xs
xsm
sm
md
lg

Benjamin Thompson (Count Rumford) (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


เมื่ออังกฤษแพ้สงคราม และอเมริกาประกาศอิสรภาพ Thompson เดินทางกลับ New York และพระเจ้า George ที่ 3 แห่งอังกฤษได้ทรงโปรดให้เป็น Count Rumford แต่ Thompson รู้สึกว่าตนจะมีความสุขยิ่งกว่าถ้าได้ทำงานในยุโรป จึงเดินทางไปเป็นที่ปรึกษาของ Karl Theordor ผู้ครองแคว้น Bavaria และได้ปฏิรูปสังคม คือ กำจัดคนขอทาน โดยให้ทหารนำขอทานมาเลี้ยงดูในอาคาร และจัดหางานให้ทำ

หลังการทำงานใน Bavaria ได้นาน 11 ปี Rumford ได้ย้ายไปทำงานต่อที่ปารีส และได้รู้จักกับ Countess Lavoisier ภรรยาม่ายของ Lavoisier นักเคมีชื่อดังผู้ถูกตัดศีรษะด้วยกิโยตีน ขณะนั้น Madame Lavoisier มีอายุ 43 ปี และเป็นม่ายมาได้นาน 9 ปี และมีภูมิหลังดังนี้ คือ เมื่อถึงวัย 13 ปี ได้เข้าพิธีสมรสกับ Lavoisier และอยู่กินมานาน 23 ปี โดยเธอทำงานช่วยสามีสารพัด คือ เป็นทั้งผู้ร่วมงานทดลอง เลขานุการ แม่บ้าน นักภาษาศาสตร์ที่รู้วิชาเคมีดี และเชี่ยวชาญทั้งภาษาอังกฤษกับภาษาอิตาเลียน การมีชื่อเสียงมากทำให้เธอเป็นบุคคลที่ใคร ๆ ก็รู้จัก ส่วน Rumford ขณะนั้นอายุ 50 ปี และเป็นพ่อม่ายมาได้นาน 11 ปี การแต่งงานของคนทั้งสองที่ต่างก็มีชื่อเสียง ทำให้ใครๆ คิดว่า นี่คือ กิ่งทองใบหยกคู่จริง และหลังการแต่งงานเธอต้องการให้คนทุกคนเรียกเธอว่า Countess Lavoisier Rumford

แต่คนทั้งสองหาได้มีความสุขไม่ เพราะแต่ละคนมีบุคลิก และนิสัยที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว เธอชอบบริโภคอาหารแพง ๆ และเหล้าองุ่นดี ๆ ส่วนเขาชอบอาหารถูก ๆ และปรุงเร็ว เขาชอบฟังและเล่นดนตรี แต่เธอไม่ชอบเลย เขาชอบจัดบ้าน โดยการโยกย้ายเฟอร์นิเจอร์บ่อย จนเธอแทบคลั่ง เพราะไม่ชอบรื้อย้ายสิ่งของใดๆ ในบ้าน เธอชอบจัดงานปาร์ตี้ทุกวันจันทร์ แต่เขาชอบความเป็นระเบียบ และไม่ชอบเสียงอึกทึกเลย

ชีวิตสมรสจึงลุ่มๆ ดอนๆ เพราะสามีภรรยาทะเลาะกันบ่อย และหลังจากได้ใช้ชีวิตร่วมกันนาน 4 ปี คนทั้งสองก็แยกทางกันเดิน และ Rumford ก็ได้ทรัพย์สมบัติที่มีค่ามหาศาลของ Madame มาครึ่งหนึ่ง จากนั้นก็ปลีกตัวใช้ชีวิตเงียบ ๆ ตามที่ตนต้องการ

ในช่วงเวลานั้น Napoleon ซึ่งเป็นจักรพรรดิของฝรั่งเศส ทรงรู้สึกชื่นชมความสามารถของ Rumford มาก โดยเฉพาะผลงานด้านทฤษฎีการยิงปืนใหญ่ที่ Rumford ได้พิจารณาแรง Coriolis ด้วย เพราะความคิดของ Rumford นี่เองที่ทำให้กระสุนปืนใหญ่ตกตรงเป้าอย่างแม่นยำ Napoleon จึงทรงแต่งตั้งให้ Rumford เป็นสมาชิก 1 ใน 18 คน ของสมาชิกต่างด้าวของสถาบัน French Institute พร้อมๆ กับเลือก Thomas Jefferson เป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งด้วย
ในด้านความสำเร็จในการงานนั้น Rumford ได้รับเหรียญ Copley จากผลงานสร้างทฤษฎีความร้อน และด้วยนิสัยที่ชอบแข่งขันกับ Sir Godfrey Copley เขาจึงมอบเงิน 1,000 ปอนด์ให้ Royal Society จัดทำเหรียญให้แก่บุคคลผู้มีผลงานด้านความร้อนและแสงโดดเด่นที่สุด เหรียญรางวัลนี้ คือ Rumford Medal ซึ่งตัว Rumford เอง คือ ผู้พิชิตเหรียญนี้เป็นคนแรกในปี 2345

สำหรับบทบาทการจัดตั้ง Royal Institution เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2343 นั้นก็ เพราะ Rumford ตระหนักว่า Royal Society ไม่มีห้องปฏิบัติการ ดังนั้น Royal Institution จึงสมควรมี ห้องปฏิบัติการให้สมาชิกสามารถทำการทดลองวิทยาศาสตร์ได้ และในเวลาต่อมา Royal Institution ก็ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Humphrey Davy กับ Michael Faraday เป็นต้น

Rumford ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อน เพราะเขามีนิสัยชอบดูถูกคนอื่น ทำให้มีศัตรูมากขึ้นทุกวัน นอกจากจะไม่มีอารมณ์ขัน และเมตตาธรรมใดๆ แล้ว เขายังเป็นคนที่เห็นแก่ได้ คือสนใจแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อ Rumford เสียชีวิตในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2353 พิธีศพของเขาจึงมีคนมาร่วมงานเพียงไม่กี่คน เขาจากโลกไปในสภาพคนที่ผิดหวัง และขมขื่นกับเพื่อนร่วมโลก และได้มอบเถ้าอังคารของเขาแก่มหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งได้จัดตั้งตำแหน่งศาสตราจารย์ Rumford ให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มีความสามารถด้านฟิสิกส์สูงมาก

ในหนังสือ Count Rumford : The Extraordinary Life of a Scientific Genius. ที่เรียบเรียงโดย G.I. Brown และจัดพิมพ์โดย Sutton ในปี 2542 หนังสือราคา 21.95 เหรียญนี้ ได้บรรยายชีวิตของอัจฉริยะคนนี้ไว้อย่างน่าสนใจมากครับ

สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท

กำลังโหลดความคิดเห็น