สถาบันดาราศาสตร์เปิดให้คณะวิทยาศาสตร์ 24 สถาบันทั่วประเทศใช้กล้องดูดาวที่กำลังก่อสร้างบนดอยอินทนนท์ ด้าน จุฬาฯ เผยจะทำให้เกิดความร่วมมือด้านงานวิจัยมากขึ้น ส่วน มช.แจงยังไม่เปิดสาขาดาราศาสตร์ในชั้น ป.ตรี เพราะความแน่นอนในการทำงานยังไม่มีแต่จะตั้งหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาก่อน โอ่ไทยจะเป็นผู้นำดาราศาสตร์ในเอเชียหลังติดตั้งกล้องดูดาว 2.4 เมตร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ กับ 24 คณะวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ซึ่ง รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร.เปิดเผยว่าจะทำให้เกิดความร่วมมือใน 3 ด้านคือ 1.การวิจัย ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยมีงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ และทาง สดร.ก็จะให้ความร่วมมือในการใช้อุปกรณ์มาตรฐานซึ่งจะเป็นฐานให้เกิดงานวิจัยต่างๆ 2.ด้านการศึกษาดาราศาสตร์ที่จะมีขึ้นในระดับปริญญาโท-เอก ก็จะสามารถใช้อาจารย์ที่ปรึกษาจากสถาบันต่างๆ ร่วมกันได้ และ 3.การบริการชุมชนด้านความรู้ดาราศาสตร์ซึ่งจะได้ขยายไปทั่วประเทศ เนื่องจากลำพัง สดร.ไม่สามารถทำได้
ทั้งนี้ รศ.บุญรักษาได้แจกแจงว่าปัจจุบันมีงานวิจัยดาราศาสตร์ในเมืองไทย 3 ด้าน ได้แก่ ทางด้านสังเกตการณ์ที่ต้องอาศัยกล้องดูดาวขนาดใหญ่ซึ่งมีหลายมหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยทางด้านนี้ อีกด้านคืองานวิจัยเชิงทฤษฎีซึ่งมีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ศึกษางานด้านนี้ และงานวิจัยดาราศาสตร์ที่ใช้การจำลองทางคณิตศาสตร์ชั้นสูงหรือที่เรียกว่า "ซิมูเลชัน" (Simulation) เพื่อศึกษาว่าเอกภพและจักรวาลเป็นเช่นไร
อีกทั้งเชื่อว่าจะเกิดการบูรณาการศาสตร์สาขาอื่นๆ เข้ากับดาราศาสตร์มากขึ้น ดังเช่นฟิสิกส์ที่มีให้เห็นแล้ว และต่อไปอาจเป็นเคมีและชีววิทยา พร้อมทั้งยกตัวอย่างการค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกนอกระบบสุริยะที่ทำให้วิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ มีความสำคัญต่อวงการดาราศาสตร์ขึ้นมา
นอกจากนี้ รศ.บุญรักษาเผยว่าในสายตาของชาวต่างชาติในภูมิภาคอื่นมองว่าภูมิภาคเอเชียเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ค่อยมีความก้าวหน้าด้านดาราศาสตร์มากนัก จึงได้เชิญประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมตั้งศูนย์ศึกษาดาราศาสตร์ ยกเว้นเวียดนามที่ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้และพม่าที่ไม่ให้ความสนใจด้านดาราศาสตร์ โดยอยู่ระหว่างการหาทางลงนามระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ
ทางด้าน ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าการลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดงานวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันต่างๆ มากขึ้น เพราะหากไม่มีการลงนามในครั้งนี้ก็จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลจากกล้องดูดาวขนาด 2.4 เมตรของ สดร.ที่จะติดตั้งบนดอยอินทนนท์ได้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างงานวิจัยที่ได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยมหิดลในการวัดรังสีคอสมิก (Cosmic ray) ที่มาจากนอกโลกและศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยได้แจงว่าหากรังสีดังกล่าวปนเปื้อนสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอันตรายได้ และนักบินที่บินสูงกว่า 40,000 ฟุตก็มีโอกาสได้รับรังสีดังกล่าวและเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
ส่วน ผศ.ดร.มงคล รายะนาคร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แจงว่าหลังความร่วมมือครั้งนี้จะยังไม่มีการเปิดสาขาดาราศาสตร์ขึ้นในระดับปริญญาตรีเช่นเดียวกับทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนด้านอาชีพสำหรับบัณฑิตกลุ่มนี้ แต่จะเปิดสาขาดาราศาสตร์ฟิสิกส์ในระดับบัณฑิตศึกษาขึ้นก่อน อีกทั้งยังได้แทรกเนื้อหาทางด้านดาราศาสตร์เข้าไปในหลักสูตรปริญญาตรีอยู่แล้ว โดยอาศัยข้อมูลจากกล้องบนหอดูดาวสิรินธรที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับดาวฤกษ์ ดาวคู่ รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าและผลกระทบจากดวงอาทิตย์ เป็นต้น
"ข้อมูลที่เราใช้วิจัยทั้งหมดในขณะนี้นั้นได้มาจากกล้องดูดาวขนาดไม่ถึง 1 เมตรจากหอดูดาวสิรินธร และถ้าสถาบันดาราศาสตร์จะตั้งกล้องขนาด 2.4 เมตร เชื่อว่าไทยจะเป็นมีศักยภาพด้านดาราศาสตร์เป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย เนื่องจากจะเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้" ผศ.ดร.มงคลซึ่งออกตัวว่าไม่มีความรู้ด้านดาราศาสตร์ให้ความเห็น
สำหรับคณะวิทยาศาสตร์ทั้ง 24 สถาบันได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสารสนเทศจันทบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยรามคำแหง