xs
xsm
sm
md
lg

ลูกจาก "เด็กหลอดแก้ว" รู้ว่าได้มายาก แต่อย่าเลี้ยงแบบเอาใจมากเกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลักษณะรูปกายภายนอกของเด็กหลอดแก้วดูแล้วไม่มีอะไรแตกต่างจากเด็กธรรมดาทั่วๆไป แต่ความรู้สึกนึกคิดและจิตใจย่อมไม่มีใครเหมือนใครแน่นอน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูเป็นสำคัญเช่นเดียวกันทั้งเด็กหลอดแก้วและเด็กปกติธรรมทั่วไป ใช่ว่าจะมีคู่มือเฉพาะสำหรับพ่อแม่ที่ให้กำเนิดลูกจากเทคโนโลยีการแพทย์เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้ว มักเป็นทางเลือกหนึ่งของครอบครัวที่ภรรยาประสบปัญหาในการตั้งครรภ์ หลายคนทำแล้วประสบผลสำเร็จ ตั้งครรภ์ได้และคลอดบุตรในที่สุด แน่นนอนว่าความตื่นเต้นตื้นตันใจย่อมบังเกิดขึ้นกับทุกคนในครอบครัวที่ต่อไปต้องให้การเลี้ยงดูทารกน้อยนี้จนเติบใหญ่ หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเด็กหลอดแก้วต้องได้รับการดูแลอย่างดีเป็นพิเศษกว่าเด็กที่เกิดจากวิธีธรรมชาติ และการเลี้ยงดูที่ดีเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเด็ก ซึ่งไม่ต่างอะไรกับปัญหาที่เด็กถูกพ่อแม่ตามใจมากเกินไป

รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ให้คำแนะนำในการเลี้ยงดูบุตรต่อครอบครัวที่มีลูกโดยการทำเด็กหลอดแก้ว ระหว่างการเสวนาเรื่อง "พัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของเด็กที่กำเนิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์" ในงาน "20 ปี เด็กหลอดแก้วไทย" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2550 ณ ตึกนวมินทราชินี-ตึกคัคณางค์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่เป็นการรวมพบปะสังสรรค์กันของเด็กหลอดแก้วกว่า 200 ครอบครัว ทั่วประเทศ

"เด็กหลอดแก้วจะมีความพิเศษกว่าเด็กทั่วไปตรงที่พ่อแม่และครอบครัวของเด็กจะเลี้ยงดูเป็นอย่างดี เพราะเห็นว่ายากลำบากแค่ไหนกว่าจะได้ลูกคนนี้มา ทำให้พ่อแม่รวมทั้งปู่ย่าตายายและญาติๆต่างก็ให้ความสำคัญและดูแลเอาใจใส่อย่างดี เด็กจึงเติบโตมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล" รศ.พญ.จันท์ฑิตา ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวช กล่าว

"แต่ในทางกลับกัน เมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีมากเกินไป อาจส่งผลให้เป็นเด็กที่เอาแต่ใจ ซน ก้าวร้าว และไม่ยอมเชื่อฟัง เพราะฉะนั้นต้องเลี้ยงลูกแบบทางสายกลาง" รศ.พญ.จันท์ฑิตา ให้คำแนะนำและเน้นว่า หากเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่จะต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยและให้สิ่งที่เหมาะสมแก่เด็ก ให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ไม่ควรตามใจทุกเรื่อง ต้องตอบสนองอย่างพอเหมาะพอควร

ทั้งนี้ รศ.พญ.จันท์ฑิตา กล่าวว่า เด็กจะมีความฉลาดอยู่ในตัว เด็กจะรู้ว่าถ้าเขาอยากได้อะไร เขาควรจะขอจากใครจึงจะเป็นผล ซึ่งหากพ่อแม่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันก็ไม่ควรถกเถียงกันต่อหน้าลูก ควรคล้อยตามกันไปก่อนแล้วหาเวลาปรึกษากันภายหลังจะเป็นการดีกว่า เพื่อที่เด็กจะได้เข้าใจเหตุผลมากกว่าในเวลาที่เห็นความขัดแย้งของพ่อและแม่

