก็รู้ว่า มันสำปะหลังเป็นพืชโภชนาการ และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากชนิดหนึ่งที่ผู้คนในแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชีย อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทย ปลูกกันมากถึง 2/3 เพื่อบริโภคโดยตรง และ 1/3 ที่เหลือใช้เลี้ยงสัตว์ โดยประเทศที่ผลิตมากเป็น 5 อันดับแรก คือ ไนจีเรีย บราซิล ไทย คองโก และอินโดนีเซีย
สำหรับประเทศไทยนั้น ปลูกมันสำปะหลังมากเป็นอันดับ 4 รองจากข้าว ข้าวโพด ยางพารา ในพื้นที่ 6.2 ล้านไร่ ซึ่งให้ผลผลิตในปี 2547 มากถึง 20.6 ล้านต้น สถิติการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกมากที่สุดถึง 55% ของพื้นที่ปลูก รองลงมา คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคเหนือ ตามลำดับ
มันสำปะหลัง (Manihot esculenta) เป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceal ที่ทนแล้ง ชอบขึ้นใน ดินร่วนปนทราย และเติบโตในบรรยากาศที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 10 - 35 องศาเซลเซียส และถ้าจะให้ดีอุณหภูมิก็ต้องสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส แต่ในเขตหนาว หรืออบอุ่นต้นจะไม่ขึ้น ถึงชาวไร่จะสามารถปลูกมันสำปะหลังได้ตลอดปี แต่ส่วนใหญ่นิยมปลูกในต้นฤดูฝน และส่วนน้อยปลูกในปลายฤดูฝน สำหรับพื้นที่ปลูกควรเป็นที่ดอน เพราะน้ำจะไม่ได้ท่วมขัง และดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนปนทราย แต่ถึงจะเป็นดินชนิดอื่นมันก็สามารถขึ้นได้ เพราะมันมีความสามารถในการปรับตัวและทนแล้งได้ดี
เวลาปลูกชาวไร่จะพรวนดินลึก 20 - 30 เซนติเมตร แล้วเตรียมท่อนพันธุ์ โดยนำลำต้นที่มีอายุกว่า 8 เดือน มาตัดเป็นท่อนยาว 15 - 20 เซนติเมตร โดยแต่ละท่อนมีตา 2 - 3 ตา แล้วปักชำในถุงพลาสติกก่อนย้ายไปปลูกในแปลง เวลาปลูกเขาจะปักแบบวางนอนให้ห่างกัน โดยประมาณว่าพื้นที่ 1 ไร่ มีต้นมันสำปะหลังได้ประมาณ 1,600 ต้น
เมื่อโตเต็มที่ ต้นจะมี 5 - 20 หัว บางชนิดหัวยาว บางชนิดหัวกลมป้อมสั้น ภายในมีแป้งสะสม 10 - 30% เนื้อมีสีขาว ครีม หรือเหลือง ลำต้นเป็นไม้พุ่มที่สูง 1-5 เมตร มีสีเทา เงิน เหลือง น้ำตาล ยอดมีสีแดงปนม่วง ใบเขียวเป็นชนิดเดียว มีแฉกเว้าลึก 3 - 9 แฉก มีดอกตัวผู้และตัวเมียแยกกัน แต่อยู่ในช่อเดียวกัน ตามปกติดอกจะบานไม่พร้อมกัน โดยดอกตัวเมียมักบานก่อน ผลเป็นชนิดเดี่ยวที่มีเมล็ด 3 เมล็ดใน 1 ผล
แมลงศัตรูของมันสำปะหลัง ได้แก่ เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ไรแดง และแมลงนูนหลวง สำหรับวิธีป้องกันแมลงเหล่านี้ คือ หลีกเลี่ยงการปลูกหน้าแล้ง เพราะแมลงจะเข้าทำลายต้นอ่อนและใช้วิธีเก็บส่วนของต้นที่ถูกแมลงทำลายไปเผา หรือไม่ก็ใช้ศัตรูของแมลง เช่น ไก่ นก ให้มากินหนอนของมัน และถ้าไร่มันสำปะหลังถูกศัตรู เช่น เพลี้ยหรือแมลงหวี่บุกรุก ชาวไร่มักใช้ยา malathion หรือ formatanate ฉีดพ่น
ในการเก็บเกี่ยว ชาวไร่ใช้วิธีขุดหัวด้วยจอบ แล้วใช้มือถอน หรือใช้เครื่องทุ่นแรง มันสำปะหลังมีประโยชน์สารพัด เช่น ทำแป้ง ใช้บริโภคในครัว ทำเม็ดสาคู ขนมอบ ทำสารให้ความข้นหนืดในการผลิตซอส ปรับปรุงเนื้อเส้นกวยเตี๋ยว บะหมี่ ข้าวเกรียบ เม็ดสาคู เยลลี่ ลูกกวาด เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มโดยการเป็นสารให้ความหวาน น้ำเชื่อม แอลกอฮอล์ ยา และเครื่องสำอาง ใช้ทำสารยึดเกาะที่มีความหนืด เพิ่มความคงตัวในโลชั่น ผงชูรสและกรดมะนาว
นอกจากนี้ มันสำปะหลังยังสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย โดยนำมาอัดเป็นเม็ดให้ปลา กุ้ง และตะพาบกิน เหง้าของมันใช้เผาเป็นถ่าน กากแป้งมันใช้อัดแท่งทำเชื้อเพลิง และทำปุ๋ยหมัก
