เสียง "อุแว๊" แรกจาก "เด็กหลอดแก้ว" ของไทยเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาคือเสียงสวรรค์สำหรับสามี-ภรรยาที่มีบุตรยาก หลายครอบครัวมัวแต่ทำงานสร้างฐานะกว่าจะรู้ตัวก็ให้กำเนิดลูกน้อยได้ไม่ง่ายเสียแล้ว เมื่อก่อนพระวัดไหนดังคงต้องไปบนวัดนั้น แต่เดี๋ยวนี้หันมาปรึกษาคุณหมอน่าจะได้ผลดีกว่า และ "นพ.ประมวล วีรุตมเสน" อาจารย์หมอผู้ให้กำเนิดเด็กผสมเทียมคนแรกเผยว่าปัจจุบันมีโอกาสที่คุณพ่อ-คุณแม่จะอุ้มเด็กกลับบ้านด้วยวิธีนี้ 26%
เมื่อปี 2527 ศ.นพ.ประมวล วีรุตมเสน จากภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับทีมวิจัยเริ่มต้นเลี้ยงตัวอ่อนหนูไมซ์ (Mice) ซึ่งเป็นก้าวแรกของเขาที่นำไปสู่การทำ "เด็กหลอดแก้ว" ในเมืองไทย วันที่ 24 มี.ค.ในปีเดียวกันทีมวิจัยก็ได้เก็บไข่คน (Oocytes collection) จากห้องผ่าตัดเพื่อนำไปปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ และอีก 2 วันต่อมากพวกเขาก็พบไข่ผสม (Fertilization) ที่แบ่งตัวเป็นเอ็มบริโอ (embryo) คือไข่แบ่งตัวเป็น 2-4 เซลล์
ถัดมาอีก 2 ปีพบการตั้งท้องนอกมดลูกจากการถ่ายฝากในระยะ 8 เซลล์และการตั้งครรภ์จากการถ่ายฝากตัวอ่อนในระยะ 4 เซลล์ และปลายปีก็พบว่ามีการตั้งครรภ์นานถึง 9 สัปดาห์จากการฝากตัวอ่อนในระยะ 4 เซลล์แต่แท้งบุตร
จนกระทั่งวันที่ 15 ส.ค. 30 "ด.ช.ปวรวิทย์ ศรีสหบุรี" ก็ถือกำเนิดมาเป็นเด็กหลอดแก้วคนแรกของไทยและทวีปเอเชีย โดยที่มารดาของเด็กก็ไม่ทราบว่าเป็นคนแรกที่ให้กำเนิดบุตรจากวิธีพิเศษและเข้าใจว่าแพทย์ที่ทำการรักษานั้นได้ทำสำเร็จมาหลายรายแล้ว และ 1 ปีหลังจากมีลูกคนโตโดยอาศัยแพทย์เธอก็มีบุตรได้ด้วยวิธีธรรมชาติเพราะพังผืดในมดลูกได้หายไป และปัจจุบันปวรวิทย์เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เด็กหลอดแก้วรายที่ 2 เกิดในอีก 2 ปีถัดมา และปี 2534 ก็พบแฝด 3 จากเด็กหลอดแก้วเป็นครั้งแรก จากนั้นอีก 1 ปีต่อมาก็มีเด็กหลอดแก้วที่เกิดจากตัวอ่อนแช่แข็งเป็นรายแรก
จนกระทั่งในปี 2539 ก็มีเด็กที่คลอดจากกระบวนการช่วยปฏิสนธิ "อิ๊กซี่" (Intra Cytoplasmic Injection: ICSI) ซึ่งเป็นกระบวนการช่วยเหลือกรณีที่เชื้ออสุจิไม่แข็งแรง โดยจะคัดเลือกเชื้อที่แข็งแรงที่สุด 1 ตัวมาใส่ในหลอดแก้วเล็กๆ ที่เรียกว่า "เข็มอิ๊กซี่" จากนั้นเจาะเข็มเข้าไปในไข่เพื่อให้เชื้ออสุจิวิ่งไปปฏิสนธิในเซลล์
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาทีมวิจัยจุฬาฯ ได้ให้กำเนิดเด็กหลอดแก้วแล้วกว่า 600 คน โดยมีผู้เข้ารับการรักษาจากกรณีมีบุตรยากกว่า 4,000 คน ทั้งนี้ประมาณกันว่าทั่วโลกมีเด็กที่เกิดจากวิธีนี้ 1.5 ล้านคน
นอกจากนี้ ศ.นพ.ประมวลทีมวิจัยยังได้ร่วมกันพัฒนาการตรวจตัวอ่อนทางพันธุกรรม (Pre-implantation genetic diagnosis) ให้กับสตรีที่มีความเสี่ยงเป็นโรคทางพันธุกรรมก่อนที่จะฝากตัวอ่อนกลับเข้าไปในครรภ์
ศ.นพ.ประมวลประเมินว่าเทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้วในปัจจุบันมีความแตกต่างจากอดีตมาก โดยมีความแตกต่างตั้งแต่วิธีการ ยาที่ใช้ น้ำยาเพาะเลี้ยงตัวอ่อน วิธีการเก็บไข่ และเทคโนโลยีในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยทีมวิจัยมีความรู้มากขึ้นว่าจะเลี้ยงตัวอ่อนให้มีพัฒนาดีขึ้นอย่างไร เข้าใจลักษณะตัวอ่อนที่ดีมากขึ้น ปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับคนไข้ เข้าใจมากขึ้นถึงวิธีการกระตุ้นให้ไข่สุก เข้าใจถึงวิธีการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นและลดการตั้งครรภ์แฝดซึ่งเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ รวมถึงวิธีการดูแลคนไข้ที่มีบุตรยากเนื่องทราบว่าเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจอย่างไรก็จะให้คำแนะนำที่เหมาะสม
