โคเรียไทมส์/เอเยนซี - คงยังจำกันได้ “หวาง วูซก” นักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีใต้ที่กลายเป็นข่าวฉาวและต้องคดี หลังจากถูกจับได้ว่าตีพิมพ์งานวิจัยที่ปั้นแต่งขึ้น ทางรัฐบาลแบนไม่ให้วิจัยโคลนนิงมนุษย์ แต่สื่อเกาหลีรายงานล่าสุดว่าเขาอยู่ในไทย และเตรียมตั้งทีมวิจัยระดับนานาชาติเพื่อเดินหน้าทำแล็บสเต็มเซลล์
ดร.หวาง วูซก (Hwang Woo-suk) นักวิทยาศาสตร์ที่เคยเป็นมือหนึ่งของชาวเกาหลีใต้และเคยเป็นความภาคภูมิใจของชาวเกาหลีที่สามารถสร้างงานวิจัยทางด้านสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดให้ก้าวหน้าได้ถึงขนาดนำไปใช้กับผู้ป่วยโดยไม่มีการปฏิเสธทางพันธุกรรม สร้างความหวังให้แก่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและความบกพร่องของไขสันหลัง
ทว่าในไม่ช้า ดร.หวางก็ถูกจับได้ว่าปลอมแปลงงานวิจัยลงตีพิมพ์ในวารสารระดับสากล นอกจากจะเสียชื่อเสียงไปทั่วโลกแล้ว ยังถูกยึดตำแหน่งศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซลอันเป็นต้นสังกัด และต้องกลายเป็นจำเลยในคดีฉ้อโกงงบประมาณของรัฐที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยมูลค่าหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐฯ และข้อหาของการได้ไข่มาใช้วิจัยโดยละเมิดกฎหมายชีวจริยธรรม ระหว่างนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล และถ้าหากศาลตัดสินให้เขาผิดจริงจะต้องจำคุกถึง 10 ปีในคดีฉ้อโกงและอีก 3 ปีในคดีละเมิดกฎหมายชีวจริยธรรม
ทั้งนี้ สำนักข่าวยอนฮัพ (Yonhap) ของเกาหลีใต้รายงานโดยอ้างข้อมูลจากรัฐบาลว่า ขณะนี้ ดร.หวางกำลังอยู่ในประเทศไทย ตามคำเชิญของสถาบันวิจัยไทย และขณะนี้กำลังพิจารณาจัดตั้งองค์กรความร่วมมือด้านการวิจัยสเต็มเซลล์มนุษย์ระดับสากลขึ้นโดยมีบริษัททางด้านชีวเวช (biomedical) หลายแห่งให้การสนับสนุน
ขณะที่หนังสือพิมพ์จูนกัง อิลโบะ (Joongang Ilbo) ก็รายงานเช่นเดียวกันว่า ดร.หวางออกจากเกาหลีตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. โดยเดินทางไปในนามบริษัทด้านชีวเวชรายใหญ่แห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ที่เคยสนับสนุนกันตั้งแต่ยังทำการทดลองอยู่ที่มหาวิทยาลัยโซล
ส่วนมาเออิล (Maeil) หนังสือพิมพ์ธุรกิจของเกาหลีก็อ้างแหล่งข่าวจากรัฐบาลเช่นกันว่า ดร.หวางได้รับคำเชิญจากสถาบันวิจัย 2 แห่งในประเทศไทย และอีกมหาวิทยาลัยระดับชาติหนึ่งแต่ไม่ได้ระบุชื่อ และยังรายงานว่า ดร.หวางเตรียมวางแผนจะตั้งเครือข่ายวิจัยด้านสเต็มเซลล์มนุษย์ที่เมืองไทยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ของเกาหลีก็ยังไม่ได้ยืนยันรายงานข่าวดังกล่าว
"หวางเชื่อว่าคงจะยากหากจะเดินหน้าวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ต่อไปในเกาหลีใต้ เพราะยากที่จะหาไข่มาทำการทดลอง หากไม่มีใบอนุญาต จึงทำให้หวางต้องหาทางร่วมงานวิจัยในระดับนานาชาติ เพราะในหลายๆ ประเทศยังไม่ได้เข้มงวดเรื่องการทดลองเหล่านี้" เจ้าหน้าที่รัฐเกาหลีใต้เผย ส่วนสื่อเกาหลีก็วิเคราะห์ว่า หากหวางได้เข้าร่วมทีมวิจัยอินเตอร์แล้ว เขาก็ยังสามารถใช้ห้องปฏิบัติการได้ทั้งในเกาหลีใต้และที่ต่างประเทศ
เมื่อทราบข่าวดังกล่าวทาง "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จึงสอบถามไปทาง ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และนักโคลนนิงชื่อดังของเมืองไทย ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ โดย ดร.รังสรรค์ เผยว่า ไม่ทราบเรื่องการเดินทางมาเมืองไทยของ ดร.หวาง
อีกทั้ง ตัวดร.รังสรรค์เองก็ไม่ได้เชิญ ดร.หวางมาร่วมวิจัยด้วย และไม่ทราบว่านักวิจัยแดนกิมจินั้นร่วมวิจัยกับผู้ใด แต่หากเขาจะเข้ามาวิจัยภายใต้กฎหมายและระเบียบวิจัยของไทยก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะถือเป็นบุคคลที่มีศักยภาพและฝีมือคนหนึ่ง
ทว่า ดร.รังสรรค์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ ดร.หวางมีคดีติดตัวอยู่นั้น นักวิจัยไทยที่ร่วมงานด้วยต้องพิจารณาเรื่องจริยธรรมเป็นสำคัญ และพิจารณาว่าจะมีปัญหาตามมาหรือไม่ ถ้าทำภายใต้กฎระเบียบของไทยก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะเขาก็มีศักยภาพที่จะทำให้งานวิจัยของไทยก้าวหน้า
"แต่ก็ต้องมองในมุมกลับว่าเขาจะอาศัยช่องว่างทางกฎหมายโดยที่คนไทยไม่ทันเกมหรือไม่ ซึ่งจะทำให้นักวิจัยไทยเสียชื่อเสียงได้ คงต้องมองทั้งแง่บวก-แง่ลบ แต่เชื่อว่านักวิจัยไทยน่าจะคิดได้" ดร.รังสรรค์กล่าว
อย่างไรก็ดี หลังจากหวางถูกจับได้ว่าปลอมแปลงงานวิจัยในปี 2005 เขาถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย และระหว่างที่ต้องขึ้นให้การศาลเป็นระยะ เขาก็เก็บตัวทำวิจัยอยู่ที่สถานบันวิจัยพันธุวิศวกรรมซูอัม (Suam Bioengineering Research Institute) ในยองกิน จังหวัดเคียงกี (Yongin, Gyeonggi Province) ที่ที่เขาสามารถโคลนนิงสัตว์ต่างๆ ออกมาได้
แม้รัฐบาลเกาหลีจะห้ามไม่ให้หวางทำวิจัยเกี่ยวกับการโคลนนิงมนุษย์อีกต่อไป แต่เหล่าผู้สนับสนุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจากโรคเรื้อรังช่วยกันยืนกรานว่าความผิดที่เกิดขึ้นนั้น ดร.หวางไม่ได้เจตนา ซึ่งยอมรับว่ามีความผิดต่างๆ เกิดขึ้นจริง แต่หวางก็มีความสามารถจนโคลนนิงสเต็มเซลล์ได้จริงเช่นกัน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลให้โอกาสฮีโร่ของพวกเขาอีกครั้ง