xs
xsm
sm
md
lg

โถพลูโต...แค่เจ้าแห่งดาวเคราะห์แคระก็เป็นไม่ได้ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลูโต (ซ้ายล่าง) กับชารอน (ขวาบน) ที่แต่ก่อนเคยเป็นบริวาร มาบัดนี้มีสถานะเป็นดาวเคราะห์แคระทัดเทียมกัน
เอเยนซี/บีบีซีนิวส์/สเปซดอทคอม – เคราะห์ซ้ำกรรมซัด หลังการปรากฎตัวของ "อีริส" ดาวเคราะห์ "พลูโต" ก็ถูกลดชั้นให้เป็นแค่ดาวเคราะห์แคระ พร้อมตำแหน่งปลอบใจ "ดาวเคราะห์แคระที่ใหญ่ที่สุด" แต่ยังไม่ทันหายเศร้ากับรางวัลชมเชย เจ้าแห่งเมืองบาดาลกลับถูกเทพธิดาอีริสเจ้าเดิมชิงตำแหน่งดาวเคราะห์แคระที่ใหญ่ที่สุดไปอีก

คณะนักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology : Caltech) ยืนยันในวารสารไซน์ (Science) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ว่า ดาวอีริส (Eris) ที่พวกเขาค้นพบเมื่อปี 2546 เป็นดาวเคราะห์แคระที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวพลูโต

คณะนักวิจัยจากคาลเทครวมถึงไมเคิล บราวน์ (Michael Brown) ผู้ค้นพบอีริสได้ใช้ดาวดิสนอเมีย (Dysnomia) จันทร์บริวารของอีริส และกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) คำนวณขนาดของอีริส ตามหลักฟิสิกส์ของนิวตัน พบว่า มีขนาดใหญ่กว่าพลูโตถึง 27% ดังนั้นจึงบันทึกลงไปในรายงานว่า "อีริสเป็นดาวเคราะห์แคระที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่วัดได้"

"อีริส" มีชื่อค้นพบดั้งเดิมเดิมว่า 2003ยูบี313 (2003UB313) และมีชื่อที่รู้จักอย่างไม่เป็นทางการว่า "ซีนา" (Xena) อยู่ห่างจากโลก 14,500 ล้านกม. อยู่ในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์รอบละ 560 ปี มีดาวบริวารหนึ่งดวงชื่อ "ดิสนอเมีย" อยู่ห่างจากอีริส 150 กม.และโคจรรอบอีริสรอบละ 16 วัน

อุณหภูมิที่ผิวของ "อีริส" สูงประมาณ -243 องศาเซลเซียส ผิวมีสีแดงเรื่อๆ คล้ายดาวอังคาร

นักวิจัยเชื่อว่าอีริสน่าจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2,400 - 3,000 กม. ขณะที่พลูโตที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2,390 กม. วงโคจรของอีริสห่างจากดวงอาทิตย์เฉลี่ยประมาณ 3 เท่าของระยะทางที่พลูโตห่าง

ดังนั้น อีริสจึงใช้เวลาประมาณ 2 เท่าของ พลูโตในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ การอยู่ไกลมากเช่นนี้ ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ต้องใช้เวลาเป็นวัน จึงเดินทางถึงอีริสแล้วสะท้อนกลับมายังโลก เพื่อใช้ในการคำณวนขนาดและระยะทาง

อย่างไรก็ดี การค้นพบ "อีริส" เป็นเหตุที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันถึงสถานภาพของ "พลูโต" จนที่ประชุมสหภาพดาราศาสตร์ระหว่างประเทศ หรือ ไอเอยู (International Astronomical Union : IAU) มีมติลดชั้นดาวพลูโต ในเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ว่าไม่ใช่ดาวเคราะห์

ไอเอยูจัดนิยามของคำว่า "ดาวเคราะห์" ขึ้นใหม่ พร้อมทั้งกำหนดสถานะของดาวแบบใหม่ คือ "ดาวเคราะห์แคระ" (dwarf planet) และจัดให้ "พลูโต" ให้อยู่ในกลุ่มนี้ รวมไปถึง ดาวอีริส ดาวเคราะห์น้อยซีเรส (Ceres) และดวงจันทร์ชารอน (Charon) ของพลูโต ก็กลายเป็นดาวเคราะห์แคระกันถ้วนหน้า

ที่สำคัญ ไอเอยูเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อจาก "ซีนา" เป็น "อีริส" อย่างเป็นทางการเมื่อ 13 ก.ย.ปีที่แล้ว ตามชื่อ "เทพธิดาอีริส" ในเทพนิยายกรีกผู้ชอบทำให้เทพธิดาอื่นๆ ทะเลาะวิวาท จนเกิดเป็น "สงครามกรุงทรอย" ในที่สุด

และดาว "อีริส" ดวงนี้ก็ทำให้วงการดาราศาสตร์ร้อนแรงเช่นกัน หลังจากค้นพบอีริสนักดาราศาสตร์ทั่วโลกหลายสำนักโต้เถียงกันไม่น้อย จนทำให้ดาวพลูโตต้องเปลี่ยนสถานภาพจากดาวเคราะห์ธรรมดาเป็นดาวเคราะห์แคระเมือปีกลาย และในปีนี้ดาวพลูโตก็โดนยึดตำแหน่งดาวเคราะห์แคระที่ใหญ่ที่สุดไปอีก




กำลังโหลดความคิดเห็น