xs
xsm
sm
md
lg

ใช้เสต็มเซลล์ผ่าตัดใน 45 นาทีฟื้นการมองเห็นจอประสาทตาเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากสถาบันดวงตาของอังกฤษ แสดงให้เห็นลักษณะการมองเห็นของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมโดยเห็นภาพในแบบทางด้านขวาเมื่อเปรียบเทียบกับภาพที่คนปกติมองเห็นทางด้านซ้าย ซึ่งจะมีผู้เข้ารับรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่ใช้เวลาผ่าตัดเพียง 45 นาทีรายแรกภายใน 5 ปี
เอเยนซี - นักวิจัยอังกฤษคิดค้นเทคนิคปฏิวัติวงการโดยใช้สเต็มเซลล์รักษาอาการตาบอดจากโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยใช้เวลาผ่าตัดแค่ 45 นาที และสามารถให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ทันที เตรียมทดลองกับคนภายใน 5 ปีนี้

โครงการนำร่องที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ตั้งเป้าใช้เซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) จากตัวอ่อนมนุษย์เพื่อฟื้นฟูเรตินาที่เสื่อมสภาพ โดยนักวิจัยคาดหวังว่า ในอนาคตข้างหน้าวิธีการผ่าตัดที่แสนง่ายดายนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกับการผ่าต้อกระจก

นักวิจัยยังเชื่อว่า เทคนิคนี้สามารถฟื้นฟูการมองเห็นในคนไข้ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม (age-related macular degeneration - AMD) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการตาบอดในหมู่ผู้สูงวัย

ยาบางตัว เช่น ลูเซนทิสของเจเนนเทค (Genentech Inc.'s Lucentis) สามารถช่วยผู้ป่วย 1 ใน 10 ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (wet AMD) ขณะที่โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (dry AMD) ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับผู้ป่วยเอเอ็มดี 90% ยังไม่มีวิธีรักษา

โรคจอประสาทตาเสื่อมเกิดจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเซลล์ของชั้นจอประสาทตาชั้นนอกสุด (retinal pigment epithelilal – RPE) และพบมากในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป

เทคนิคการรักษาใหม่ล่าสุดที่ถือเป็นการปฏิวัติวงการคือ การแทนที่เซลล์อาร์พีอีที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์ต้นกำเนิดในห้องวิจัย เซลล์เหล่านี้คือเซลล์เปล่าที่สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ประเภทต่างๆ และนำไปใช้สร้างแผ่นเซลล์ขนาด 4 x 6 มิลลิเมตร เพื่อฉีดเข้าหลังดวงตาไปทดแทนเซลล์ที่เสียหายและฟื้นฟูการมองเห็น โดยการทดลองกับหนูประสบความสำเร็จด้วยดี

เดอะ ลอนดอน โปรเจ็กต์ ทู เคียวร์ เอเอ็มดี (The London Project to Cure AMD) รวมนักวิจัยมือดีจากยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน หรือ ยูซีแอล (University College London : UCL), โรงพยาบาลจักษุมัวร์ฟิลด์สในลอนดอน (Moorfields Eye Hospital) และมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (University of Sheffield) โดยได้ทุนสนับสนุน 8 ล้านดอลลาร์ จากผู้บริจาคนิรนามชาวอเมริกันที่เริ่มเหนื่อยหน่ายกับข้อจำกัดในการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดของทางการสหรัฐฯ

หลักฐานที่บ่งชี้ว่า เทคนิคนี้มีแนวโน้มประสบความสำเร็จมาจากการผ่าตัดกับคนไข้กลุ่มเล็กๆ ซึ่งศัลยแพทย์ของมัวร์ฟิลด์สช่วยฟื้นฟูการมองเห็นของคนไข้เหล่านี้โดยใช้เซลล์ที่แข็งแรงจากดวงตาของคนไข้เอง

คนไข้บางรายในจำนวนนี้สามารถอ่านหนังสือ ขี่จักรยาน และใช้คอมพิวเตอร์ กระนั้น การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ยังซับซ้อนและใช้เวลามาก จึงไม่เหมาะที่จะนำมารักษาคนไข้นับล้านที่ทุกข์ทรมานจากโรคเอเอ็มดี

แต่ด้วยการฉีดเซลล์อาร์พีอีที่ได้จากเซลล์ต้นกำเนิดและพัฒนาขึ้นมาแบบสำเร็จรูป ดร.ลินดอน ดา ครูซ (Dr Lyndon Da Cruz) จากมัวร์ฟิลด์ส หวังว่าจะสามารถลดเวลาในการผ่าตัดซึ่งต้องมีการฉีดยาชาร่วมด้วย เหลือเพียง 45 นาที และทำให้วิธีรักษานี้กลายเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกับการผ่าต้อกระจกภายใน 10 ปี

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด คนไข้ต้องกินยาเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายปฏิเสธเซลล์ใหม่ และคนไข้สามารถกลับบ้านได้เลยหลังผ่าตัด โดยความสามารถในการมองเห็นจะค่อยๆ กลับมาภายใน 2-3 สัปดาห์

กระนั้น ยังไม่อาจรู้ได้ว่าผลการบำบัดจะมีระยะเวลาเท่าใด แต่สำหรับคนไข้ที่ปลูกถ่ายเซลล์จากดวงตาของตัวเองเมื่อ 2 ปี 6 เดือนที่แล้ว ขณะนี้ยังคงมองเห็นอยู่

พีท คอฟเฟย์ (Pete Coffey) จากยูซีแอล ซึ่งรับหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการ เชื่อมั่นว่ากระบวนการนี้จะได้ผลกับคนเช่นกัน กระนั้น ทีมนักวิจัยต้องการมั่นใจในความปลอดภัยและคุณภาพของกลุ่มเซลล์ โดยจะมีการทดลองกับคนไข้ 10-12 คนภายใน 5 ปี

ทีมนักวิจัยยังหวังว่า เทคนิคล่าสุดจะสามารถรักษาอาการตาบอดที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน

โครงการที่ไม่หวังผลทางการค้านี้ได้รับการตอบรับจากกลุ่มช่วยเหลือผู้ป่วย อาทิ อลิสแตร์ ฟิลเดอร์ (Alistair Fielder) จากมูลนิธิวิจัยด้านดวงตา ไฟต์ ฟอร์ ไซต์ (Fight for Sight) ที่บอกว่าลอนดอน โปรเจ็กต์เป็นโอกาสที่แท้จริงในการรักษาอาการที่ครั้งหนึ่งเคยรักษาไม่ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น