เด็กอาจร้องไห้งอแงเป็นการใหญ่เมื่อถูกขัดใจ และเชื่อว่าพ่อแม่หลายคนเคยเจอกรณีแบบนี้ รศ.พญ.จันท์ฑิตา จึงแนะว่า หากลูกเริ่มร้องไห้งอแงซึ่งเด็กบางคนอาจอาจถึงขั้นลงไปดิ้นเร่าๆกับพื้นเลยก็มีไม่น้อย เมื่อเจอปัญหาแบบนี้พ่อแม่หลายคนใจอ่อน ไม่อยากให้ลูกร้องไห้เลยต้องโอนอ่อนในที่สุด อย่างนี้จะทำให้เด็กเคยตัวและเอาแต่ใจซึ่งอาจส่งผลกับพัฒนาการของเด็ก ดังนั้นผู้เป็นพ่อเป็นแม่ต้องใจแข็งเข้าไว้ เมื่อผ่านไปสัก 3-4 วัน เด็กก็จะเลิกงอแงไปเอง และจะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ดังคำที่ว่า "เมื่อน้ำตาหยาดสุดท้ายแห้งสลาย เด็กจะพัฒนา"

อีกประการหนึ่ง พ่อแม่ควรปลูกฝังระเบียบวินัยให้ลูกตั้งแต่เมื่อเริ่มพูดคุยรู้เรื่อง รศ.พญ.จันท์ฑิตา ให้คำแนะนำว่าเมื่อลูกทำดีก็มีรางวัลให้ ซึ่งอาจเป็นของเล็กๆน้อยๆ เช่น ให้ดาวกระดาษเป็นรางวัล แต่เมื่อเด็กทำผิดก็ให้ลงโทษ เช่น ไม่ให้ขี่จักรยาน หรือไม่ให้ดูโทรทัศน์ เป็นต้น และไม่แนะนำให้ลงโทษลูกโดยการตีเด็ดขาด ขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย และหากจำเป็นต้องตีก็ไม่อยากให้ใช้อุปกรณ์ ให้ใช้มือตีฝ่ามือพร้อมทั้งอธิบายเหตุผลให้ลูกฟังด้วยว่าเพราะอะไรเขาจึงถูกตี ที่สำคัญต้องไม่ตีด้วยอารมณ์

"พ่อแม่ควรมีการวางกฎกติกาให้ลูกปฏิบัติ มีกรอบชัดเจน ทำดีมีรางวัลให้ ทำผิดก็ต้องลงโทษ ควรปลูกฝังระเบียบวินัยตั้งแต่เล็ก และเมื่อลูกโตประมาณวัยประถมปลายก็ให้เขามีส่วนร่วมในการวางกฎด้วย เพื่อเด็กจะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับเขาเกินไป ลูกจะได้ไม่ต่อต้านและเต็มใจที่จะปฏิบัติตามกฎนั้น" รศ.พญ.จันท์ฑิตา แนะนำ ซึ่งพ่อแม่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้กับลูกของตนเอง ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยในการตั้งครรภ์หรือเด็กหลอดแก้วเท่านั้น

ด้านนายเชวงศักดิ์และนางไขนภา ศรีสหบุรี เปิดเผยเคล็ดลับการเลี้ยงดูลูกชายคือ นายปวรวิทย์ ศรีสหบุรี หรือ มิ้ง เด็กหลอดแก้วคนแรกของประเทศไทย ปัจจุบันมีอายุ 20 ปี และกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางไขนภา เล่าว่า ได้เลี้ยงดูเอาใจใส่ลูกเป็นอย่างดี ให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำและเราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งไหนไม่ดี ไม่ถูกต้องก็ห้ามปราม ทั้งนี้ มิ้งยังมีน้องชายอีก 1 คน ซึ่งเกิดด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งครอบครัวศรีสหบุรีเลี้ยงดูทั้ง 2 คนอย่างดีไม่แตกต่างกัน

"เราเคยถูกเลี้ยงมาดีอย่างไร เราก็เลี้ยงเขาดีอย่างนั้น ไม่ได้มีความพิเศษอะไรเลย เราให้ความรักและเอาใจใส่เขาเป็นอย่างดี อบรมสั่งสอนโดยเน้นให้เขาเป็นคนดีของสังคม ส่วนรูปแบบการดำเนินชีวิตหรือทำกิจกรรมก็แล้วแต่เขา ให้เขาได้เลือกเอง อะไรก็ได้แต่ขอให้เป็นคนดีเท่านั้นพอ โชคดีที่เขาเป็นเด็กดีและขยัน เลี้ยงไม่ยากเลย" นายเชวงศักดิ์ กล่าว

สุดท้าย รศ.นพ.อัมพล สูอำพัน อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็ก แนะเคล็ด (ไม่) ลับให้แก่พ่อแม่ทุกคนว่า "เลี้ยงลูกให้ได้เหมือนอย่างที่คนขายส้มตำและยายเป็นคนเลี้ยง" เป็นการเลี้ยงลูกแบบไม่ประคบประหงม จะช่วยฝึกให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรงและแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็เป็นผู้มีจิตใจงอกงามดี

รศ.นพ.อัมพล สูอำพัน

กำลังโหลดความคิดเห็น