xs
xsm
sm
md
lg

พบหลักฐานไดโนเสาร์กินเนื้อว่ายน้ำได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี - นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลรอยเท้าโบราณ บ่งชี้หลักฐานสนับสนุนไดโนเสาร์บางพันธุ์สามารถว่ายน้ำได้

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าไดโนเสาร์เคยเป็นผู้ปกครองพื้นดินมาก่อนเมื่อประมาณ 230-65 ล้านปีก่อน ทว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะในน้ำของสัตว์เหล่านี้กลับยังไม่มีความแน่ชัดมากนัก

แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะมีสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ใต้น้ำเป็นจำนวนมาก แต่สัตว์เหล่านี้ก็ไม่จัดเป็นไดโนเสาร์ และมีความเกี่ยวพันกันน้อยมาก

คณะนักวิจัยในฝรั่งเศสนำโดยโลอิค คอสเตอร์ (Loic Costeur) จากมหาวิทยาลัยนองต์ (Universite de Nantes) ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยลงในวารสารจีโอโลจี (Geology) ระบุว่า ได้ค้นพบรอยเท้าซึ่งเปลี่ยนสภาพกลายเป็นฟอสซิลอยู่ในหินทราย บริเวณตอนเหนือของสเปนซึ่งเคยเป็นทะเลสาบมาก่อนเมื่อ 125 ล้านปีก่อน อันเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ไดโนเสาร์ตัวนี้กำลังว่ายน้ำอยู่ที่ความลึกประมาณ 3.2 เมตร ขณะที่กรงเล็บของมันไปข่วนเข้ากับพื้นทะเลสาบ

"สัตว์ดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวโดยใช้กระดูกเชิงกราน คล้ายคลึงกับนกน้ำในปัจจุบัน" คอสเตอร์กล่าว

คณะนักวิจัยพบว่า รอยเท้านี้มีทั้งสิ้น 12 รอย และต่อเนื่องกันมีความยาวรวมประมาณ 15 เมตร โดยมีลักษณะเป็นร่องยาวและแคบในบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบอีกว่าฟอสซิลดังกล่าวมีลักษณะเป็นรอยกระเพื่อมเล็กๆ บ่งชี้ว่าไดโนเสาร์ตัวนี้กำลังว่ายทวนกระแสน้ำ และพยายามว่ายเป็นทางตรง

นักวิทยาศาสตร์ชี้แจงว่า รูปร่างและลักษณะของรอยเท้าเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่กลุ่มเธอโรพอด (Theropods) ซึ่งเดินด้วยเท้าหลัง 2 ข้าง และ และไม่ใช่รอยเท้าของจระเข้ขนาดใหญ่ (carnivores) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้นเช่นเดียวกันอย่างแน่นอน

ไดโนเสาร์กลุ่มเธอโรพอดจัดเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ เช่น ไทแรนโนซอรัส (Tyrannosaurus) และอัลโลซอรัส (Allosaurus) ที่พบในแถบอเมริกาเหนือ เป็นต้น

ที่ผ่านมาได้มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากพยายามค้นหาหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ไดโนเสาร์มีทักษะในการว่ายน้ำในสภาพแวดล้อมจำเป็น อาทิ การออกหาอาหารในระบบนิเวศน์ใต้น้ำ หรือเดินทางข้ามแม่น้ำและหนีภัยน้ำท่วม เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในปัจจุบัน อาทิ ช้างและเสือได้หรือไม่

ฟอสซิลเท่าที่มีการค้นพบกันก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า รอยเท้าขณะว่ายน้ำที่พบเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์พันธุ์อื่นๆ เช่น เซาโรพอด (sauropods) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่และมีคอยาว อาทิ ไดโพลโดคัส (Diplodocus) และไดโนเสาร์ปากเป็ด ทว่า ฟอสซิลที่พบเหล่านี้บางส่วนยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และไม่ได้รับการเปิดเผยดังเช่นหลักฐานล่าสุดชิ้นนี้

คณะผู้วิจัยระบุว่า รอยเท้าที่พบใหม่นี้เป็นหลักฐานชัดเจนชิ้นแรก ซึ่งบ่งชี้ถึงพฤติกรรมการว่ายน้ำของไดโนเสาร์ และเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดอันบ่งบอกถึงความสามารถในการว่ายน้ำของไดโนเสาร์กลุ่มเธอโรพอด โดยคอสเตอร์เสริมว่า ข้อค้นพบดังกล่าวยังช่วยขยายขอบเขตความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของไดโนเสาร์อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น