"มี 26% ที่จะได้เด็กกลับบ้าน" ศ.ดร.ประมวลกล่าวถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำเด็กหลอดแก้วในปัจจุบันที่สามี-ภรรยาจะมีโอกาสอุ้มลูกกลับบ้านโดยไม่แท้งไปเสียก่อนระหว่างการตั้งครรภ์ พร้อมทั้งเปรียบเทียบเทคโนโลยีของไทยทีมีอยู่ว่าเทียบเท่ากับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
ส่วนจะนำโคลนนิงมาเป็นทางเลือกสำหรับครอบครัวที่มีบุตรยากหรือไม่นั้น ศ.ดร.ประมวลให้ความเห็นว่าปัจจุบันเรายังมีความเข้าใจพื้นฐานการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมน้อย จึงยังไม่ใช่ทางเลือกในอนาคตอันใกล้นี้
ศ.นพ.ประมวลบอกอีกว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แต่ละครอบครัวมีลูกยากขึ้นนั่นคือการแต่งงานเมื่อมีอายุมากแล้ว โดยผู้หญิงที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสมีลูกได้ยากกว่าหญิงที่มีอายุ 20 ต้นๆ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือปัญหาเรื่องสุขภาพ และปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่และความเครียดจากงาน เป็นต้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีบุตรยาก
ส่วนสัญญาณที่บ่งบอกว่าคู่สมรสมีโอกาสมีบุตรยากนั้น ศ.นพ.ประมวลระบุว่าภายหลังจากที่แต่งงานแล้ว 1 ปี และมีเพศสัมพันธ์ปกติสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หรือมีเพศสัมพันธ์ในจังหวะที่ "ไข่ตก" ซึ่งมีโอกาสตั้งครรภ์เดือนละ 1-2 ครั้งแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ก็แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะมีบุตรยาก แต่หากมารักษาแพทย์จะแนะนำให้ทดลองตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติก่อน โดยคำนึงถึงวิธีการทื่ง่าย ปลอดภัยและพึ่งเทคโนโลยีน้อยที่สุด ส่วนการทำเด็กหลอดแก้วจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะแนะนำให้กับคนไข้
สำหรับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology: ART) ในปัจจุบันมีทั้งหมด 6 วิธี ได้แก่
1.การกำหนดวันไข่ตกให้มีเพศสัมพันธ์เอง ใช้ในกรณีที่สามี-ภรรยาไม่มีปัญหาสุขภาพ โดยใช้อัลตราซาวนด์ช่วยซึ่งสามารถดูได้ว่าอีกกี่ชั่วโมงไข่ตก แล้วกำหนดให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงนั้น
2.การผสมเทียม (Intraaterine Inseminration: IUI) เป็นวิธีที่ฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในร่างกายภรรยาซึ่งต้องมีการตกไข่อย่างสม่ำเสมอ ท่อนำไข่และมดลูกปกติ
3.การทำกิฟต์ (Gemete Intrafallopain Transfer: GIFT) เป็นการคัดเลือกไข่และอสุจิที่ดีและแข็งแรงนอกร่างกาย จากนั้นใส่กลับไปในมดลูกเพื่อให้มีการปฏิสนธิกันเองตามธรรมชาติ
4.การทำซิฟท์ (Zygote Intrafallopain Transfer: ZIFT) เป็นวิธีที่ทำให้ไข่และอสุจิปฏิสนธิกันในหลอดแก้วกลายเป็นตัวอ่อนระยะ "ไซโกท" (Zygote) แล้วฉีดเข้าสู่ร่างกายภรรยาทางปีกมดลูก
5.การทำเด็กหลอดแก้ว (Invitro Fertillization & Embryo Transfer: IVF&ET) เป็นการคัดเลือกไข่ที่ดีและอสุจิที่แข็งแรงแล้วนำมาปฏิสนธิและเพาะเลี้ยงนอกร่างกายจนเจริญเติบโต 4-8 เซลล์ ซึ่งเป็นระยะเอ็มบริโอแล้วฉีดกลับเข้าไปในโพรงมดลูก
6.บลาสโตซิสท์คัลเจอร์ (Blastocyst Culture) เป็นการคัดเลือกไข่ที่ดีและอสุจิที่แข็งแรงแล้วนำมาปฏิสนธิและเพาะเลี้ยงนอกร่างกายคล้ายเด็กหลอดแก้วแต่จะรอให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตถึงประมาณ 100 เซลล์ ซึ่งเป็นระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) แล้วจึงใส่กลับไปในโพรงมดลูก