คุณคิดว่าการเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้าจะน่ารื่นรมย์แค่ไหน ถ้าสินค้าที่คุณซื้อมานั้นมีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สินค้าที่ใช้ "พลาสติกชีวภาพ" เป็นทางออกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราพ้นจากปัญหาขยะกองโตที่ย่อยสลายยากได้ อีกทั้งในกระบวนการผลิตก็ยังสร้างปัญหาให้โลกน้อยกว่าพลาสติกจากปิโตรเลียมด้วย
ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงวงจรสุดท้ายของ "พลาสติก" จากปิโตรเคมีล้วนเป็นต้นเหตุของมลพิษในสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้งภาวะโลกร้อน ปัญหาขยะล้นเมืองจากบรรดาพลาสติกที่ย่อยสลายยาก กอปรกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเรื่อยๆ และจะหมดลงในอนาคตอันใกล้ ทำให้ "พลาสติกชีวภาพ" กลายเป็นทางออกของปัญหาที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ และหลายประเทศก็มีผลิตภัณฑ์ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว
ขณะที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในโลกหลายแห่งก็เริ่มขยับตัวเพื่อรับกับปัญหาดังกล่าวในฐานะปลายทางที่จะกระจายพลาสติกออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่าง "วอลมาร์ท" (Wal-mart) ของสหรัฐอเมริกาก็ประกาศมาตรการให้ใช้พลาสติกชีวภาพทั้งหมดในการจับจ่ายซื้อขายสินค้าแล้ว
"ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" มีโอกาสไปเยือน "อิออนมอลล์" (AEON Mall) ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลกที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องด้วยวาระที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้เข้าหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และสัตว์น้ำของญี่ปุ่น ถึงแนวทางการพัฒนาพลาสติกชีวภาพระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพไปพร้อมกัน
แผนกอาหารในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตคือแผนกแรกที่อิออนมอลล์ประเดิมใช้พลาสติกชีวภาพกับสินค้า เมื่อเดินสำรวจก็พบว่าผักและผลไม้หลายชนิดบรรจุด้วยพลาสติกชีวภาพซึ่งมีสัญลักษณ์ที่รับรองจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และสัตว์น้ำ หรือสมาคมพลาสติกชีวภาพของญี่ปุ่น อาทิ พลาสติกที่บรรจุกล้วยหอม ลังไข่พลาสติก พลาสติกรัดฝาขวด พลาสติกห่อหุ้มกล่องอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น
ทั้งนี้ทางห้างสรรพสินค้ายังติดป้ายแสดงข้อความชัดเจนถึงข้อดีของพลาสติกชีวภาพเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของลูกค้า อาทิ ข้อความระบุว่าลังไข่พลาสติกซึ่งผลิตจากพลาสติก PLA จำนวน 10 ใบนั้นช่วยลดการใช้น้ำมันได้ 138 มิลลิลิตร และยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ 157 ลิตร เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของลังลำเลียงสินค้ายังผลิตขึ้นจากพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ด้วย
สำหรับพลาสติก PLA หรือโพลีแลคติคแอซิด (polylacticacid) นั้นเป็นพลาสติกชีวภาพที่มีลักษณะเป็นฟิล์ม ซึ่งได้จากการนำกรดแลคติคไปผ่านกระบวนการพอลิเมอไรเซชัน (polymerization) ให้เป็นเม็ดพลาสติก โดยนำวัตถุดิบต้นน้ำคือแป้งที่ได้จากพืช อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น ไปผ่านกระบวนการหมักด้วยเอนไซม์ให้ได้กรดแลคติค พลาสติกที่ได้ใช้ทดแทนพลาสติก PET โพลีเอสทิลีน (PE) หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้มีบริษัทเนเจอร์เวิร์คส์ แอลแอลซี (NatureWorks LLC) ของสหรัฐอเมริกา แห่งเดียวที่ผลิตเม็ดพลาสติก PLA ส่งขายให้กับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก
ทางด้าน ฮิโตชิ โทโนมูระ (Hitoshi Tonomura) ผู้ประสานงานกลุ่มแผนกสินค้าประเภทอาหาร บริษัท อิออน จำกัด ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันญี่ปุ่นใช้พลาสติกทั้งหมดปีละ 10,000,000 ตัน โดยในจำนวนนั้นเป็นพลาสติกชีวภาพราว 20,000 ตัน และญี่ปุ่นถือเป็นตลาดพลาสติกชนิด PLA ขนาดใหญ่ของโลกที่แต่ละปีมีปริมาณการใช้ 4,000 ตัน ซึ่งอิออนคือผู้ใช้รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นราว 550 ตันต่อปี และหลังจากลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าให้มีการใช้พลาสติกชีวภาพที่ 100,000 ตันต่อปีก่อนปี 2010
การนำพลาสติกชีวภาพมาใช้ภายในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อสินค้า "ท็อปวาลู" (Topvalu) ซึ่งเป็นสินค้าของอิออนเองนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งโทโนมูระเผยว่าแม้จะได้รับการสนับสนุนก็ไม่ได้ช่วยให้ยอดขายสินค้าดีขึ้น หากแต่ทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทดีขึ้นในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ต้นทุนของพลาสติกชีวภาพยังสูงกว่าพลาสติกทั่วไป 1.6 เท่า แต่ทางห้างยังคงตั้งราคาเท่ากับสินค้าที่ใช้พลาสติกทั่วไป
ขณะที่ ซูซูมุ ทาคาฮาชิ (Susumu Takahashi) ผู้จัดการทั่วไปของอิออน กล่าวถึงความจำเป็นที่อิออนจำเป็นต้องใช้พลาสติกชีวภาพว่า เนื่องจากอิออนถือเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ดังนั้นจะทำอะไรจึงต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคม
...อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบโดยสายตาแล้วปริมาณพลาสติกชีวภาพในห้างสรรพสินค้าของอิออนก็ยังมีปริมาณที่น้อยมาก แต่เมื่อหันมามองที่เมืองไทยบ้างก็เห็นว่าอย่างน้อยทางญี่ปุ่นก็ได้ลงมือตั้งรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว และคงดีหากห้างสรรพสินค้าในไทยจะหันมาใช้พลาสติกชีวภาพกับเขาบ้างหรืออาจสร้างค่านิยมใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกก็ยังดี...