ในด้านอุตสาหกรรม นิยมใช้มันสำปะหลังในการทำกระดาษ สิ่งทอ กาว ไม้อัด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกระดาษนั้นนิยมนำน้ำที่มีเส้นใย cellulose มากรองผ่านตะแกรงก่อนแล้วจึงเติมสารช่วยยึดเกาะเพื่ออุดช่องว่างในเนื้อกระดาษ ทำให้กระดาษมีความหนาแน่นมาก และมีความพรุนน้อย และเวลาเคลือบผิวกระดาษ เขาจะใช้สารที่มีแป้งมันสำปะหลังปนเพื่อทำให้กระดาษเรียบ มันวาว ขาว และแข็งแรง
อุตสาหกรรมสิ่งทอก็นิยมใช้แป้งมันเคลือบเส้นด้ายให้ทนต่อแรงดึง ซึ่งจะทำให้เส้นด้ายไม่ขาด จึงมีผลทำให้ผ้าที่ทอมีคุณภาพสูง แล้วเพิ่มคุณสมบัติของผ้าที่ทอด้วยการย้อมสี ลงลายพิมพ์ผ้า ในส่วนของอุตสาหกรรมกาว มีการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทำกล่องกระดาษ และกระดาษกาว
แม้แต่ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง ก็ใช้มันสำปะหลังในการทำชีวมวล และเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน เช่น ทำ biogas ที่ได้จากน้ำเสียของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง
อุตสาหกรรมพลาสติก ใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทำ polymer และพลาสติกที่ย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ เป็น renewable biomaterial และ environmentally friendly bioprocess และก็เป็นที่น่าภูมิใจที่ไทยเราสามารถผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากแป้งมันได้มากที่สุดของโลก คือ มากกว่า 2 ล้านตัน/ปี
สำหรับคนแอฟริกันนั้น มีหลายล้านคนที่ใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารหลัก ถึงแม้ทุกส่วนของพืชชนิดนี้จะมีกรด hydrocyanic ที่เป็นพิษต่อมนุษย์ แต่มันสำปะหลังชนิดรสหวานซึ่งตามปกติจะมีสารพิษชนิดนี้น้อย จึงมักนำมาทำขนม ส่วนมันสำปะหลังชนิดขมนั้นมีสารพิษมาก โดยเฉพาะที่ใบอ่อน และเปลือก แต่กรดพิษนี้สลายได้เมื่อถูกความร้อน เช่น เวลานำไปปิ้ง ต้ม นึ่ง หรือเผา ส่วนมันชนิดอื่นก็มี cyanide อยู่บ้างเล็กน้อย ทำให้การบริโภคไม่ปลอดภัย 100% ดังนั้น เราจึงต้องกำจัด cyanide ออกให้หมดก่อน ซึ่งก็อาจทำได้ โดยนำมาบดเป็นแป้งแล้วนำน้ำเดือดมาเติมเพื่อทำเป็นแป้งเหนียว วิธีนี้ลด cyanide ได้ประมาณ 60% ซึ่งอาจปลอดภัยไม่เพียงพอสำหรับเด็กเล็ก ในแอฟริกาทุกปี เด็กนับพันจะล้มป่วยด้วยโรค konzo ซึ่งผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อที่ขาไม่ทำงาน เพราะระดับ cyanide ในตัวเด็กสูงกว่า 45 ppm. ซึ่งสูงกว่า 10 ppm ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
ด้วยเหตุนี้ Howard Bradbury แห่ง Australian National University ที่กรุง Canberra ในประเทศออสเตรเลีย จึงคิดหาเทคนิคกำจัด cyanide อย่างง่าย ๆ และเขาได้รายงานในวารสาร Food Chemistry ฉบับที่ 101 หน้า 894 ปีนี้ว่า เขาได้นำแป้งมันสำปะหลังมาผสมกับน้ำ แล้วรีดเป็นแผ่นหนาประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้น นำมันมาวางในที่ร่มนาน 5 - 6 ชั่วโมง แล้วเขาก็พบว่า การทำเช่นนี้ทำลาย cyanide ในแป้งจนเกือบหมด เพราะ enzyme ที่ผนังเซลล์เข้าทำปฏิกิริยากับ linamarin ที่สร้าง cyanide โดย enzyme จะทำให้ linamarin แตกตัวปล่อย hydrogen cyanide ออกมาซึ่งจะแพร่ซึมหายไปในที่สุด
เพราะประชากรโลก 600 ล้านคน บริโภคมันสำปะหลังทุกวัน ดังนั้น องค์การ FAO (Food and Agriculture Organization) หรือองค์การอาหารและเกษตรขององค์การสหประชาชาติ จึงได้กำหนดให้มันสำปะหลังเป็นพืชชนิดต่อไปที่นักชีววิทยาโมเลกุลจะหารหัสพันธุกรรม (genome) เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ให้สามารถใช้เลี้ยงประชากรโลก 600 ล้านคน/วัน ได้ครับ
สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท