xs
xsm
sm
md
lg

ดีมานด์สัตว์ทดลองสูงเป็นเท่าตัว "หนูตะเภา–กระต่าย" เพาะแทบไม่ทัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยเตรียมรับมือหลังสำนักสัตว์ทดลองฯ เผย “หนูตะเภา –กระต่าย” กำลังขาดตลาด เหตุยอดสั่งซื้อพุ่งสูงจนน่าตกใจ ด้าน "กาญจนา" ใจแข็ง ไม่หวั่นเพราะผลิตได้มากพอและได้มาตรฐานตามที่ผู้ใช้ต้องการ แต่ยอมรับยังหนักใจปัญหาการสื่อสารกับผู้ใช้ เปรยใครผลิตสัตว์ก็ได้ แต่ต้องทำถูกวิธี ไม่ผลาญเงินชาติ

พูดถึง "สัตว์ทดลอง" หลายคนคงคิดว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร แต่ที่จริงแล้วกลับมีผลต่อคุณภาพอาหาร ยา เซรุ่ม และวัคซีนในชีวิตประจำวันมาก เพราะกว่าสินค้าจะออกสู่มือผู้บริโภคได้ ต้องใช้สัตว์ทดลองมาทดสอบเพื่อรับประกันว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีคุณภาพและปลอดภัยจริง ดังนั้นหากไม่มีสัตว์ทดลองแล้ว ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใกล้ตัวก็อาจไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด

ข้อมูลจากสำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและให้บริการสัตว์ทดลองรายใหญ่เพียงแห่งเดียวของประเทศ พบว่า ในปี 2550 นี้ นักวิจัยไทยต้องการหนูตะเภา (Guinea-pig) และกระต่าย (rabbit) เพื่องานทดสอบและผลิตชีววัตถุเพิ่มขึ้น โดยมียอดสั่งซื้อหนูตะเภาเพิ่มขึ้นจาก 30-40 ตัวต่อเดือนในปีงบประมาณ 2549 เป็น 200 ตัวต่อเดือนในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2550 ส่วนยอดสั่งซื้อกระต่ายเพิ่มขึ้นราว 2 เท่า จาก 934 ตัวในปีงบประมาณ 2549 เป็นประมาณ 1,600 ตัวในปีงบประมาณนี้ ทำให้ทางสำนักงานฯ ต้องผลิตสัตว์มากขึ้น

หลายฝ่ายจึงกังวลว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้ไม่สามารถผลิตสัตว์ได้ทันต่อความต้องการ โดยปัจจุบันยังขาดข้อมูลปริมาณการผลิตและปริมาณการใช้งานที่ชัดเจน แม้จะมีผู้พยายามรวบรวมข้อมูลภาพรวมแล้วก็ตาม

นางกาญจนา เข่งคุ้ม ผอ.สำนักสัตว์ทดลองฯ เปิดเผยสาเหตุที่นักวิจัยต้องการหนูตะเภาและกระต่ายเพิ่มขึ้นว่า เพราะปัจจุบันมีการระบาดของโรคต่างๆ มาก จึงต้องการใช้สัตว์ทั้ง 2 ชนิดในการผลิตวัคซีนและงานทดสอบยาต่างๆ เพิ่มขึ้นไปด้วย ซึ่งในส่วนของสำนักงานฯ เองจะไม่ผลิตสัตว์ทดลองขึ้นโดยไม่มีคำสั่งซื้อ เพราะต้องใช้งบประมาณสูงและไม่คุ้มทุน เนื่องจากอายุสัตว์ทดลองมีผลต่อผลวิจัยที่แม่นยำ หากไม่ได้ใช้งานก็ต้องทำลายทิ้งอย่างเดียว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานฯ สามารถผลิตสัตว์ทั้ง 2 ชนิดได้ดี มีมาตรฐานตามต้องการ แต่มีปัญหาสื่อสารกับผู้ใช้เข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้การบริการสัตว์ไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ใหม่ให้กลุ่มผู้ใช้ได้รู้จักวิธีสั่งซื้อสัตว์ดีขึ้น โดยเฉพาะกับลูกค้ารายใหม่ เช่น การชี้แจงว่าต้องอาศัยเวลาเพาะเลี้ยงหนูตะเภาและกระต่ายราว 3 เดือน ไม่สามารถให้บริการแบบทันทีทันใดได้

นอกจากนี้ นางกาญจนา กล่าวด้วยว่า การให้บริการหนูตะเภาและกระต่ายยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น บางครั้งผู้ใช้ขอเปลี่ยนหรือยกเลิกคำสั่งกระทันหัน ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ได้นำสัตว์ออกนอกสถานที่เลี้ยงแล้วจะไม่สามารถนำสัตว์กลับเข้าห้องเลี้ยงได้อีก แต่ต้องทำลายทั้งหมด จึงสิ้นเปลืองและเป็นการใช้สัตว์ทดลองอย่างไม่เหมาะสม โดยการสั่งซื้อสัตว์ทดลองที่ถูกต้องมีการวางแผนทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อให้ได้สัตว์ทดลองมาตรฐาน แต่ในระยะหลังมานี้ก็พบปัญหานี้น้อยลงแล้วเพราะผู้ใช้เริ่มเข้าใจวิธีสั่งซื้อดีขึ้นกว่าในอดีตมาก

แต่กระนั้น ยังพบว่าหลายหน่วยงานยังผลิตสัตว์ทดลองบางชนิดไว้ใช้เองด้วย โดยผู้แทนบางสถาบันยอมรับว่าสัตว์ทดลองที่ผลิตเองไม่ได้มาตรฐาน เพราะมีเรื่องต้นทุนและงบประมาณมาจำกัด ซึ่งนางกาญนา กล่าวว่า ไม่สำคัญว่าหน่วยงานไหนจะผลิตสัตว์เอง แต่ต้องรับรู้และผลิตสัตว์ทดลองให้ได้คุณภาพตามหลักวิธี คำนึงถึงประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ

ส่วนการสั่งซื้อสัตว์จากต่างประเทศ นางกาญจนา มองว่า ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่สัตว์ทดลองนำเข้าก็มีราคาสูงกว่าผลิตในประเทศนับสิบเท่า รวมทั้งต้องมีค่าขนส่งอีก นักวิจัยจึงตั้งความหวังกับการผลิตสัตว์ในประเทศมากกว่า โดยในปีงบประมาณ 2551 สำนักงานฯ จะยื่นของบประมาณราว 35 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงเรือนกระต่าย กำลังการผลิต 400 ตัว/เดือน เสริมประสิทธิภาพการให้บริการด้วย

"สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติจัดลำดับความสำคัญสูงสุดไว้ คือเราต้องการให้บริการสัตว์ทดลองที่มีคุณภาพและเพียงพอแก่ผู้ใช้บริการให้มากที่สุด ส่วนเป้าหมายรองลงมาคือการยกระดับงานสัตว์ทดลองของสำนักงานฯ ให้ได้มาตรฐานสากลในปี 2553 พร้อมทั้งพยายามพัฒนากำลังคนสำหรับการให้บริการให้เพิ่มขึ้น" ผอ.สำนักงานสัตว์ทดลองฯ กล่าว

ส่วน ผศ.ดร.ประดน จาติกวนิช ประธาน คชพส.กล่าวว่า ข้อมูลปริมาณการผลิตและใช้สัตว์ทั้ง 2 นี้ คชพส.จะนำไปรวบรวม สำรวจ และสรุปผลปริมาณการผลิตและใช้งาน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสัตว์ได้อย่างมีคุณภาพพันธุกรรม คุณภาพสุขภาพ และปริมาณ ตามความต้องการของผู้ใช้ต่อไป

สำหรับผู้ใช้สัตว์ทดลอง สามารถดูรายละเอียด พร้อมเงื่อนไขการสั่งซื้อสัตว์จากสำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติตามวิธีที่ถูกต้องได้ที่เว็บไซต์ www.nlac.mahidol.ac.th หรือแจ้งล่วงหน้าเพื่อเยี่ยมชมสำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลยา จ.นครปฐม ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2441-9342

หนูตะเภาและกระต่ายกำลังขาดตลาดสำหรับงานวิจัย
กำลังโหลดความคิดเห็น