xs
xsm
sm
md
lg

“รถเข็นปรับยืน” สิ่งประดิษฐ์แบบพอเพียงจากรั้วแม่โดม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รถเข็น” เป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นมากสำหรับผู้พิการ โดยเฉพาะผู้ป่วยอัมพาตบางส่วนที่ขยับร่างกายเองได้บ้าง แต่ลุกยืนเพื่อประกอบกิจวัตรไม่ได้ “รถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้โดยไม่ต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้า” ผลงานเพื่อชีวิตที่พอเพียงจากรั้วแม่โดมจึงเป็นผลงานที่น่าสนใจ

ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ ที่ปรึกษาโครงงาน เล่าว่า ผลงานดังกล่าวเป็นการพัฒนาของนักศึกษาภาควิชากรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 2 รุ่นด้วยกัน โดยก่อนหน้านี้รุ่นที่แล้วได้ออกแบบและวางหลักการรถเข็นไว้แล้ว ซึ่งแม้ใช้งานจริงไม่ได้ แต่ก็เพียงพอที่จะคว้ารางวัลจากงานประกวด “วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต” เมื่อปีกลายมาครองได้

ขณะที่นักศึกษารุ่นปัจจุบันที่ต่อยอดชิ้นงานจนเป็นต้นแบบใช้งานจริงและกำลังยื่นจดสิทธิบัตร ประกอบด้วย นายธาริน อรรถจริยา นายณัฐพล กัณหาบัว และนายศุภลักษณ์ โคบุตรี
 
ที่ปรึกษาโครงงาน เผยว่า รถเข็นดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตลุกขึ้นยืนเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง อาทิ ลุกหยิบของ ปิด-เปิดไฟ ทั้งผู้ป่วยอัมพาตตั้งแต่ขาหนีบลงไป ผู้ป่วยอัมพาตตั้งแต่สะดือลงไป และผู้ป่วยอัมพาตตั้งแต่ลิ้นปี่ลงไป โดยทดสอบใช้กับผู้ป่วย 4 รายจากศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพแห่งชาติแล้วได้ผลน่าพอใจ

ปกติ รถเข็นคนพิการที่ปรับยืนได้จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งมีราคาแพงมาก ประมาณ 150,000 – 200,000 บาท มีผู้ผลิตที่ไต้หวัน อเมริกา และยุโรป ซึ่งผู้ป่วยน้อยรายที่จะหาซื้อมาได้ หรือต่อให้ซื้อมือสองก็ยังอยู่ที่ 2 -3 หมื่นบาทต่อคัน ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น นักศึกษาจึงมีความคิดที่จะใช้ความรู้ที่เรียนมาตลอด 3 ปีมาประดิษฐ์รถเข็นปรับยืนขึ้น โดยเป็นต้นแบบที่มีราคาถูก ผู้ป่วยซื้อหาได้” ผศ.ดร.บรรยงค์ เล่า

คุณสมบัติของรถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้โดยไม่ต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้า สามารถช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตลุกยืนด้วยตัวเองอย่างมั่นคง มีที่ล็อคขาและลำตัวทำให้ไม่หกล้ม และไม่ต้องอาศัยมอเตอร์ไฟฟ้าช่วยปรับยืน โดยผู้ป่วยจะใช้กำลังแขนตัวเองปรับยืน
 
ฝ่ายจัดทำคำนวณแล้วว่ารถเข็นดังกล่าวจะสามารถทุ่นแรงยกของผู้ป่วยได้มาก คือออกแรงยกต่อข้างเพียง 8 กก.ก็จะยกตัวผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากกว่า 60 กก.ได้ และหากเป็นผู้ป่วยน้ำหนักมากแต่มีกำลังแขนดีก็ยังสามารถใช้งานได้ ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่ปรับยืนเองไม่ได้เพราะไม่มีแรงหรือเพราะอายุมากก็ยังให้คนรอบข้างช่วยปรับยืนได้เช่นกัน

รถเข็นได้รับการออกแบบมาให้มีน้ำหนักไม่มาก ราว 15 กก.ทำด้วยอะลูมิเนียมอัลลอยด์เหมือนรถเข็นนำเข้า แต่สามารถดูแลรักษาหรือทำความสะอาดได้สะดวก หากชำรุดก็ซ่อมโดยช่างเชื่อมเหล็กทั่วไป ที่สำคัญคือต้นแบบมีต้นทุนเพียง 10,000 -15,000 บาทเท่านั้น” ทีมประดิษฐ์กล่าว
 
ทั้งนี้ หลังจากรับฟังคำติชมเพื่อนำไปปรับปรุงเล็กน้อย ทีมประดิษฐ์เผยว่า ก็จะสามารถว่าจ้างโรงงานผลิตตามแบบเพื่อออกเผยแพร่ เพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาตหลายหมื่นคนในประเทศได้ใช้งาน และยังหวังด้วยว่าจะเผยแพร่ไปยังผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านใช้งานด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น