เอเยนซี/เอพี/ไซน์เดลี – "เจมส์ วัตสัน" เจ้าพ่อแห่งวงการดีเอ็นเอกลายเป็นบุคคลแรกที่มีแผนที่จีโนมของตัวเอง หลังจากที่เขาและคู่หู "ฟรานซิส คริก" ได้รับรางวัลโนเบลจากการร่วมกันศึกษาทฤษฎีต่างๆ จนสามารถค้นพบลักษณะของโมเลกุลดีเอ็นเอเกลียวคู่ได้เมื่อ 50 กว่าปีก่อน ทว่ายอดนักวิทย์ยังแอบแขวะการเมือง มีจีโนมส่วนตัวยังตาค้างน้อยกว่าสงครามอิรัก
454 ไลฟ์ ไซนแอนเซส คอร์เปอเรชัน (454 Life Sciences Corporation) และ ศูนย์ถอดรหัสจีโนมมนุษย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์เบเลอร์ (Baylor College of Medicine’s Human Genome Sequencing Center: BCM-HGSC) เมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ ร่วมกันถอดรหัสพันธุกรรมและทำแผนที่จีโนมให้กับ “ดร.เจมส์ วัตสัน” (Dr. James Watson) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลวัย 79 ปี ผู้ค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของดีเอ็นเอ ซึ่งเจ้าตัวยังบอกจะเผยแพร่ข้อมูลลงเว็บไซต์ให้ได้ศึกษากัน
"ผมรู้ว่าผมคงตื่นเต้นและต้องวิตกแน่นอนที่ได้เห็นมัน แต่หากผมต้องนอนไม่หลับต้องเป็นเพราะผมนึกถึงประเทศอิรักมากกว่าจะคิดถึงจีโนมของตัวเอง" ดร.วัตสันกล่าวอย่างตื่นเต้นที่จะได้เห็นแผนที่จีโนมของตัวเอง ซึ่งเขาได้บริจาคเลือดให้เป็นตัวอย่างสำหรับการทดลองถอดรหัสดีเอ็นเอทั้งหมดในมนุษย์เพื่อทำแผนที่จีโนม
ผลการศึกษามีข้อมูลที่แสดงว่า ดร.วัตสัน มีดีเอ็นเอบางส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงและอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ ซึ่งวัตสันเองก็เปิดเผยว่าเขาเป็นมะเร็งผิวหนังมาตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี และน้องสาวของเขาก็เป็นมะเร็งเต้านมด้วย ทั้งนี้ ดร.วัตสันยังอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลทางพันธุกรรมของเขาทางอินเทอร์เน็ต เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม ดร.วัตสันไม่ต้องการทราบว่าเขามีดีเอ็นเอบริเวณใดที่บ่งบอกว่าเขาจะเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติทางสมองและอาจทำให้สมองเสื่อมในที่สุด และยังไม่มีวิธีรักษาได้
“ผมไม่อยากรู้ว่าผมเข้าข่ายเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ ซึ่งที่จริงแล้วคุณยายของผมท่านเสียชีวิตด้วยโรคนี้เมื่ออายุได้ 84 ปี และผมก็น่าจะมีโอกาสถึง 1 ใน 4 เลยทีเดียว” ดร.วัตสันกล่าว
โครงการทำแผนที่จีโนมครั้งนี้ใช้เวลาดำเนินการนาน 2 เดือน และใช้เงินทุนจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (33 ล้านบาท) เหตุที่ยกให้ ดร.วัตสัน เป็นบุคคลแรกเพราะเขาเป็นผู้ค้นพบโครงสร้างของดีเอ็นเอ และได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเรื่องนั้นในเวลาต่อมา ซึ่งโครงการนี้จะเป็นแนวทางในการถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์เพื่อศึกษาและวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมในอนาคต
ดร.ริชาร์ด กิบบ์ส (Dr. Richard Gibbs) ผู้อำนวยการศูนย์ถอดรหัสจีโนมมนุษย์ กล่าวว่า การศึกษาจีโนมของมนุษย์เป็นประโยชน์มาก จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์สาเหตุและความผิดปกติทางพันธุกรรมอันส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยต่างๆได้ และโครงการนี้ช่วยทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรมมองเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้
ด้านโจนาธาน รอธเบิร์ก (Jonathan Rothberg) ประธาน 454 ไลฟ์ ไซนแอนเซส คอร์เปอเรชัน กล่าวว่า หลังจากโครงการนี้จะพัฒนากระบวนการทำแผนที่จีโนมให้เสร็จสิ้นเร็วกว่าเดิมและให้มีต้นทุนถูกลงเป็น 1,000 ดอลลาร์ (33,000 บาท) และในอนาคตอาจรวมเข้ากับค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ
ทั้งนี้ ดร.กิบบ์ส ได้บันทึกข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดขนาด 20 กิกะไบต์ของ ดร.วัตสัน ลงในฮาร์ดไดร์ฟเพื่อมอบแด่เขา และยังได้บันทึกลงในเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติเจนแบงค์ (GenBank National Center for Biotechnology Information Trace Archive) ไว้ให้สามารถสืบค้นข้อมูลเพื่อนำไปศึกษาได้ ส่วนรายงานผลการทดลองอย่างละเอียดและคำอธิบายต่างๆ รวมถึงในแง่ของจริยธรรมจะพิมพ์เผยแพร่ในไม่ช้านี้
"จะเกิดคำถามทางด้านสังคมและจริยธรรมตามมา หากมีการนำข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์มาใช้ทางการแพทย์ รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่ญาติของผู้ป่วย หรือการเลือกปฏิบัติจากบริษัทประกันชีวิตหรือจากนายจ้างอันเนื่องมาจากรหัสทางพันธุกรรมของบุคคลนั้น" ดร.เอมี แมคไกวร์ (Dr. Amy McGuire) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจรรยาบรรณทางการแพทย์ ศูนย์หลักประกันสุขภาพและจริยศาสตร์การแพทย์ (Baylor's Center for Medical Ethics and Health Policy) กล่าว
อย่างไรก็ดี ดร.วัตสันได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า จากนี้ต่อไปอีก 50 ปีข้างหน้า พวกเราคงต้องรักษาสุขภาพกันให้มากขึ้นและให้มีความเห็นอกเห็นใจต่อโลกมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีขั้นสูงที่พวกเราเทิดทูนกันอยู่ขณะนี้
วัตสันและฟรานซิส คริก (Francis Crick) ร่วมกันศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโครงสร้างของสารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต กระทั่งในปี 1953 สามารถอธิบายได้ว่าดีเอ็นเอมีโครงสร้างเป็นเกลียวคู่ (Double helix) เวียนขวาในทิศทางตรงกันข้ามและเชื่อมกันด้วยพันธะไฮโดรเจนระหว่างคู่เบสของทั้งสองสาย ต่อมาทั้งสองคนก็ได้รับรางวัลจากผลงานดังกล่าวในปี 1962 และเมื่อปี 2004 คริกได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งลำไส้ขณะมีอายุได้ 88 ปี นอกจากนี้วัตสันยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการจีโนมมนุษย์ (The Human Genome Project) เมื่อปี 1990 อีกด้วย